ประหยัดภาษีให้เงินออมงอกเงยด้วยกองทุนรวม
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ประหยัดภาษีให้เงินออมงอกเงยด้วยกองทุนรวม

icon-access-time Posted On 28 พฤศจิกายน 2559
By Maibat
เคยสังเกตไหมครับว่า เวลาซื้อของก่อนได้รับสินค้าจะถูกหักภาษี เวลาเงินเดือนออกก่อนได้รับเงินเข้าบัญชีจะถูกหักภาษี เวลาชิงโชคก่อนได้รับของรางวัลก็จะถูกหักภาษี เห็นได้ชัดเลยว่าแทบทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินล้วนมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราการออมทำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อมาใช้พัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
อีกมุมหนึ่ง สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาอัตราการออมต่ำจนไม่สามารถเกษียณแบบพึ่งตนเองได้ ผู้สูงอายุบางส่วนในยามเกษียณต้องหวังพึ่งลูกหลานเลี้ยงหรือขอสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งแนวโน้มสวัสดิการไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปีและอัตราการเกิดลดลง สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้คนเห็นความสำคัญของการออมเงินระยะยาวไว้ใช้ยามเกษียณ เช่น การนำดอกเบี้ยบ้าน ยอดซื้อประกันชีวิต ยอดซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
ผมคิดว่าทางออกที่ทำให้เรามีอัตราการออมสูงขึ้นและภาครัฐก็มีเงินไปใช้พัฒนาประเทศ คือ การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ เปลี่ยนเงินออมให้เป็นเงินลงทุนระยะยาว แม้ว่าภาครัฐจะเสียรายได้จากภาษีเงินได้บางส่วนไปแต่อนาคตจะได้รายได้จากภาษีเงินลงทุนมาชดเชย นอกจากนี้วิธีการแสวงหารายได้เพิ่มก็ทำให้ฐานภาษีขยายตัวมีเงินไปเสียภาษีเพิ่มขึ้นและหากควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีก็จะทำให้อัตราการออมเพิ่มขึ้นด้วย โดยตัวช่วยประหยัดภาษีสูงสุด ไม่ควรมองข้ามไป คือ กองทุน LTF และกองทุน RMF มีลักษณะโดดเด่นอย่างไรตามมาดูกันครับ

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) คือ กองทุนที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ภายในระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน ไม่บังคับซื้อทุกปี ซื้อปีไหนก็นำไปลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท ด้านความเสี่ยงมีโอกาสขาดทุนต้องดูตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้หรือไม่
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คือ กองทุนที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งกองทุนนั้น ๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น น้ำมัน หรือทองคำ เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนอย่างน้อยปีเว้นปีต่อเนื่องจนถึงอายุครบ 55 ปี และปีที่ลงทุนต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ซื้อปีไหนก็นำไปลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้โดยนับรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญ หรือไม่เกิน 500,000 บาท ด้านความเสี่ยงมีโอกาสขาดทุนต้องดูตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้หรือไม่
หาก เปรียบเทียบกองทุน LTF กับ กองทุน RMF จะเห็นได้ชัดว่า LTF มีเงื่อนไขน้อยกว่าโดยเฉพาะไม่บังคับซื้อในปีถัด ๆ ไป และระยะเวลาครบกำหนดขายสั้นกว่ามาก แต่ LTF มีทางเลือกในการลงทุนน้อยกว่าเพราะต้องลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% อย่างไรก็ตามด้วยข้อดีของ LTF ดังกล่าว คนส่วนใหญ่จึงนิยมลงทุนใน LTF มากกว่า RMF ถึงจุดนี้มาดูกันครับว่ากองทุนลดหย่อนภาษีที่ผมแนะนำมีอะไรบ้าง

กองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่


กองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ สำหรับผู้ที่เคยซื้อขายกองทุน


  • กองทุน LTF SET50 เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ถูกคัดเลือกอยู่ในดัชนี SET50 เท่านั้น โดยลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของสินทรัพย์สุทธิ เหมาะกับคนที่เน้นลดหย่อนภาษีและแสวงหาผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาว SET50 (KFLTF50)
  • กองทุน LTF หุ้นปันผล เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นปันผลสูงเป็นหลัก โดยลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของสินทรัพย์สุทธิ เหมาะกับคนที่เน้นลดหย่อนภาษีและแสวงหาผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ในรูปเงินปันผลมากกว่าความเคลื่อนไหวราคา ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล (KFLTFDIV)
  • กองทุน RMF แบบผสม เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ โดยสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนตามสถานการณ์ เหมาะกับคนที่เน้นลดหย่อนภาษีและแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมตามสถานการณ์โดยให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณา ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดกรุงศรีทวีทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFTSRMF)
สุดท้ายนี้อยากแนะนำให้ติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมเป็นระยะอย่างน้อยปีละครั้งหรือทุกครึ่งปี หากผลตอบแทนไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ก็สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ในกองทุนประเภทเดียวกันโดยยังคงได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี เช่น สับเปลี่ยนกอง RMF จาก KFGOVRMF เป็น KFTSRMF โดยไม่ควรเปลี่ยนบ่อยจนเกินไปอาจสับเปลี่ยนไม่เกินปีละ 1 - 2 ครั้งเท่านั้นครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา