“เกษียณ” คำที่หลาย ๆ คนปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วสักวันก็ต้องมาถึง วันที่เราต้องหยุดทำงาน และเดินทางเข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต ในตอนนี้บางคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าชีวิตในช่วงสุดท้ายของเรานั้นจะเป็นอย่างไร? แต่มีสิ่งสำคัญอย่างนึงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นก็คือ เราจะไม่มีรายได้ ในขณะที่เราจะยังมีค่าใช้จ่ายอยู่เหมือนเดิม หรือบางครั้งอาจจะมากกว่าเดิม เนื่องมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่ตามมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของ 1 ในสิ่งที่เราทุกคนต้องเตรียมไว้สำหรับวัยเกษียณ ก็คือ ‘การวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณอายุ’
ถ้าจะมาพูดถึงเหตุผลที่การวางแผนเกษียณอายุนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะว่า ช่วงเวลาหลังจากที่เราเกษียณอายุเป็นช่วงเวลาที่รายได้ของเราจะเปลี่ยนจาก “เงินเดือน” มาเป็น “เงินเก็บ” ของเราแทน และเราจะต้องใช้เงินก้อนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นหากเราไม่ได้มีการวางแผนตั้งแต่วันนี้ วันที่เรายังคงสามารถหารายได้เข้ามาได้อยู่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินเก็บของเราจะมีเพียงพอให้เราใช้จ่ายไปได้ตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ
จะเกษียณทั้งทีต้องรู้อะไรบ้าง?
สิ่งแรกที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเลย ก็คือ เราอยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่? เกษียณแล้วอยากใช้ชีวิตแบบไหน? อยากทําอะไร? และที่สําคัญ คือ ต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไหร่? เราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อนนะครับ เพราะคำตอบที่ได้จะกลายมาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของเรา ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน คุณมีอายุ 35 ปี ต้องการเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุอยู่ถึง 85 ปี โดยจะใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 300,000 บาทต่อปี ดังนั้นคุณจะต้องมีเงินทั้งหมด ณ วันที่เกษียณ เท่ากับ 300,000 x 25 คิดเป็นเงินทั้งหมด 7,500,000 บาท แต่...
ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อเงินเกษียณ?
ฟังดูแล้วจำนวนเงินหลังเกษียณของเราที่ต้องเตรียมนั้นก็ดูไม่น่าจะเยอะเท่าไหร่ใช่ไหมครับ? แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยที่สำคัญ อีก 2 ข้อที่เราต้องนำมาพิจารณาด้วยครับ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้ ซึ่งทำให้เงินของเราใช้ซื้อของได้น้อยลงในอนาคต อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ สินค้าชิ้นหนึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นจากในอดีต เช่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม เมื่อ 50 ปีที่แล้วราคา 1 บาท ปัจจุบันราคา 40 บาท จะเห็นได้ว่าราคาก๋วยเตี๋ยวแพงขึ้น นั่นก็คือ ‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งทำให้อำนาจการซื้อของเราลดลง
- เงินออมตั้งต้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน และระยะเวลาที่เหลือก่อนเกษียณ โดยทั้ง 3 ปัจจัยจะเป็นตัวกำหนดภาระในการเก็บออมเพื่อการเกษียณของเรา
แล้วต้องเก็บเงินอย่างไร?
เมื่อเรารู้เป้าหมายของเราแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การตรวจสอบเงินออมที่เรามีทั้งหมดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เงินฝากธนาคาร, กองทุนประกันสังคม,, สหกรณ์, ประกันชีวิต, กองทุน SSF RMF, หุ้น, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น จากนั้นลองนำมาคำนวณหักลบกับจำนวนเงินเป้าหมายที่เราต้องเตรียม หากเราพบว่า เงินที่เราออมไว้ยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการอยู่มาก ก็ต้องเร่งวางแผนเก็บออมเงินมากขึ้น โดยพิจารณาเลือกแผนการเก็บออมเงินจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างควบคู่กันไป เช่น ระยะเวลาที่เหลือก่อนเกษียณ อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด เมื่อเราวางแผนเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามแผนอย่างมีวินัย พร้อมทั้งคอยติดตามและทบทวนแผนการเงินของเราเป็นประจำทุกปีด้วย
พอร์ตเกษียณของเราหน้าตาเป็นอย่างไร?
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะขอยกตัวอย่างของนาย A ที่ต้องเตรียมเงินเกษียณจำนวน 7,500,000 บาท โดย ณ วันนี้ นาย A ยังไม่ได้มีการเตรียมเงินไว้เลย แล้วนาย A จะสามารถจัดพอร์ตเกษียณอย่างไรได้บ้าง เรามาเริ่มดูไปพร้อมกันเลยนะครับ
- พอร์ตเกษียณแบบที่หนึ่ง หากนาย A เลือกที่จะเก็บออมในเงินฝากที่ให้ผลตอบแทน 1 % ต่อปี เป็นเวลา 25 ปี เพื่อให้มีเงิน ณ วันเกษียณ 7,500,000 บาท นาย A ต้องฝากเงินปีละประมาณ 270,000 บาท ถ้าออมแบบทยอยสะสมทุกเดือนตกเดือนละ 22,200 บาท
- พอร์ตเกษียณแบบที่สอง หากนาย A เลือกที่จะเก็บออมในกองทุนรวมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 8 % ต่อปี เป็นเวลา 25 ปี เพื่อให้มีเงิน ณ วันเกษียณ 7,500,000 บาท นาย A ต้องฝากเงินปีละประมาณ 103,000 บาท ถ้าออมแบบทยอยสะสมทุกเดือน ตกเดือนละ 8,000 บาท
จะเห็นได้ว่า หากนาย A มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณ และได้ Money Mentor จาก
Krungsri Plan Your Money มาช่วยให้คำปรึกษาในการวางแผน การเก็บเงินเพื่อการเกษียณนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
สุดท้ายแล้วที่เค้าบอกกันว่า “ที่สุดแห่งความเสียดาย คือ ตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด แต่ที่สุดแห่งความสลด คือ ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย" นั้นเป็นเรื่องจริงเสมอ ดังนั้นหากเราไม่อยากเจอกับเหตุการณ์อย่างหลัง เราต้องรู้จักตัวเอง มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง อย่าขาดวินัยเรื่องการออม รวมถึงการศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอและติดตามทบทวนการลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น และไม่ใช้เงินเกินตัว เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถประสบความสำเร็จทางด้านการเงินได้อย่างแน่นอน
หากคุณสนใจที่จะลงทุนในกองทุนสนใจด้านการวางแผนการเงิน และต้องการคำแนะนำ สามารถปรึกษากับ Money Mentor จาก Krungsri Plan Your Money ได้ที่เบอร์ 1572 กด 5 จ.-ศ. เวลา 9.00 – 17.00 น. หรือติดต่อทาง
เว็บไซต์ Plan Your Money กรอกชื่อเบอร์โทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ
ทดลองจัดพอร์ตตามสไตล์การลงทุน เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคงในวัยเกษียณของคุณได้ที่นี่