EXECUTIVE SUMMARY
ปี 2566-2568 ผลผลิตข้าวของไทยมีทิศทางหดตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยท้าทายจากแนวโน้มสภาพอากาศที่จะเข้าสู่ภาวะ El Niño ส่งผลให้ปริมาณฝนและน้ำในเขื่อนปรับลดลง รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะยังคงมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ด้านความต้องการบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตอาหาร ส่วนการส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว และความกังวลด้านความมั่นคงด้านอาหารที่ยังคงมีอยู่จากภาวะยืดเยื้อของสงคราม ขณะที่ราคาข้าวของไทยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลงและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม โดยเฉพาะด้านราคาที่ไทยยังคงเสียเปรียบ
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ช่วงปี 2566-2568 อุตสาหกรรมข้าวโดยรวมเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้นจากปริมาณฝนที่น้อยลง ทำให้ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าราคาจะยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตและการแข่งขันที่สูงจะเป็นปัจจัยกดดันผลกำไรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวของไทย ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ไซโล และร้านค้าปลีกข้าว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
-
ชาวนา: ปริมาณผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะเผชิญแรงกดดันจากสภาพอากาศและระดับน้ำในเขื่อนที่มีแนวโน้มจำกัด ต้นทุนการผลิตที่ยังคงทรงตัวสูงทั้งค่าแรงงาน พลังงาน และปุ๋ย และความเสียเปรียบด้านอำนาจต่อรองทางการตลาด โดยเฉพาะการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางยังคงเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจ อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนรายได้ของชาวนา
-
โรงสีข้าว: เผชิญความท้าทายจากปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่การทำกำไรยังมีข้อจำกัดจากปัญหากำลังสีข้าวส่วนเกินในระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กมักเสียเปรียบรายกลาง-ใหญ่ด้านอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ ทำให้มีต้นทุนรับซื้อข้าวสูงกว่า กลุ่มที่แข่งขันได้จึงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่/ครบวงจร และโรงสีข้าวขนาดกลางที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี
-
ผู้ผลิตข้าวถุง: รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร (มีทั้งโรงสีและบริษัทส่งออกข้าว) ตามความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวที่จะปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังมีทิศทางรุนแรงจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด ขณะที่ต้นทุนการนำสินค้าเข้าตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งค่าการตลาดและค่าวางสินค้า
-
ร้านขายปลีกข้าว (แบบดั้งเดิม): แนวโน้มรายได้และความสามารถในการทำกำไรยังถูกจำกัดจากการแข่งขันของตลาดข้าวถุงที่รุนแรง ทั้งด้านราคาและระบบบริหารจัดการซึ่งรวมถึงความสะดวกและคุณภาพการเก็บรักษา โดยร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะเสียเปรียบร้านค้าสมัยใหม่ ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น
-
ผู้ส่งออกข้าว: ปริมาณส่งออกข้าวของไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่จะทยอยฟื้นตัว ขณะที่ราคาข้าวของไทยแม้จะยังคงเสียเปรียบแต่ก็มีแนวโน้มใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งมากขึ้น จากความพยายามของผู้ส่งออกในการแข่งขันด้านราคาทำให้อัตรากำไรยังคงมีแนวโน้มทรงตัว แม้ว่ารายได้จากการส่งออกจะมีทิศทางเติบโตดี
-
ไซโล: รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจไซโลคาดว่าจะลดลงจากความต้องการเช่าที่มีทิศทางหดตัวตามปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ธุรกิจยังคงมีการแข่งขันรุนแรง ขณะที่ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง จึงส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องออกจากตลาด แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการพื้นที่ไซโลโดยการรับฝากธัญพืชประเภทอื่นทดแทน
ข้อมูลพื้นฐาน
“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด (คิดเป็น 43.7% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ1/) และครอบคลุมครัวเรือนถึง 5.1 ล้านครัวเรือน (คิดเป็น 63.6% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด2/) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากรัฐบาลมาโดยตลอด โดยมีนโยบายช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านราคา (Price policy) อาทิ การประกันราคาข้าว การรับจำนำข้าว และโครงการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว เป็นต้น
