กองทุนรวมมีให้เลือกหลากหลายประเภท อีกทั้งยังมีรายละเอียด เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการซื้อ “กองทุนรวม” นั้น มีการบริหารจัดการอย่างดีโดยมืออาชีพ และหากเลือกได้ถูกต้องจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้ตามความต้องการที่ตั้งเอาไว้ ดังนั้น ลองมาเปรียบเทียบกองทุนรวม พร้อมทั้งสำรวจกันดูว่าคุณจะเลือกลงทุนกองทุนรวมอย่างไรให้เป็นมืออาชีพ
ปัจจัยในการช่วยเลือกและเปรียบเทียบกองทุนรวม
มีหลายจุดมากที่เป็นประโยชน์เพื่อการสังเกตและการเปรียบเทียบกองทุนรวมที่ดี และสร้างการลงทุนแบบมืออาชีพให้กับเหล่านักลงทุน
1. ดูผลตอบแทนย้อนหลัง
“ผลตอบแทน” เป็นจุดที่นักลงทุนหลาย ๆ คนให้ความสำคัญ โดยคุณสามารถดูได้จาก Fund Fact Sheet, หนังสือพิมพ์ธุรกิจ หรือเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ต่าง ๆ ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้นจะมีการเปรียบเทียบกับค่า Benchmark (ดัชนีมาตรฐาน) ในแบบที่กองทุนนำมาใช้อ้างอิงผลการดำเนินงาน ซึ่งนักลงทุนควรเลือกเปรียบเทียบกองทุนรวมด้วยการใช้ Benchmark เดียวกัน
ปกติแล้ว กองทุนรวมจะแสดงผลการดำเนินงานในช่วงเวลานับจากวันแสดงข้อมูล เช่น ย้อนหลัง 3 เดือน - 10 ปี หรือนับแต่วันที่จัดตั้งกองทุน โดยหากอยากเลือกด้วยผลตอบแทน อาจลองเลือกกองทุนมา 10 กองทุน แล้วทำการเปรียบเทียบกองทุนรวม พร้อมสำรวจดูว่าผลตอบแทนของกองทุนไหนที่ดีที่สุด แล้วสังเกตต่อว่าผลตอบแทน 3 ปี จากทุกกองทุนมีกองไหนที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอบ้าง จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนในขั้นตอนต่อไป
“ให้ Morningstar ช่วย” Morningstar คือองค์กรที่ให้บริการข้อมูลและจัดอันดับเปรียบเทียบกองทุนรวม เปรียบเสมือนกับคนกลางที่คอยให้ข้อมูลกับนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วยการจัดอันดับที่เรียกว่า “Morningstar Rating” กองทุนที่จะได้รับการจัดอันดับโดย Morningstar จะต้องมีผลการดำเนินงานติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี (แบ่งการจัดอันดับเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 3 ปี, 5 ปีและ 10 ปี) โดยจัดอันดับด้วยการ “คำนวณผลตอบแทนแบบที่นำความเสี่ยงมาคำนึงถึงด้วย (MRAR)” และให้ดาวกับกองทุนที่ได้คะแนนมากที่สุด เรียงลำดับไปตั้งแต่ 5 ดาว จนถึง 1 ดาว สามารถติดตามได้ใน
Morningstar Thailand
2. ใช้มาตรวัดผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk Adjusted Return)
หลังจากที่ได้ทำการเปรียบเทียบกองทุนรวมและคำนึงถึงเรื่องผลตอบแทนแล้ว ก็ควรนำเอา
“ความเสี่ยง” มาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ โดยเครื่องมือที่สามารถใช้มาตรวัดผลการดำเนินงานที่ปรับด้วยความเสี่ยงของกองทุนรวมมีหลากหลาย แต่ที่เป็นที่นิยมใช้กัน มี 2 วิธี ต่อไปนี้
- ชาร์ป เรโช (Sharpe Ratio)
เป็นการวัดผลตอบแทนของกองทุนรวม หากกองทุนใดมีค่า Sharpe Ratio สูงกว่าอีกกองทุนหนึ่ง จะแสดงให้เห็นว่า ผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า ณ 1 หน่วยความเสี่ยงที่เท่ากัน แต่หาก Sharpe Ratio มีค่าติดลบก็หมายความว่าผลตอบแทนของกองทุนไม่ดี
- เปรียบเทียบผลตอบแทนแบบ Percentile
Percentile คือ ข้อมูลที่นำมาจัดลำดับและแบ่งออกเป็นร้อยส่วน คล้ายการสอบได้ลำดับที่เท่าไร สำหรับการจัดลำดับกองทุนเปอร์เซ็นไทล์นั้นจะจัดลำดับโดยสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) โดยแบ่ง Percentile ออกเป็นลำดับผลการดำเนินงาน (Percentile) และอันดับความเสี่ยงน้อยที่สุด (Standard deviation หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือความไม่แน่นอนของผลการดำเนินงานของกองทุนรวม)
3. สังเกตแนวทางการลงทุน
นักลงทุนควรสังเกตด้วยว่าแนวทางในการลงทุนจากการเปรียบเทียบกองทุนรวมแต่ละชนิดเป็นแบบไหน เพราะว่าการลงทุนแต่ละประเภทมีความเสี่ยง กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำก็ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหรือความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะไม่ชำระหนี้ที่ตกลงกันไว้ หรือกองทุนหุ้น ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง เพียงแต่ลงทุนในกองทุนมีการกระจายในหุ้นได้หลากหลาย ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเลือกแนวทางการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง
4. เลือกให้ตรงเป้าหมายของตัวเอง
หากอยากลงทุนแบบมืออาชีพ นอกจากจะรู้จักเปรียบเทียบกองทุนรวมแล้ว นักลงทุนยังควรสำรวจตัวเองว่ามีเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น กลาง และยาวอย่างไร โดยไม่ควรมองจากเพียงแค่การจัดอันดับของกองทุนนั้น ๆ ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะในบางครั้งการจัดการของกองทุนก็ไม่ได้มีการลงทุนด้วยมุมมองในระยะสั้น แต่มีการวางแผนสินทรัพย์ที่ลงทุนในระยะยาวด้วย จึงขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนต้องการลงทุนในรูปแบบไหน
5. วางแผนกระจายความเสี่ยง
นอกเหนือจากการดูปัจจัยต่างๆ ในการเลือกกองทุน การกระจายความเสี่ยงยังเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญด้วย
ถึงแม้จะมีกองทุนรวมหลายกองในพอร์ต การลงทุนนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะกองทุนเหล่านั้นอาจอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ดังนั้นจึงควรวางแผนจัดสรรพอร์ตการลงทุนด้วยการกระจายความเสี่ยงไปในทรัพย์สินประเภทที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นก็ควรเปรียบเทียบกองทุนรวม และวัดผลการลงทุนบ่อย ๆ หลังจากการซื้อกองทุนแล้ว เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
การเลือกกองทุนอย่างมืออาชีพต้องอาศัยการศึกษาข้อมูล เรียนรู้ และสังเกตอย่างถี่ถ้วน โดยคุณสามารถใช้ข้อข้างต้นมาเป็นเช็กลิสต์ในการเปรียบเทียบและเลือกกองทุนที่ต้องการในครั้งถัดไป ลองมาดู
กองทุนรวมจาก ธ.กรุงศรีที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน และบริหารจัดการด้วยผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์
คำเตือน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน