เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของพี่น้องชาวไทยทุกคน ที่จะได้
หยุดยาวไปพักผ่อน กลับบ้านไปหาครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด และจัดทริปเที่ยวอย่างสบายใจในช่วงวันหยุดยาวนี้
แต่พอกลับจากไปเที่ยวหลังสงกรานต์มาแล้วลองตรวจดูสุขภาพของเงินในกระเป๋าก็เพิ่งรู้ว่าใช้เงินไปเยอะมาก เราลองมาดูกันดีกว่าว่าจะมีวิธีบริหารเงินอย่างไรเมื่อกลับจากทริปแสนสุข เพื่อให้อยู่ได้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันเถอะ
วางแผนด้านการเงินหลังสงกรานต์
1. ก่อนอื่นให้สรุปรายการใช้จ่าย และวางแผนการประหยัด
หลังจากกลับมาแล้วก็ควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่เรามีเหลืออยู่ แล้วหารเฉลี่ยต่อวันว่าใช้สูงสุดได้กี่บาท
หรือหากมีเงินเย็นพอสมควร แต่ต้องการประหยัด ให้คำนวณจากเงินที่เราใช้ไป ‘มากกว่าปกติ’ เพื่อดูว่าควรประหยัดกว่าปกติเท่าไรในแต่ละวัน
การคำนวณค่าใช้จ่ายจากการเที่ยวทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราควรทำ เพื่อให้เราสามารถประมาณการได้ถูกว่า ทริปไปเที่ยวครั้งหนึ่งนั้นเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ค่าเดินทาง ถ้ารูดบัตรเครดิตบ่อยๆ ก็ลองเก็บสลิปบัตรแล้วดูว่าเป็นค่าอะไรจำนวนเท่าไหร่ คุณจะได้รู้ไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของตัวเอง แล้วควบคุมเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น
2. เริ่มต้นจากประหยัดค่าอาหาร
ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่ใครหลายคนลงความเห็นว่า ‘จัดหนัก’ ในเรื่องอาหารการกิน การลดค่าใช้จ่ายอย่างค่าอาหารในช่วงหลังสงกรานต์ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ค่าอาหาร เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งยังเป็นอะไรที่ใกล้ตัวที่สุดในการลดค่าใช้จ่ายลง แต่ขอคอนเฟิร์มว่าถ้าบริหารเรื่องค่าอาหารดีๆ ก็ช่วยประหยัดไปได้เยอะมาก
วิธีการตั้งเป้าหมาย
จดบันทึกว่าช่วงสงกรานต์ใช้จ่ายไปกับอาหารมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน นำส่วนที่เกินนั้นมาหารเฉลี่ยในช่วง 10 วันที่เหลือของเดือนเมษายน เป็นเป้าหมายเบื้องต้นในการประหยัดเงินในแต่ละวันของเรา (สามารถปรับแต่งจากนี้ได้)
ตัวอย่างการปฏิบัติ
- การทำอาหารทานเอง อาจเลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาด ซึ่งผัก 1 กำราคาแค่ประมาณ 5 บาทเท่านั้น ถ้าเทียบกันกับการซื้ออาหารทาน โดยใช้เงินไม่ถึง 1,000 บาท ก็ซื้อวัตถุดิบง่ายๆ มาทำอาหารทานได้แล้วทั้งสัปดาห์ (สำหรับ 1 คน)
- เลือกซื้ออาหารแห้งเป็นของฝาก ในเวลาที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วอยากซื้อของฝากจำพวกอาหาร ก็ควรเลือกแบบที่เป็นอาหารแห้ง เพราะสามารถเก็บไว้ทานได้เป็นเวลานาน ไม่เน่าเสียง่าย ซึ่งหน้าร้อนเป็นหน้าที่อาหารมักเน่าเสียได้ง่าย ถือเป็นการประหยัดงบเรื่องอาหารอีกทางหนึ่ง
3. จัดบ้านก็ช่วยให้คุณประหยัดได้
สงกรานต์เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการจัดบ้าน ลองจัดระเบียบสิ่งของที่คุณมีดูก็อาจพบว่ามีเสื้อผ้าบางตัวที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใส่เลย หรือของบางชิ้นที่เคยอยากได้มากๆ แต่ซื้อมาแล้วยังไม่ได้ใช้เพราะลืมนึกถึงไป
นอกจากจะประหยัดเงินจากการซื้อของใหม่แล้ว คุณยังสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากของที่คุณมี ปัจจุบันแพลตฟอร์มการขายของออนไลน์ ช่วยให้ใครๆ ก็สามารถขายของมือสองดีๆ ได้ไม่ยาก
4. ตัดรายจ่ายจุกจิกออก
ในเดือนหนึ่งๆ เชื่อว่าจะต้องมีรายจ่ายบางอย่างที่ไม่คอขาดบาดตายมาก และสามารถตัดออกไปได้โดยที่ไม่ทำให้เราลำบาก ลิสต์รายจ่ายเหล่านั้นออกมา หากตัดออกได้ให้ตัด หรือหากทำได้ยาก ให้มองหาทางเลือกทดแทนที่ประหยัดกว่า
5. ใช้สิทธิพิเศษที่เรามี
หลายๆ คนลืมไปแล้วว่าตัวเองมี
สิทธิพิเศษ ดีลต่างๆ อยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิพิเศษจากค่ายมือถือที่เราใช้ จาก
แอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์ บริการการเดินทางที่สะสมแต้มได้ (Grab, บัตรรถไฟฟ้า) ที่สามารถนำแต้มมาแลกเป็นส่วนลดค่าอาหาร ตั๋วชมภาพยนตร์ฟรี หรือสิทธิอื่นๆ อีกมากมาย ถ้ามีของดีในมืออย่าลืมนำออกมาใช้ เพราะเดือนๆ หนึ่งก็ช่วยประหยัดไปได้ตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพันบาท
6. ลดเงินท่องเที่ยวของเดือนอื่นๆ
การลดงบท่องเที่ยวของเดือนอื่นลงก็เป็นอีกข้อที่ช่วยได้ เพราะว่าเราใช้จ่ายไปกับเดือนนี้เยอะแล้ว จากความเคยชินที่เคยวางแผนจะไปต่างจังหวัดทุกเดือน ก็ให้ลดๆ ลงหน่อยในเดือนถัดไป ลองไปเที่ยวในสถานที่ใกล้ๆ แทน เพื่อที่ค่าใช้จ่ายจะได้น้อยลงกว่าไปทริปใหญ่ๆ และแบบนี้จะช่วยให้เราทั้งมีความสุขและสบายกระเป๋ามากขึ้น
7. ตั้งเป้าหมาย และแรงบันดาลใจ ด้วยการวางแผนการเงินไว้สำหรับเที่ยวในปีหน้า
ไม่มีอะไรจะช่วยได้มากกว่าการวางแผนล่วงหน้าได้อีกแล้ว ควรจะตั้งเงินก้อนที่เราตั้งใจว่าเอามาใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยว โดยประมาณจากทริปที่อยากไปในปีหน้า จะได้ไม่ต้องปวดหัวระหว่าง
ใจนึงอยากเที่ยวอีกใจก็อยากเก็บเงิน และนอกจากงบท่องเที่ยวก็ควรตั้ง “งบฉุกเฉิน” เอาไว้ด้วย เพราะเราไม่สามารถรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้เลย เพราะอาจจะมีอุบัติเหตุหรือเรื่องไม่คาดฝันตามมาก็ได้
คุณสามารถไปใช้เงินส่วนหนึ่งกับการเที่ยวได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรเตรียมตัวให้ดี เพราะการวางแผนที่ดีจะช่วยให้เราทั้งบริหารทั้งเงินและบริหารความสุขไปพร้อมๆ กัน ทำให้เมื่อกลับจากไปชาร์ตพลังในทริปแสนประทับใจ แล้วยังไม่ต้องกังวลกับปัญหาทางการเงินที่ตามมาด้วย
การพักผ่อนสำราญใจเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีที่สุดถ้ามาคู่กับสุขภาพทางการเงินที่เข้มแข็งด้วย อย่าลืมบริหารด้านการเงินและตรวจสุขภาพทางการเงินของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วยกันกับเรา