อะไรคือ Blue Monday: วันจันทร์หลังปีใหม่ที่เขาว่าเศร้าที่สุดของปี จริงรึเปล่า?

อะไรคือ Blue Monday: วันจันทร์หลังปีใหม่ที่เขาว่าเศร้าที่สุดของปี จริงรึเปล่า?

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
อะไรคือ Blue Monday: วันจันทร์หลังปีใหม่ที่เขาว่าเศร้าที่สุดของปี จริงรึเปล่า?

ถ้าพูดถึงคำว่า Blue Monday บางคนอาจจะนึกไปถึงเพลงฮิตปี 1986 จากวง New Order แต่จริง ๆ แล้ว Blue Monday ยังเป็นคำที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 2005 ซึ่งเอาไว้เรียกวันที่เศร้าที่สุดของปีอีกด้วย!
เพราะนอกจากวันจันทร์จะเป็นวันเริ่มงานที่ทำให้หลายคนรู้สึกนอยกันอยู่แล้ว แต่วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม (ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565) จะถูกเรียกว่า “Blue Monday” ซึ่งถูกขนานนามว่าจะเป็นวันที่คนเราจะเศร้าที่สุดของปี โดยคำคำนี้ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกในบทความของบริษัทท่องเที่ยวที่ใช้ชื่อว่า Sky Travel เมื่อปี 2005 ซึ่งทีมการตลาดของบริษัท Sky Travel ได้สุมหัวประชุมกับนักจิตวิทยา และไลฟ์โค้ชชาวอังกฤษที่ชื่อว่า Dr.Cliff Arnall จากมหาวิทยาลัย Cardiff University และสร้างสูตรในการหาวันที่เศร้าที่สุดของปี โดยใช้ข้อมูลอย่าง สภาพอากาศ (บทความถูกตีพิมพ์ในอังกฤษ ซึ่งเป็นฤดูหนาว), สภาพคล่องทางการเงินของประชาชน, สภาวะขาดแรงจูงใจหลังช่วงเทศกาล, ความรู้สึกท้อแท้หลังไม่สามารถทำปณิธานปีใหม่ได้สำเร็จ และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อใช้ระบุว่า วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคมนี่แหละ ที่จะเป็นวันที่คนเรารู้สึกเศร้า และห่อเหี่ยวที่สุดของปี
การที่ทีมการตลาดตัดสินใจตีพิมพ์คำว่า “Blue Monday” และพยายามสร้างกระแสของสิ่งนี้นั้นก็เป็นเพราะความเชื่อที่ว่า ยิ่งผู้คนรู้สึกเศร้า และห่อเหี่ยวมากเท่าไร พวกเขาก็มีความรู้สึกอยากจะจองตั๋วไปเที่ยวมากเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังมีองค์กรหลายที่ที่ใช้ความหมายของ Blue Monday เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขายผลิตภัณฑ์อย่างอุปกรณ์ออกกำลังกาย โรงแรม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการพัฒนาตนเอง เพื่อลดความเครียดนั่นเอง
แต่สุดท้ายกระแสของ Blue Monday ก็ถูกแหกโดยนักจิตวิทยา Dean Burnett (ที่มาจากมหาวิทยาลัย Cardiff University ที่เดียวกับคุณ Cliff Arnall ด้วย) ซึ่งออกมาต่อต้านกระแส Blue Monday และระบุว่าทฤษฎี Blue Monday นี้เป็นเพียง Pseudoscience (วิทยาศาสตร์เทียม) และยังเป็นการด้อยค่าอาการของคนเป็นโรคซึมเศร้าด้วยซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่เผชิญภาวะซึมเศร้าจริง ๆ
ซึ่งภายหลังในปี 2016 Dr.Cliff Arnall ผู้ก่อตั้งคำว่า Blue Monday เองนั้นก็จอยกรุ๊ปการต่อต้าน Blue Monday ด้วยการยอมรับว่าไอเดียของเขานั้นควรถูกตั้งคำถาม และร่วมเข้าแคมเปญ #STOPBlueMonday เพื่อสนับสนุนให้คนล้มเลิกความเชื่อว่าตัวเองต้องเศร้าทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม และหันมาใส่ใจตนเองเพื่อสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
แต่ Blue Monday ก็ไม่ได้สร้างความเศร้าเพียงอย่างเดียว เพราะมูลนิธิ Samaritans ของอังกฤษและเวลส์ได้จัดตั้งแคมเปญที่ล้อกับ Blue Monday ในชื่อ ‘Brew Monday’ เพื่อชวนให้คนหันมานัดเจอพบปะเพื่อน หรือคนในครอบครัวที่อาจจะกำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าในช่วงเดือนมกราคม ให้มานั่งจิบชา หรือดื่มกาแฟด้วยกัน (ตามกิมมิคของคำว่า ‘Brew’) ในวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนเราหันมารับฟังปัญหา และซัพพอร์ตกันและกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากคุณแอบรู้สึกเศร้า และนอย ในช่วงเดือนมกราคมจริง ๆ (และบางทีอาจจะเป็นหนักในวันจันทร์ที่ต้องเริ่มงานด้วย) นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณกำลังเผชิญหน้ากับอาการของ Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลซึ่งมีอยู่จริง ๆ หรือหากคุณกำลังเผชิญภาวะทางสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ อย่าลืมหาคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ และหมั่นเช็กสุขภาพใจของตัวเองกันด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow