2 แนวคิดคุณแม่มือใหม่เก็บเงินให้ลูก แบบมือโปร
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

2 แนวคิดคุณแม่มือใหม่เก็บเงินให้ลูก แบบมือโปร

icon-access-time Posted On 18 ธันวาคม 2560
by Krungsri The COACH
ความรู้สึกของคนที่กำลังจะเป็น “แม่” ในวินาทีที่รู้ว่ามีเจ้าตัวเล็กกำลังเติบโตในท้องของเรา แม้ว่าไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็รู้สึกได้ถึงความรัก ความรู้สึกอยากปกป้อง อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา ในทุกๆวันและอยากที่จะเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตของเขาที่อาจจะต้องดูแลตนเองในวันที่ไม่มีพ่อหรือแม่อยู่ข้างๆ
 

2 แนวคิดที่คุณแม่มือใหม่ เก็บเงินให้ลูกแบบมือโปร

แนวคิดที่ 1 คุณแม่มือโปรต้องเป๊ะเรื่องการเงิน


หลายครอบครัวมักจะตามใจลูกหรือหลาน เขาร้องขออะไรก็ให้ทุกอย่าง ไม่รู้จักการรอคอย อยากได้อะไรก็ซื้อให้ทันที ถ้าปลูกฝังนิสัยนี้ต่อไป สักวันหนึ่งเงินที่เราเก็บสะสมมาอย่างยากลำบาก ก็อาจจะถูกผลาญจนหมดเกลี้ยง ซึ่งคุณแม่มือใหม่ที่จะเก็บเงินให้ลูกแบบมือโปรนั้น ก็ต้องเป๊ะกับการสอนเรื่องการเงินให้ลูกด้วย ดังนี้

นิสัยออมก่อนใช้
เริ่มฝึกนิสัยตั้งแต่วันที่ได้เงินค่าขนมแล้วนำไปหยอดกระปุกออมสิน ก่อนนำเงินไปใช้จ่ายที่โรงเรียน เมื่อได้เงินออมมาจำนวนหนึ่งแล้วก็รวบรวมไปฝากไว้ที่ธนาคารเพื่อให้เขารู้จักวิธีการเก็บรักษาเงินเบื้องต้น และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองว่าการออมเงินได้นั้นเป็นหนึ่งในความสำเร็จเล็กๆ ของเขา สิ่งสำคัญ คือ ควรฝากเงินทุกๆเดือนเพื่อจะได้เกิดความเคยชิน เช่น ฝากเงินกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ดอกเบี้ยสูง) , บัญชีฝากประจำปลอดภาษี

นิสัยการบริหารเงิน
รู้จักวิธีจัดการเงินอย่างง่ายจาก “เงินค่าขนม” โดยการให้เป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เช่น ให้เงินสัปดาห์ละ 500 บาท ลูกก็ต้องแบ่งใช้ให้ครบ 5 วัน ถ้าหมดก่อนจะมาขอเพิ่มไม่ได้ หรือถ้ามีเหตุจำเป็นจะต้องขอเงินเพิ่มจริงๆ ก็จะต้องมาบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร เราก็จะได้ใช้ช่วงเวลานั้นอธิบายเกี่ยวกับการบริหารเงินด้วย

ทักษะที่ได้เรียนรู้จากเงินค่าขนมจะเป็นพื้นฐานในวันที่เขาเข้าสู่วันทำงานจะได้รู้จักวิธีบริหารเงินว่า เมื่อได้เงินเดือนมาแล้วควรจัดการอย่างไร เพื่อจะได้มีเงินใช้ทั้งเดือน


แนวคิดที่ 2 การเตรียมเงินก้อน


“ค่าการศึกษาของลูก” เป็นหนึ่งในรายจ่ายก้อนโตของผู้ปกครอง เมื่อรวมกับค่าอุปกรณ์การเรียนและ ค่าเสริมทักษะต่างๆก็ทำให้ต้องปาดเหงื่อได้เหมือนกัน ถ้าจะถามว่าจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ จะให้คำตอบเป็นตัวเลขนั้นยากมากเพราะแต่ละครอบครัวมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

แต่ปัจจุบันข้อมูลต่างๆเราเริ่มค้นหาง่ายขึ้น ทั้งจากกระทู้ต่างๆในโลกออนไลน์ ทางเว็บไซต์ของโรงเรียน และแหล่งที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าการศึกษา เราลองนำมาคำนวณได้จำนวนเงินที่ต้องเตรียมไว้คร่าวๆ ควรบวกเงินเฟ้อค่าเทอมเข้าไปด้วยโดยเฉลี่ย 5-7% ต่อปี เพื่อจะได้ตัวเลขใกล้เคียงกับเงินค่าเทอม ในอนาคตให้ได้มากที่สุด

วิธีการเตรียมเงินก้อน
ฝากประจำแบบปลอดภาษี
เรารู้ว่าอีกกี่ปีลูกจะเข้าเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา เมื่อเรารู้ค่าเทอมของโรงเรียนที่ต้องการ ให้ลูกเข้าเรียนแล้วก็ทยอยเก็บเงินรายเดือนในรูปแบบ “เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี” ที่มีวันครบกำหนดฝากใกล้เคียง กับวันที่ต้องใช้จ่ายค่าเทอมให้ลูก

เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย
  • ข้อดี คือ สร้างวินัยการออมเงินรายเดือน เมื่อครบกำหนดถึงได้รับเงินก้อนและรับดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ไม่ต้องเสียภาษี
  • ข้อเสีย คือ หากไม่สามารถฝากเงินได้ครบกำหนดตามเวลา อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามที่ตั้งใจไว้

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
เราวางแผนต้องการให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัย จากวันที่ลูกเกิดจนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ใช้เวลา 18 ปี ระหว่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง การใช้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์สามารถเป็นตัวช่วยลดความไม่แน่นอนนั้นได้ ซึ่งจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย

ตัวอย่าง : ตอนนี้ลูกอายุ 3 ขวบ ตั้งใจว่าจะให้เขาเรียนในมหาลัยแห่งหนึ่ง เหลือเวลาเก็บเงินอีก 15 ปี จึงวางแผนเก็บเงินด้วยการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ให้ตัวเอง แล้วให้ลูกเป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 15 ปี

เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี เราสามารถนำเบี้ยประกันนั้นมาลดหย่อนภาษีได้แล้วยังมีเงินก้อนเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
  • รูปแบบที่ 1 เราส่งเบี้ยประกันครบตามกำหนด ในวันที่กรมธรรม์ประกันชีวิตครบกำหนด 15 ปี ลูกก็จะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ตอนนั้นเราก็จะได้รับเงินก้อนจากประกันชีวิต เพื่อนำมาใช้เป็นค่าเทอม ให้ลูกเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตามแผนที่วางไว้ได้
  • รูปแบบที่ 2 เราส่งเบี้ยประกันไม่ครบ อาจจะส่งเบี้ยไป 3 ปีแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เราไม่มีโอกาสเห็นความสำเร็จของลูก แต่เงินที่ได้รับจากประกันชีวิตก็จะเป็นตัวแทนของเรา ส่งต่อให้เขาเรียนจบตามความตั้งใจของเราได้
ข้อเสียของแนวทางนี้ คือ เบี้ยประกันที่ส่งรายปี ถ้าเราทำทุนประกันสูงเกินไป เบี้ยประกันก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันได้ ดังนั้น เราควรซื้อประกันชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่สามารถส่งเบี้ยได้
 
คุณแม่มือใหม่ที่ต้องการเตรียมความพร้อมทางการเงินให้ลูกนั้น นอกจากต้องหาวิธีเก็บเงินที่เหมาะสม กับตนเองแล้ว ยังต้องปลูกฝังแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องการใช้เงินที่ถูกต้องให้ลูกอีกด้วย เพื่อเป็นการวางรากฐานให้เขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงต่อไป
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา