ตอนนี้ก็ผ่านพ้นช่วงยื่นภาษีไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงหลายๆ คนก็อาจจะหัวหมุนนิดหน่อย อีกอย่างที่มาพร้อมกับการยื่นภาษีก็คือ การ
ขอเงินคืนภาษี โดยเป็นเงินที่เราถูก
หักภาษี ณ ที่จ่าย จากการทำงานนั่นเอง เรามาดูกันว่าปกติแล้วขั้นตอนของการยื่นภาษีไปจนถึงการขอคืนภาษีนั้นมีรายละเอียดตรงไหนบ้าง แล้วเงินภาษีที่ได้คืนมานี่ควรจะจัดสรรอย่างไรดีถึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด
ขั้นตอนการขอเงินคืนภาษี
การขอเงินคืนภาษีเริ่มตั้งแต่การยื่นภาษีก่อนเป็นอันดับแรก
1. เตรียมเอกสาร
การเตรียมเอกสารที่ดีจะทำให้การยื่นภาษีมีความราบรื่น โดยเอกสารที่ควรมี คือ
- หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี หรือใบทวิ 50 ที่บริษัทออกให้
- เอกสารลดหย่อนต่างๆ เช่น ประกันชีวิต เอกสารรับรองบุตร ทะเบียนสมรส กองทุน LTF และ/หรือ RMF เอกสารการเลี้ยงดูบิดามารดา เอกสารการเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ และหลักฐานอื่นๆ ที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้
2. ช่องทางการยื่นภาษี
- ยื่นด้วยตัวเอง ยื่นเอกสารด้วยตัวเองได้ที่กรมสรรพากร
- ยื่นผ่านระบบออนไลน์ เราสามารถยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตได้เลยที่ www.epit.rd.go.th จะมีคำแนะนำในเว็บไซต์ให้ทำตามได้อย่างเป็นขั้นตอน
- ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax มีแอปพลิเคชันยื่นภาษีง่ายๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาชื่อ “Rd Smart Tax” สามารถใช้งานได้ทั้ง ระบบ Android และ iOS
ต้องรอนานแค่ไหน?
ตามปกติหลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลได้หลังจากนั้นประมาณ 1 วันทำการ ผ่าน
www.epit.rd.go.th หรือแอปพลิเคชัน RD Smart Tax แล้วคลิกที่เมนูบริการสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี
ทำอย่างไรให้ได้เงินคืนไวๆ?
กรมสรรพากรมีคำแนะนำเล็กๆ ว่าหากอยากได้เงินภาษีรวดเร็วทันใจ ด้วยการสมัครบริการ
พร้อมเพย์แล้วทำการผูกบัญชีเข้ากับบัตรประจำตัวประชาชนก่อนยื่นภาษี เราก็จะได้รับเงินคืนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ภายในไม่กี่นาที อย่างช้าสุดไม่เกิน 1 วัน ซึ่งแตกต่างกับการเลือกรับเงินคืนเป็นเช็คที่อาจต้องรอนาน 30 วัน (กรณีไม่โดนเรียกตรวจเอกสารเพิ่มเติม)
มาถึงคำถามที่หลายๆ คนสงสัยกันว่า เมื่อได้เงินภาษีคืนมาแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อดี เรามีคำแนะนำดีๆ ที่ช่วยให้เงินคืนภาษีของคุณไม่หยุดอยู่แค่นี้ และช่วยต่อยอดทางการเงินได้เป็นอย่างดี
วิธีต่อยอดเงินคืนภาษีให้งอกเงย
1. ออมในธนาคาร
เป็นวิธีง่ายๆ ด้วยการนำมาเก็บเป็นเงินออมในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงๆ เพราะในความเป็นจริงควรมีหลักประกันความเสี่ยงให้กับชีวิต ด้วยการมีเงินสำรองเก็บประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉินจะสามารถดึงมาใช้ได้ทันทีโดยไม่กระทบกับเงินส่วนอื่นๆ ในชีวิต
2. บริจาค
การเอาเงินไปบริจาคบ้างถือเป็นการทำบุญ ที่เมื่อทำแล้วทำให้เรารู้สึกดี และอาจได้สิ่งดีๆ ตอบแทนกลับมา นอกจากนั้นที่สำคัญคือเมื่อเราบริจาคเงิน เราสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น เป็นการได้ทั้งบุญและได้
ลดหย่อนภาษีไปพร้อมๆ กันเลย โดยสามารถเลือกบริจาคให้หลากหลายหน่วยงาน เช่น
- บริจาคให้มูลนิธิต่างๆ ของโรงพยาบาล
- บริจาคให้วัด
- ช่วยเหลือน้ำท่วม
- บริจาคเพื่อการศึกษา
- บริจาคสนับสนุนการกีฬา
- บริจาคช่วยเหลือผู้พิการ
- บริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก
- บริจาคให้โครงการฝึกอบรมเยาวชนของสถานพินิจ
รายการที่ 4-8 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ
3. ทำประกัน
การทำประกันชีวิตเป็นเหมือนกับการบังคับให้ตัวเองออมเงินแบบอัตโนมัติ และมีข้อดีตรงที่เราเห็นจำนวนเงินแน่นอนในแต่ละปีว่ามีผลตอบแทนเท่าไรๆ และเนื่องจากเป็นประกันชีวิตจะมีข้อดีตรงที่มีความคุ้มครองชีวิตให้กับเราด้วย นอกจากการทำ
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คุณควรมีประกันสุขภาพด้วย เพราะเป็นเหมือนสิ่งพื้นฐานเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ทำให้เราไม่ลำบาก เพราะมีเงินส่วนนี้มารองรับในเรื่องของสุขภาพ แต่อาจมีข้อเสียที่ไม่สามารถถอนเงินได้แบบทันทีทันใด เพราะมีเงื่อนไขต่างๆ
4. ลงทุนใน LTF และ/หรือ RMF
การลงทุนใน
กองทุน LTF/RMF ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดย LTF เป็น “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่มที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่อาจไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น หรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด
ส่วน RMF ย่อมาจากคำว่า “Retirement Mutual Fund” หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนรวมประเภทส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ และมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อรองรับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ตามช่วงอายุของผู้ลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำถึงความเสี่ยงสูง
หลักในการลดหย่อนภาษีด้วย LTF และ RMF
เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมเข้ากับเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ รวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมระยะยาวต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ยกเว้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
จากบทความนี้จะเห็นได้ว่า หากคุณวางแผนอย่างดี เงินคืนภาษีหลังจากยื่นไปแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นเงินที่งอกเงยและช่วยเราวางแผนภาษีก่อนการยื่นภาษีครั้งถัดไปเพื่อเซฟเงินในกระเป๋าอย่างต่อเนื่องได้