หากวันนี้ถ้าจะเลือกให้ของขวัญกับลูกสักชิ้นหนึ่งระหว่าง
“เงิน” กับ
“การศึกษา” ถ้าเลือกให้ได้ จะเลือกอะไร แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกๆคน ก็คงตอบเหมือนกันว่าก็ต้องเลือก “การศึกษา” เพราะ ถ้าเราให้แต่เงิน คือเป็นพ่อแม่ที่ขยันทำมาหากิน สามารถหาเงินเยอะๆให้ลูกได้ แต่ถ้าลูกไม่มีการศึกษาที่ดี เงินที่สามารถได้มาเยอะๆ วันนึงก็อาจจะหมดได้ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ร่ำรวย แต่สามารถหาเงินส่งลูกให้ได้รับการศึกษาดีๆ หรือส่งลูกให้เรียนสูงๆ แม้ช่วงแรกจะไม่ได้มีเงินทองอะไรมาก แต่อนาคตก็จะสามารถเอาความรู้ความสามารถจากการศึกษา มาหาเงินทองให้ร่ำรวยได้
จึงเห็นว่าพ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมองหาสถานศึกษาดีๆให้กับลูกตั้งแต่เล็กๆ เรียกว่าเดี๋ยวนี้พอเกิดปุ๊บ ต้องรีบมองหาโรงเรียนกันเลยทีเดียว แถมบางโรงเรียนที่ชื่อดังหน่อย ก็เริ่มมีให้จองล่วงหน้าตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว เพื่อรักษาสิทธิค่าเทอมที่ถูกกว่าในอนาคตได้ จึงทำให้การวางแผนการศึกษาบุตรเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องมีการวางแผนตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงอนาคตเลยทีเดียว เช่น ถ้าลูกเพิ่งเกิด ก็ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้เลยว่า อยากจะส่งเสียให้ลูกเราเรียนถึงระดับไหน ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือจนกระทั่งถึง ปริญญาเอก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่น โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนรัฐบาล เรียนนานาชาติ หรือเรียนที่ต่างประเทศ เป็นต้น
หลังจากนั้นเราพอจะเห็นแผนทางการศึกษาของลูกเราในอนาคตได้แบบคร่าวๆแล้ว เราก็จะได้งบประมาณคร่าวๆว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดของลูกเรา จะเป็นจำนวนเงินทั้งหมดเท่าไหร่ ซึ่งถ้าการประมาณค่าเล่าเรียนทั้งหมดควรจะต้องประมาณการณ์เผื่ออัตราเงินเฟ้อของการศึกษาด้วย ซึ่งประมาณ 5-8% ต่อปี เช่น ถ้าเราต้องการจะส่งลูกเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ ซึ่งค่าเทอมปัจจุบันประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี แต่ตอนนี้ลูกเราเพิ่งอายุ 6 ขวบ กว่าจะเข้าเรียนปริญญาโท ก็อายุ 22 ปี ก็แสดงว่าเหลือเวลาอีก 16 ปี ถึงจะได้เรียน ดังนั้นจากเดิมค่าเทอมปีละ 1 ล้าน ก็น่าจะเผื่อเป็น ปีละ 2.2 ล้านบาท ถ้าคิดว่าอัตราเงินเฟ้อการศึกษาประมาณ 5% ต่อปี ซึ่งถ้าเรียนปริญญาโท 2 ปี ก็แสดงว่าจะใช้ค่าเทอมปริญญาโทรวมแล้วประมาณ 4.4 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งการวางแผนการเก็บเงินลูกนั้นขึ้นกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินกับเครื่องมือที่ใช้เก็บเงิน ซึ่งถ้าเหลือเวลาสั้นเกินไปในการเก็บเช่นตอนนี้ลูกอายุ 6 ปี เรียน ประถมศึกษาปีที่ 1 อยู่ ถ้าต้องการเก็บเงินเพื่อเรียนระดับมัธยมศึกษาซึ่งก็เหลือเวลาอีกแค่ 5-6 ปี ก็ต้องใช้เงินแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่เสี่ยงเกินไป เช่นไม่ควรเก็บออมในหุ้น หรือเก็บแบบประกันสะสมทรัพย์ก็ไม่น่าจะเหมาะ เพราะระยะเวลาสั้นเกินไป และไม่ค่อยมีแบบประกันที่ออกแบบในลักษณะนี้ แต่ควรจะลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่เสี่ยงต่ำหรือปานกลางค่อนข้างต่ำ เช่น เงินฝากประจำปลอดภาษีพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนเกรดดีๆ หรือ กองทุนตราสารหนี้ น่าจะเหมาะสมกว่า
ดังนั้นหากใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเก็บเงินให้ลูกด้วยสินค้าการเงินอะไรดี จะเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ดีมั้ย หรือกองทุนแบบไหนดี หรือหุ้นจะเหมาะมั้ย จึงควรเข้าใจจุดเด่น จุดด้อยของผลิตภัณฑ์การเงินนั้นๆก่อนที่จะเลือกลงทุนหรือออมเงิน ดังนี้
เก็บเงินให้ลูกด้วยแบบประกันสะสมทรัพย์
ข้อดี |
ข้อเสีย |
- สามารถเห็นผลตอบแทนรวมในอนาคตได้อย่างชัดเจนว่าจะได้ทั้งหมดเท่าไหร่ และไม่เสียภาษีอีกด้วย
- มีความเสี่ยงต่ำมากๆ
- เห็นผลต่างกำไรแน่นอนหากสามารถออมได้ครบตามแบบประกันนั้นๆ
- ไม่ต้องมีความรู้การเงินมาก ก็สามารถลงทุนหรือออมได้เพราะ แบบประกันจะกำหนดเงื่อนไขของเงินคืนอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่ออมเงิน
- เป็นการออมที่เป็นระบบและทำให้มีวินัยการออมสูงมากเพราะจะมีการเตือนให้จ่ายเบี้ยประกันทุกๆปี หรือทุกเดือน
- มีความคุ้มครองชีวิตระหว่างการออมด้วย
|
- มีผลตอบแทนต่ำ เพราะ เบี้ยประกันส่วนใหญ่จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำเช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้
- หากออมไม่ได้ตามแผนประกันนั้น ก็อาจจะขาดทุนได้
- สภาพคล่องต่ำมากๆ เพราะ หากต้องใช้เงินก่อนครบสัญญา ต้องเลือกเวนคืนหรือกู้กรมธรรม์ ซึ่งมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ในช่วงแรกจะได้เงินคืนน้อยมากๆ
- ส่วนใหญ่สัญญากรมธรรม์จะยาวเกิน 10 ปี ดังนั้นหากต้องการออมเพียงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถทำได้
|
เก็บเงินให้ลูกด้วยการลงทุนในกองทุนรวม
ข้อดี |
ข้อด้อย |
- มีกองทุนหลายประเภทให้เลือกทั้งตราสารหนี้หรือตราสารทุน หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น ซึ่งจะเลือกกองทุนประเภทไหนก็ขึ้นกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้
- มีโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น หากเป็นกองทุนประเภทตราสารทุน
- มีสภาพคล่องสูงกว่าประกันสะสมทรัพย์ และสามารถลงทุนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
- มีมืออาชีพ คือผู้จัดการกองทุนดูแล ทำให้ไม่ต้องกังวล แม้ว่าจะไม่มีความรู้การเงินมากนัก
- มีความยืดหยุ่นในการลงทุนเพราะ โดยมีเงินน้อยก็สามารถเริ่มลงทุนได้ เช่น 1,000 บาทก็เริ่มลงทุนได้แล้ว
|
- ผลตอบแทนไม่แน่นอน อาจมีสิทธิขาดทุนได้
- อาจจะไม่ค่อยมีวินัยในการออมเพราะ ไม่มีการบังคับว่าต้องลงทุนเดือนหรือทุกปีอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่สามารถเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทที่เราสนใจ เพราะการเลือกลงทุนต้องเป็นไปตามนโยบายของผู้จัดการกองทุนเท่านั้น
- ต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนบ้าง ไม่เช่นนั้นอาจไปลงทุนในกองทุนที่ไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเองได้
|
เก็บเงินให้ลูกด้วยการลงทุนในหุ้น
ข้อดี |
ข้อด้อย |
- มีโอกาสรับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนชนิดอื่นๆ
- เป็นเจ้าของกิจการได้หลายกิจการโดยใช้เงินลงทุนไม่มาก
- ได้รับเงินปันผลระหว่างปี
- มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้หากลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ
|
- มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุน จึงมีโอกาสขาดทุนเพราะ เป็นการลงทุนในหุ้นรายตัว ราคาผันผวนง่าย
- ต้องมีความรู้ในการลงทุนสูง เพราะต้องเลือกหุ้นเอง รวมถึงกำหนดการซื้อ-ขายเอง
- ต้องใช้เงินจำนวนมาก หากลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย อาจเห็นผลตอบแทนไม่ชัดเจน
|
ซึ่งจากข้อมูลเปรียบเทียบทั้งประกันแบบสะสมทรัพย์ กองทุนรวม และหุ้น ก็น่าจะพอทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการออมเงินให้ลูก พอจะทราบว่าเราควรจะนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทไหนดี ซึ่งสิ่งสำคัญที่ใช้วัดว่าเราน่าจะเหมาะกับผลิตภัณฑ์การเงินประเภทไหนก็คือ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของเรา ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ซึ่งหากเราไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน ก็อาจจะเลือกออมเงินในประกันแบบสะสมทรัพย์ก็ได้ หรือหากพอรับความเสี่ยงได้บ้าง ก็อาจจะเลือกกองทุนรวมเป็นต้น และเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือเป้าหมายการเงิน ว่ากองทุนการศึกษาของลูกที่เราต้องการ ตอนนี้ขาดอยู่มากน้อยแค่ไหน แล้วเรามีงบประมาณการลงทุนได้ปีละเท่าไหร่ เช่น หากต้องการส่งลูกเรียนปริญญาโทในต่างประเทศ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 5 ล้านบาท แต่สามารถเก็บได้ปีละ 100,000 บาท ถ้าคำนวณแล้วจะให้ได้เป้าหมายดังกล่าวนั้น จะต้องลงทุนในผลิตภัณฑ์ให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8.8% เลยทีเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ หากเราเลือกออมกับประกันแบบสะสมทรัพย์ ก็อาจจะไม่สามารถถึงเป้าหมายได้
ดังนั้นสรุปแล้วการเลือกจะออมหรือลงทุนเพื่อการศึกษาลูกอย่างไรถึงเหมาะสมกับเรา จึงควรต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งความเสี่ยงของเรา ทั้งระยะเวลาที่จะลงทุน งบประมาณที่เราสามารถลงทุนได้ รวมถึงความรู้ในผลิตภัณฑ์การเงินนั้นๆด้วย จึงจะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้