เมื่อเข้าใกล้สิ้นปี หรือเทศกาลเสียภาษี สิ่งหนึ่งที่ทุกคนที่ต้องเสียภาษีจะนึกถึงเป็นประการแรกก็คือ “ปีนี้จะลดหย่อนภาษีได้เท่าไรกัน” ซึ่งเป็นคำถามที่เราสามารถหาคำตอบหรือ “สร้าง” คำตอบเหล่านั้นด้วยตัวเองได้ เพราะมีวิธีการลดหย่อนภาษีมากมายที่เราสามารถวางแผนภาษีก่อนได้ โดยเฉพาะด้วยการลงทุนให้เหมาะสมกับรายได้และเป้าหมายให้ตอบทั้งโจทย์ชีวิตและโจทย์ลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ เพื่อที่จะ “สร้างคำตอบ” เหล่านั้นให้เป็นจริงหรือวางแผนภาษีและการลงทุนให้เหมาะสม เราต้องทราบหลักการในการคำนวณภาษีก่อนว่าเป็นอย่างไร
คำนวณรายได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี
กรมสรรพากรที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี จะจัดเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้โดยคำนวณจาก ‘รายได้สุทธิ’ ซึ่งหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ โดยมีสูตรคำนวณ ดังนี้
(รายได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่ายส่วนตัว) - ค่าลดหย่อนภาษี = รายได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษี
ทั้งนี้ จากสูตรคำนวณรายได้สุทธิข้างต้น “ค่าใช้จ่ายส่วนตัว” มักคิดแบบเหมาเป็นเงิน 60,000 บาท และ “ค่าลดหย่อนภาษี” มาจากสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีเงินได้ตาม
ประกาศของกรมสรรพากร ซึ่งมีอยู่หลายข้อด้วยกัน เช่น ค่าเลี้ยงดูบุพการี ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าอุปการะผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน รวมทั้ง การสมทบเงินออม ค่าเบี้ยประกัน และการลงทุนด้วย เที่ยวเมืองรอง ช็อปช่วยชาติตามนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เราจะลองมาคำนวณรายได้สุทธิก่อนที่จะวางแผนลงทุนกันก่อน ด้วยตัวอย่าง ต่อไปนี้
ยกตัวอย่างการคำนวณรายได้สุทธิของนางสาวศรี สวยเสมอ
จากตัวอย่างเราจะเห็นว่า นางสาวศรีมีสิทธิลดหย่อนภาษีอยู่ 2 ค่า ได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวแบบเหมา 60,000 บาท และค่าสมทบประกันสังคม 30,000 บาท เพราะเธอเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จึงจำเป็นต้องจ่ายสมทบประกันสังคม 5% ของเงินเดือนทุกเดือน
สรุปได้ดังนี้ |
รายได้ของนางสาวศรี สวยเสมอ ในปีนี้ |
700,000 บาท |
|
หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวแบบเหมา |
60,000 บาท |
|
ลดหย่อนประกันสังคม 5% ของเงินเดือน (12 เดือน) |
30,000 บาท |
|
เหลือรายได้สุทธิ |
610,000 บาท |
วางแผนลงทุนให้สามารถลดหย่อนภาษีได้
นอกจากสิทธิทั่วไปของผู้มีเงินได้ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้แล้ว รัฐบาลและกรมสรรพากรยังเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุน จึงกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มต้นเก็บออมและ
วางแผนชีวิตด้วยการลงทุนด้วยการประกาศลดหย่อนภาษีให้กับ
การลงทุนและการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในอัตราที่ค่อนข้างสูง เช่น
- ทำประกันชีวิต
ประกันชีวิตใช้คุ้มครองค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพื่อให้มีเงินสำหรับคนข้างหลัง ให้ยังมีเงินใช้จ่ายได้ตามปกติ ทั้งนี้ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป
- ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันบำนาญเป็นประกันที่จะจ่ายผลตอบแทนเมื่อจ่ายเบี้ยจนครบกำหนดตามเงื่อนไขของแต่ละแบบประกันโดยเงินบำนาญจะจ่ายเป็นรายงวด หรือรายปี ไปเรื่อยๆ จนถึงอายุตามแบบประกันกำหนด เช่น 90 ปี หรือ 100 ปี หรือจ่ายไปเรื่อยๆ จนผู้เอาประกันเสียชีวิต ซึ่งก็เหมือนได้รับเงินบำนาญ โดยค่าเบี้ยประกันบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขเหมือนกับประกันชีวิต คือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป
- ลงทุนกองทุน LTF
กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ต้องถือหน่วยลงทุนในระยะยาวไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ซึ่งเป็นกองทุนที่หวังทำกำไรในระยะยาว เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนจริงจัง โดยสามารถยกเว้นภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
หมายเหตุ: กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นสุดปี 2562 เท่านั้น ตั้งแต่ปี 2563-2567
สามารถลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ เงื่อนไขลดหย่อนภาษีตามกรมสรรพากรกำหนด
- ลงทุนกองทุน RMF
กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนเพื่อการเก็บออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ เพราะมีความเสี่ยงต่ำมาก โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่ากับกองทุน LTF คือ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเงินสมทบกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นๆ ก็ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีคุณต้องตรวจสอบเกณฑ์ลดหย่อนภาษีให้เข้าใจก่อนว่าแต่ละประเภทการลงทุนจะลดหย่อนได้สูงสุดเท่าไร เพราะหากลงทุนมากเกินไปก็จะไม่สามารถขอลดหย่อนเพิ่มได้จากส่วนที่เกินมาได้ นอกจากนี้ จริงๆ แล้วการวางแผนลงทุนไม่ควรมองเรื่องการลดหย่อนภาษีเป็นหลัก แต่ควร
วางแผนจากเป้าหมายในชีวิต เช่น ต้องการคุ้มครองความเสี่ยง ต้องการเน้นลงทุนทำกำไร ต้องการเตรียมตัวเกษียณ หรืออาจวางแผนแบบผสม เป็นต้น
ตัวอย่างแผนการลงทุน 3 แบบ
จากกรณีของนางสาวศรี สวยเสมอ หากเธอเลือกการลงทุนแบบผสมเพื่อกระจายการลงทุนในทุกด้าน คือ คุ้มครองชีวิตด้วยประกันชีวิต เตรียมตัวเกษียณด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญและ RMF และเผื่อลงทุนเล็กน้อย เมื่อสรุปรายได้แล้วนำมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนภาษีส่วนต่างๆ
จากตัวอย่างด้านล่างจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการไม่วางแผนภาษี และการวางแผนภาษีซึ่งคุณก็น่าจะรู้แล้วว่านางสาวศรีจะเลือกวางแผนภาษีหรือไม่
จะเห็นได้ว่า หากนางสาวศรี วางแผนภาษีประจำปีโดยการกระจายเงินทุนซื้อผลิตภัณฑ์ประกัน หรือ กองทุน LTF/RMF จะประหยัดภาษีได้อีก 25,500 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับผลประโยชน์จากการออมและลงทุนเป็นส่วนเพิ่มอีกด้วย
นอกจากการหารายได้และเก็บออมโดยทั่วไปแล้ว การแบ่งเงินมาวางแผนลงทุนให้เหมาะสมกับฐานะ จะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต และช่วยให้เป้าหมายทางการเงินของเราเป็นจริงได้ ยิ่งเริ่มเร็วความสำเร็จก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนยังให้สิทธิประโยชน์อื่นอีก เช่น สิทธิลดหย่อนภาษีที่แนะนำกันในบทความนี้ หากเรารู้วิธีดีแล้ว ไม่ว่าปีไหนๆ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีอีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อจะวางแผนการเงิน การลงทุน หรือแผนภาษีให้ละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองปรึกษา
ที่ปรึกษาการเงินของเราดูได้
*หมายเหตุ : จำนวนตัวเลขในการลงทุนในบทความเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นมิใช่ตัวเลขจริงที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้แต่อย่างใด กรุณาศึกษาเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี และตรวจสอบแผนการลงทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง