คนส่วนใหญ่คิดว่าเกษียณเท่ากับหยุดทำงาน และหยุดทำงานเท่ากันไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นความคิดที่คนมักเข้าใจผิดกันบ่อยไม่แพ้เรื่องการวางแผนเกษียณผิดพลาด และทำให้ในที่สุดก็สายเสียแล้ว เพราะไม่มีเงินออมที่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดแผนหารายได้รองรับหลังหยุดทำงานเมื่อถึงวัยเกษียณอีกด้วย
แต่หากคุณมีการเตรียมพร้อมอย่างดี ถึงแม้ว่าจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันใดๆ ก็สบายใจและเกษียณได้อย่างสุขใจ เพราะไม่มีปัญหาทางการเงินมากวนใจนั่นเอง ลองมาดูกันว่าจะมีเส้นทางไหนในการสร้างรายได้ให้เหมือนวันทำงานบ้างนะ
สินทรัพย์สร้างรายได้หลังเกษียณ
1. เงินออมในธนาคาร
เป็นวิธีพื้นฐานที่หลายๆ คนมักถึง เพราะในการทำงานที่ผ่านมาคงมีเงินเก็บสะสมในธนาคารอยู่ก้อนหนึ่ง โดยการฝากเงินรับดอกเบี้ยธรรมดาก็เป็นวิธีที่ความเสี่ยงน้อย และการฝากเงินก้อนหนึ่งไว้ในธนาคารจะทำให้คุณได้รับประโยชน์จาก “ดอกเบี้ยทบต้น” ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนเป็นพลังทวีของเงินก้อนเล็ก หากคุณฝากเงินไว้ตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน (สมมติอายุ 25 ปี) ไปเรื่อยๆ ทุกเดือนจนถึงวันเกษียณที่อายุ 60 ปี อย่างน้อยขึ้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท คุณก็จะได้เงินก้อนใหญ่หนึ่งก้อนแล้ว
สำหรับการออมเงินนั้นมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยเราขอแนะนำว่าเมื่อคุณได้เงินเดือนมาแล้ว ก็ควรแบ่งส่วนหนึ่งไปเป็นเงินออมเลย เพราะหากรอให้เหลือเงินตอนปลายเดือนการออมเงินก็อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งเอาไว้ได้ ถ้าอยาก
คำนวณเงินออมหลังเกษียณสามารถใช้โปรแกรมคำนวณง่ายๆ จากกรุงศรีเพื่อการวางแผนเงินออมของคุณ
2. ประกันชีวิต
ประกันชีวิตถือเป็นสินทรัพย์อีกหนึ่งอย่าง ที่มีผลตอบแทนในแต่ละปีแน่นอน สามรถวางแผนทางการเงินได้(โดยดูจากตารางมูลค่ากรรมธรรม์ที่บอกไว้เล่มกรมธรรม์) ซึ่งการเลือกทำประกันชีวิตแบบคุ้มครองระยะยาว ที่มีจ่ายเงินตอบแทนหลังเกษียณก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนั้นยังได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย เช่น
ประกันชีวิตกรุงศรี บำนาญ ไฮบริด พลัส ที่ผู้ถือกรมธรรม์สามารถรับเงินบำนาญนานถึง 15 ปี และให้ความคุ้มครองชีวิตยาวนานจนถึงอายุ 85 ปี (รับเงินบำนาญแน่นอน 10% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทุกปี เริ่มตั้งแต่อายุ 55 ถึง 85 ปี) และยังมีสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
3. ประกันสังคม
รู้หรือไม่ว่าหากคุณต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี) จะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นมาตราฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
(ค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท)
4. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เป็นเงินที่รัฐบาลให้กับผู้สูงอายุทุกคน โดยต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ (เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ) และผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิตในอัตราแตกต่างกันตามช่วงอายุ
- อายุ 60 - 69 ปี รับเงิน 600 บาทต่อเดือน
- อายุ 70 - 79 ปี รับเงิน 700 บาทต่อเดือน
- อายุ 80 - 89 ปี รับเงิน 800 บาทต่อเดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน
5. กองทุนบำเหน็จบำนาญ
กองทุนเพื่อการเกษียณของข้าราชการโดยเฉพาะ ซึ่งมีสิทธิในการรับ 3 แบบ นั่นคือ
- เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)
กรณีเป็นสมาชิก กบข.(ตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
- เงินบำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) หารด้วย 50 ผลลัพธ์คือเงินรายเดือนที่จะได้รับจนกระทั่งเสียชีวิต
กรณีไม่เป็นสมาชิก กบข.(ตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
- เงินบำนาญ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) หารด้วย 50 ผลลัพธ์คือเงินรายเดือนที่จะได้รับจนกระทั่งเสียชีวิต
โดยข้าราชการสามารถเลือกวางแผนลงทุนได้ 1 จากใน 4 แผนการลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งเลือกลงทุนได้ด้วยตัวเอง และสมาชิกสามารถเปลี่ยนแบบแผนได้ 2 ครั้งในแต่ละปี