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยปี 2564/2565 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็น 4.0% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนผลผลิต 29.0%, 25.2%, 7.0%, 6.7% และ 5.2% ตามลำดับ) และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 13.5% รองจากอินเดียที่มีส่วนแบ่งตลาด 38.8% และยังมีคู่แข่งอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และจีน เป็นต้น (ภาพที่ 1) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกมีสัดส่วนเพียง 11.1% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (ภาพที่ 2) เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ปลูกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณการค้าข้าวระหว่างประเทศจึงเป็นผลผลิตส่วนเกินจากการบริโภคในแต่ละประเทศ ภาวะตลาดส่งออกจึงมักผันผวนตามปริมาณผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกและการบริโภคของประเทศผู้นำเข้า โดยตลาดนำเข้าข้าวส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ตามลำดับ (ภาพที่ 3)
ในรอบปีเพาะปลูก 2564/653/ ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 72.56 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง (ภาพที่ 4) โดยการปลูกข้าวของไทยเน้นพึ่งน้ำฝน มีช่วงเวลาเพาะปลูกสำคัญตั้งแต่ช่วงเข้าหน้าฝน (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี) และเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี (เดือนตุลาคม) เรียกว่า “ข้าวนาปี”4/ มีผลผลิตทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ซึ่งมีปริมาณรวมกันกว่า 81% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศในแต่ละรอบปีการเพาะปลูก ส่วนที่เหลือประมาณ 19% เป็น “ข้าวนาปรัง”4/ คือ ข้าวที่ถูกเพาะปลูกในฤดูแล้งซึ่งต้องอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน5/ โดยเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของปีถัดไป ส่วนใหญ่นิยมปลูกในภาคกลางและภาคเหนือ6/
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน ซึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-22 ล้านตัน ใช้บริโภคภายใน ประเทศเฉลี่ย 10-12 ล้านตัน (ส่วนที่เหลือส่งออกและสต๊อก) ในจำนวนนี้แบ่งเป็น
1) ข้าวเพื่อใช้บริโภคโดยตรง มีสัดส่วน 30% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ ปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค 3 ช่องทาง คือ
1.1 การจำหน่ายในลักษณะข้าวบรรจุถุง (สัดส่วน 43.1% ของปริมาณจำหน่ายข้าวสำหรับบริโภคโดยตรงของไทยทั้งหมด) ที่ผ่านมา ความนิยมบริโภคข้าวบรรจุถุงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในชุมชนเมือง ทำให้ตลาดมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จึงมีผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจข้าวบรรจุถุงเพิ่มขึ้น8/ โดยเฉพาะโรงสีข้าวและผู้ส่งออกข้าวที่หันมาขยายตลาดในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้ในตลาดส่งออก รวมทั้งผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (อาทิ เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเต็ม (ตรา Tesco) และสยามแม็คโคร (ตรา aro)) ที่ผลิตข้าวบรรจุถุงเฮ้าส์แบรนด์ (House Brand)9/ เข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวบรรจุถุง (ตารางที่ 1) และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ต่อเนื่องโดยอาศัยความได้เปรียบด้านช่องทางจำหน่ายและกลยุทธ์ราคา (การจำหน่ายข้าวบรรจุถุงเฮ้าส์แบรนด์ไม่มีต้นทุนค่าวางสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่เหมือนกับข้าวบรรจุถุงทั่วไป อีกทั้งต้นทุนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยังต่ำกว่า) ทั้งนี้ช่องทางจำหน่ายหลักของข้าวสารบรรจุถุงสำหรับบริโภคของไทย ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (สัดส่วน 27.3% ของปริมาณจำหน่ายข้าวสำหรับบริโภคโดยตรงของไทยทั้งหมด) รองลงมาเป็น ร้านสะดวกซื้อ (9.4%) และซูเปอร์มาร์เก็ต (6.4%)
1.2 ร้านขายของชำในท้องถิ่นขนาดเล็ก (Small Local Grocers) และร้านค้าจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง10/ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายข้าวสารแบบดั้งเดิม (ข้าวสารตักแบ่งขาย) ที่ยังคงเป็นช่องทางจำหน่ายหลักในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยมีสัดส่วน 40.5% และ 14.5% ตามลำดับ
1.3 การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) และที่ไม่ได้เป็นร้านค้า (Non-Grocery) มีสัดส่วนรวมกัน 1.9%
2) ข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 25%ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ จำแนกออกเป็น 1) อุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมีสัดส่วนราว 15% อาทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมขบเคี้ยว แอลกอฮอล์เครื่องดื่ม น้ำมันรำข้าว และ 2) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ส่วนใหญ่เป็นอาหารปศุสัตว์ อาทิ สุกร ไก่ เป็ด) มีสัดส่วนราว 10%
3) ข้าวเพื่อใช้ทำเมล็ดพันธุ์ มีสัดส่วนประมาณ 5% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ ส่วนใหญ่มาจากปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ โดยปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจะขึ้นอยู่กับชนิดข้าว อาทิ ข้าวอินทรีย์จะใช้ปริมาณ 16 กก./ไร่ ขณะที่ ข้าวหอมไทย ข้าวเจ้า ข้าวที่เป็นตลาดเฉพาะ จะใช้ปริมาณ 25 กก./ไร่
4) ข้าวเพื่อการส่งออก มีสัดส่วนประมาณ 40% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ (ภาพที่ 5)
สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปี 2565 มีสัดส่วนประมาณ 40.1% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย โดยข้าวไทยยังคงได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิรัก แอฟริกาใต้ จีน สหรัฐฯ เบนิน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ประเภทข้าวที่ไทยส่งออกเป็นปริมาณมาก คือ ข้าวขาว (White Rice) รองลงมาเป็น ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice)11/ ข้าวหอมมะลิ (Jasmine Rice) ข้าวหัก (Broken Rice)12/ ข้าวเหนียว (Glutinous Rice) และข้าวกล้อง (Brown Rice) ตามลำดับ (ภาพที่ 5) ซึ่งมีโครงสร้างดังต่อไปนี้
-
ข้าวขาว เป็นประเภทของข้าวที่มีปริมาณการค้าสูงสุดในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 3.86 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 50.2% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา โดยส่งออกไปยังประเทศอิรักสูงสุดที่ 41.4% ของตลาดข้าวขาวทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน (7.9%) ญี่ปุ่น (7.8%) แองโกลา (5.1%) ฟิลิปปินส์ (4.7%) และโมซัมบิก (4.5%) ตามลำดับ ทั้งนี้ ข้าวขาวจะแบ่งเป็นเกรดต่างๆ ที่มีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสัดส่วนข้าวหัก โดยหากมีข้าวหักปนอยู่มากราคาจะต่ำลง13/
-
ข้าวนึ่ง ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.51 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 19.6% ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา โดยส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาใต้สูงถึง 48.4% ของตลาดข้าวนึ่งทั้งหมด รองลงมาเป็นเบนิน (18.5%) เยเมน (7.6%) บังกลาเทศ (5.4%) และแคเมอรูน (4.6%) ตามลำดับ
-
ข้าวหอมมะลิ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.25 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 16.3% ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ (สัดส่วน 36.0% ของปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย) รองลงมาเป็นจีน (11.1%) ฮ่องกง (10.4%) และแคนาดา (7.5%) และสิงคโปร์ (4.0%) ตามลำดับ
-
ปลายข้าว ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 8.0 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 10.5% ตลาดส่งออกหลัก คือ เซเนกัล (สัดส่วน 28.8% ของปริมาณส่งออกปลายข้าวของไทย) รองลงมาเป็นจีน (28.6%) อินโดนีเซีย (6.9%) และปาปัวนิวกินี (5.2%) ตามลำดับ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้งและอาหารสัตว์
-
ข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.7 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 2.2% ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน (สัดส่วน 42.9% ของปริมาณส่งออกข้าวเหนียวของไทย) รองลงมาเป็นสปป.ลาว (11.8%) สหรัฐฯ (10.8%) และเวียดนาม (6.4%) ตามลำดับ
- ข้าวกล้องและข้าวอื่นๆ14/ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 0.9 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 1.2% ตลาดส่งออกหลัก คือ เกาหลีใต้ (สัดส่วน 56.7% ของปริมาณส่งออกข้าวกล้องและข้าวอื่นๆทั้งหมดของไทย) รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (10.9%) นิวแคลีโดเนีย (6.0%) และสิงคโปร์ (4.9%) ตามลำดับ
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ปี 2565 อุตสาหกรรมข้าวไทยมีทิศทางขยายตัวทั้งด้านผลผลิต ตลาดในประเทศ และส่งออก (ภาพที่ 6) ผลจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย มาตรการสนับสนุนเกษตรกรจากภาครัฐ มาตรการผ่อนคลายโรคระบาด COVID-19 มาตรการสนับสนุนการบริโภคและการท่องเที่ยว การคลี่คลายของปัญหาด้านการขนส่งทั้งความแออัดที่ท่าเรือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระตุ้นความต้องการกักตุนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) รวมถึงราคาส่งออกข้าวไทยและประเทศคู่แข่งที่ปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
-
ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 33.0 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 21.4 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 3.9% จากปี 2564 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินพื้นที่ปลูกข้าว (Planted Area) ปี 2565 อยู่ที่ 72.6 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2564 แรงหนุนสำคัญมาจากแรงจูงใจด้านราคาข้าวที่เพิ่มสูงในช่วงต้นปี 2565 จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารของตลาดโลก และโครงการประกันรายได้ของภาครัฐ ส่งผลให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูกหรือเพิ่มการผลิต สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น 1.4% อยู่ที่ 5.1 ล้านครัวเรือน15/ และ (2) สภาวะ La Nina ทำให้ปริมาณฝนและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น 1.9% อยู่ที่ 472.6 กิโลกรัม
-
ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 11.5 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 3.5% จากปี 2564 ผลจาก (1) สถานการณ์โรค COVID-19 ที่คลี่คลายลง (2) การผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐ (3) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการนั่งทานในร้าน และ (4) การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลดีต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทำให้ความต้องการบริโภคข้าวทั้งตลาดขายปลีก ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และการสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า ส่งผลให้ระดับราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้น โดยในปี 2565 ราคาเฉลี่ยข้าวในประเทศขยายตัว 8.3% ทั้งนี้ ราคาข้าวขาวเพิ่มขึ้น 5.2% อยู่ที่ 8,765 บาท/ตัน ราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น 19.9% อยู่ที่ 12,850 บาท/ตัน ขณะที่ราคาข้าวเหนียวลดลง -3.3% อยู่ที่ 9,228 บาท/ตัน จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก (ภาพที่ 7)
- ตลาดส่งออกปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง ปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 7.7 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 22.2% คิดเป็นมูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 14.7% ผลจาก (1) ความต้องการสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2) ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าจากไทยทดแทนอินเดียที่ระงับการส่งออกข้าว16/ และเวียดนามเผชิญความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองประเทศดังกล่าวเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก (ภาพที่ 8) (3) จีนและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกเผชิญภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตในประเทศลดลง และ (4) ปัญหาการขนส่งที่ผ่อนคลายทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เรือเทกอง ค่าระวาง และมาตรการในการตรวจสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือ อย่างไรก็ตาม ระดับราคาส่งออกข้าวไทยที่ยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีน ที่เร่งระบายสต็อกข้าวเก่า จึงยังเป็นปัจจัยท้าทายที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน (ภาพที่ 9)
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 อุตสาหกรรมข้าวไทยยังเติบโตสูง ทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์
แนวโน้มอุตสาหกรรม
-
ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.0-3.5% ต่อปี ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.0-34.2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22.1-22.2 ล้านตันข้าวสาร โดยมีแรงหนุนจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ยังเอื้ออำนวย ระดับราคาข้าวที่สูงและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่/เพิ่มรอบการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2567-2568 ผลผลิตมีทิศทางหดตัวเล็กลง (-1.5)-(-2.0)% ลงมาอยู่ที่ระดับ 32.0-32.5 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 20.8-21.1 ล้านตันข้าวสาร (ภาพที่ 13) โดยมีปัจจัยท้าทายจาก 1) แนวโน้มปรากฏการณ์ El Niño ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2566 และคาดว่าจะคงอยู่ต่อราว 1-2 ปี (ภาพที่ 14) ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง 2) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาปุ๋ยทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการใช้ปุ๋ยซึ่งอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง อย่างไรก็ตาม แรงหนุนจากมาตรการสนับสนุนภาครัฐ อาทิ โครงการประกันรายได้ แผนรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมข้าว มาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต และแผนการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับภาคเกษตร17/ ยังคงจูงใจให้เกษตรกรบางรายขยายการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง
-
ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น 0.8-1.0% ต่อปี จากระดับ 11.5 ล้านตันข้าวสารในปี 2565 (2564/2565) สู่ระดับ 11.7-11.9 ล้านตันในปี 2568 โดยมีปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หนุนความต้องการจากร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่จะมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารมากขึ้น
-
การส่งออกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 11.0-12.0% ต่อปี จากระดับ 7.7 ล้านตันในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 8.0-11.0 ล้านตันต่อปี โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ 1) ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในทวีปเอเชียที่น่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในปี 2567-2568 และ 2) ความต้องการสต็อกอาหารของโลกที่คาดว่าน่าจะยังคงมีต่อเนื่องจากภาวะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ
1/ สัดส่วนเนื้อที่ปลูกข้าวต่อเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
2/ จำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวนาปีและนาปรังปี 2564/65 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3/ ผลผลิตข้าวปี 2565 คำนวณจากข้าวนาปรังและข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 2564/65
4/ ข้าวนาปี จะใช้พันธุ์ข้าวที่ออกดอกตามเดือนที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากใช้ช่วงของปริมาณแสงแดดในแต่ละวันเป็นตัวกำหนดการเติบโต ดังนั้น เมื่อช่วงเวลาแสงแดดของวันสั้นลง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ข้าวนาปีจะเปลี่ยนจากการเจริญเติบโตทางลำต้นมาเป็นเจริญพันธุ์ (ออกรวง) ข้าวประเภทนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า ข้าวไวแสง ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก อาทิ ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 และปราจีนบุรี1 ขณะที่ข้าวนาปรัง เป็นนาข้าวที่ทำนอกฤดูทำนา แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก เป็นข้าวที่ออกรวงตามอายุ (เฉลี่ย 90-150 วัน) ซึ่งไม่ว่าจะปลูกเมื่อใดพอครบอายุก็จะเก็บเกี่ยวได้ พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก อาทิ พิษณุโลก2 สุพรรณบุรี1 ปทุมธานี1 และชัยนาท1
5/ พื้นที่ชลประทานหลักของไทย (สัดส่วน 80-90% ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด) รับน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
6/ สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะทำการเพาะปลูกข้าวนาปีช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ส่วนข้าวนาปรังจะเพาะปลูกช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน
7/ ที่มา : แผนปฏิบัติงานแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66
8/ ปัจจุบันไทยมีแบรนด์ข้าวถุงมากกว่า 100 แบรนด์ ที่จดทะเบียนกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และมีผู้ส่งออกข้าว โรงสีข้าว ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มชุมชน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนทำข้าวถุง เข้ามาทำตลาดและทำแบรนด์ข้าวถุงของตัวเองมากขึ้น
9/ House Brand คือ สินค้าที่ใช้ตราสินค้าของร้านค้า โดยทั่วไปหมายถึง ร้านค้าปลีกที่จ้างให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าในแบรนด์ของร้านค้าปลีก โดยสินค้าเฮาส์แบรนด์ส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำกว่าสินค้ามียี่ห้อหรือ National Brand
10/ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง (Food/Drink/Tobacco Specialists) เช่น ร้านเบเกอรี่ ร้านผักผลไม้สด เป็นต้น
11/ ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำข้าวเปลือกมาแช่ในน้ำจนมีความชื้นประมาณ 30-40% แล้วนึ่งหรือต้มจนสุก จากนั้นจึงนำมาทำให้แห้ง (Dehydration) แล้วจึงสีเอาเปลือกออก การทำข้าวนึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพการสีข้าว ทำให้ข้าวหักน้อยลงและปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว เพราะสารอาหารจากชั้นเปลือกจะซึมเข้าไปในเนื้อระหว่างขั้นตอนการแช่ข้าวและการนึ่งข้าว จึงทำให้ข้าวที่ได้มีสีเหลืองอ่อน
12/ ปลายข้าว คือ ข้าวที่ได้จากข้าวที่หักระหว่างกระบวนการผลิต โดยเมล็ดข้าวหักจะมีความยาวตั้งแต่ 2.5 ส่วนขึ้นไป รวมถึงเมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ทั้งนี้ ปลายข้าวส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตข้าว 25% อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆที่ใช้ปลายข้าว อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แป้ง และเบียร์ เป็นต้น
13/ ตัวอย่างคุณภาพข้าวของไทย อาทิ 1) ข้าว 100% เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งตามมาตรฐานของข้าว 100% จะมีข้าวหักปนเพียงเล็กน้อย เช่น ข้าวขาว 100% ชั้น 1 มีข้าวหักปนได้ไม่เกิน 4% 2) ข้าว 5% มีข้าวหักปนอยู่ 5-7% 3) ข้าว 25% มีข้าวหักปนอยู่ 25-28% เป็นต้น (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ. 2540)
14/ ส่วนใหญ่เป็นข้าวกล้อง ที่เหลือเป็นข้าวอื่นๆ ซึ่งเป็นข้าวเปลือกเพื่อการเพาะปลูก
15/ คำนวนจากจำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวนาปีรวมกับผู้ปลูกข้าวนาปรัง อ้างอิงข้อมูลจำนวนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
16/ อินเดียระงับการส่งออกข้าวหัก และกำหนดอัตราภาษีส่งออกข้าวหลายประเภท อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวกึ่งขัดสี และข้าวขาวที่ 20% (ยกเว้นข้าวนึ่งและข้าวบาสมาติ)
17/ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6) การบริหารจัดการ