- แผนหลัก คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ถือการลงทุนที่ในความเสี่ยงปานกลาง
- แผนตลาดเงิน คือ การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุไม่เกิน 1 ปี เป็นการลงทุนในแผนความเสี่ยงต่ำ มีการรักษาเงินต้น แต่อาจจะได้ผลตอบแทนน้อย
- แผนตราสารหนี้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในแบบระยะสั้นและระยะยาว
- แผนผสมหุ้นทวี เป็นการลงทุนในสินทรัพย์เช่นเดียวกันกับแผนหลัก แต่จะมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงมากขึ้นจากความผันผวนของตลาดทุน เหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้
6. Provident Fund กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งด้วยความสมัครใจเพื่อเงินออมหลังเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ โดยมาจากเงินสะสมของเงินเดือนลูกจ้างในแต่ละเดือน ซึ่งลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะสะสมในอัตรา 3% 5% หรือ 10% รวมกับเงินที่นายจ้างสมทบให้กับลูกจ้าง(ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง) เรียกได้ว่าเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณสำหรับหลายๆ คนที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนนั่นเอง
เห็นหรือไม่ว่า หากมีอย่างน้อย 4 ใน 6 ข้อนี้ มีโอกาสมีรายได้หลังเกษียณใกล้เคียงหลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว ทั้งนี้ถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม การลงทุนและอาชีพที่คุณสามารถทำได้ก่อนและหลังเกษียณได้แก่
เตรียมพร้อมเกษียณด้วยการลงทุนและอาชีพเหล่านี้
ลงทุนในกองทุนรวม
กองทุนรวมแต่ละกองทุนจะมีแผนการลงทุน ความเสี่ยง ที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของกองทุน ที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินมากประสบการณ์ โดยกองทุนรวมที่แนะนำสำหรับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่มีประสิทธิภาพ คือ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) ที่สนับสนุนให้ลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term Equity Fund: LTF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 65% ของมูลค่าเงินลงทุน อีกประเภทที่น่าสนใจสำหรับคนที่คาดหวังผลตอบแทนสูง
**การลงทุนใน RMF และ LTF มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ถือกองทุน
ลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้
อสังหาริมทรัพย์อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนวัยเริ่มทำงาน แต่เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ทำงานมีเงินเก็บและพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสร้างสินทรัพย์และนำมาสู่รายได้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อห้องแถวหรือว่าคอนโดแล้วปล่อยเช่า เพื่อจะได้มีรายได้เข้ามาแบบประจำในแต่ละเดือน แต่ไม่ใช่ว่าอสังหาริมทรัพท์ทุกที่จะทำกำไรเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ที่ต้องอาศัยการเลือกและคัดสรรมาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ทำเลก็มีผลต่อราคาอสังหาริมทรัพท์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการ
ลงทุนในคอนโดควรศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมไปถึงการลงพื้นที่จริงบริเวณรอบๆ เพื่อประเมินอสังหาริมทรัพย์ และควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลที่ตามมาในอนาคต
อาชีพเสริมอื่นๆ
เทรนด์ในยุคใหม่นี้ คนวัยเกษียณหลายคนไม่ได้หยุดทำงานโดยสิ้นเชิงแต่ยังทำงานอยู่บ้างเพื่อไม่ให้ว่างเกินไป และยังเป็นอาชีพเสริมและรายได้เสริมหลังวัยเกษียณ เช่น อาชีพการเป็นที่ปรึกษา หรืออาชีพด้านการสอน เป็นต้น
เรียกได้ว่าจากหลายๆ ข้อข้างต้น ก็มีเส้นทางที่หลากหลายในการวางแผนเพื่ออนาคต โดยคุณสามารถเลือกออกแบบเส้นทางของการเกษียณได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเกษียณสุขมีแหล่งรายได้นำมาใช้จ่าย หรือเกษียณทุกข์ เพราะต้องคอยกังวลเรื่องรายได้อยู่เสมอ ก็ขึ้นอยู่กับการ
วางแผนตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังมีความสามารถในการทำงาน และอย่าลืมว่าการเงินที่ดีก็มาพร้อมกับการเตรียมตัว และการฝึกฝนวินัยทางการเงินที่ดีเสียตั้งแต่วันนี้นั่นเเอง