สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทวีความรุนแรงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกในภาพรวม ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจโลก (Fragmentation) การแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ ทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มจับมือกันมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ และกลุ่มประเทศ “บริกส์” (BRICS) เป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจใหม่ ที่จะก้าวขึ้นมาต่อกรกับสหรัฐฯ ภายใต้สงครามการค้าครั้งนี้ได้หรือไม่ และส่งผลต่อการค้า การลงทุนโลกอย่างไร บทความนี้จะพาไปหาคำตอบ
รู้จัก BRICS กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาเร็วที่สุดในโลก
BRIC เป็นอักษรย่อของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และ จีน (China) ชื่อย่อนี้ถูกบัญญัติโดย จิม โอนีลล์ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจากโกลด์แมน แซคส์ ที่มองเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดประเทศเกิดใหม่นี้ โดยประเทศทั้งสี่ข้างต้น มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของจำนวนประชากรโลก ช่วงหลังได้เพิ่มประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) เข้ามากลายเป็น BRICS ในปัจจุบัน และมีสมาชิกใหม่อีก 4 ชาติ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งไทยได้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในฐานะประเทศหุ้นส่วน มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2568
BRICS ถือเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก เพราะไม่เพียงมีสมาชิกเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียเท่านั้น แต่ยังมีประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล ในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ กลุ่ม BRICS มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 28% ของมูลค่ารวมเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ
ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกคิดเป็น 44% ของการผลิตทั้งหมดอีกด้วย
ท่าทีของกลุ่ม BRICS นั้น ชัดเจนว่าต้องการคานอำนาจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะลดการพึ่งพาสกุลเงินสหรัฐฯ โดยชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank หรือ NDB) ขึ้นเพื่อให้เงินกู้แก่ประเทศที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ โดย BRICS ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่
- การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลก เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้มีบทบาทมากขึ้น
- ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ลดการพึ่งพาสกุลเงินสหรัฐฯ
- การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือก ทั้งในด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุนเพื่อพัฒนา
BRICS ขยายเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มอำนาจต่อรองสหรัฐฯ
การประชุม BRICS Summit 2024 ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการขยายเครือข่ายพันธมิตรของกลุ่ม BRICS จากเดิมมี 9 ประเทศ รับประเทศหุ้นส่วนเพิ่มอีก 13 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การขยายพันธมิตรทำให้ BRICS มีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งขนาดเศรษฐกิจ ขนาดประชากร การค้า และการถือครองทรัพยากรพลังงานของโลก
นอกจากนี้ ผลจากการประชุม BRICS Summit 2024 หรือที่เรียกว่า
“ปฏิญญาคาซาน” (Kazan Declaration) เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศกับกลุ่ม BRICS และคู่ค้า ปัจจุบันการค้าขายระหว่างกลุ่ม BRICS ด้วยกันเอง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่สกุลเงินหยวนมีการใช้งานเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 1.9 เป็น 5.95% ในปี 2567
- พัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่ทางเลือก BRICS Pay แพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
- จัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืชหรือ BRICS Grain Exchange เพื่อให้ชาติสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองได้โดยตรง เนื่องจากประเทศสมาชิก BRICS ทั้ง 9 ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลิตธัญพืชคิดเป็น 42% ของการผลิตโลก และบริโภคธัญพืชถึง 40% ของการบริโภครวมของโลก โดย BRICS Grain Exchange จะเริ่มจากการซื้อขายธัญพืช ก่อนที่จะขยายไปยังสินค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และโลหะ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกลุ่ม BRICS ในการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการท้าทายชาติตะวันตกโดยตรง ทำให้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่จะใช้มาตรการทางภาษีกับกลุ่มประเทศดังกล่าวทันที ทั้งนี้อาจได้เห็นมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น หลังทรัมป์บริหารประเทศในระยะต่อไป
โอกาสและความท้าทายของไทยในกลุ่ม BRICS
การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม
BRICS ของไทย จะเป็นโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม
BRICS เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และจะได้รับประโยชน์ดังนี้
- ช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน
- ช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
- ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ ครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ความยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
BRICS เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทย เพราะแม้ว่าไทยจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม แต่การพึ่งพาการส่งออกกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ไทยต้องรักษาท่าทีในข้อตกลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอาจอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งชาติตะวันตกได้ ดังนั้นต้องจับตาดูพัฒนาการของกลุ่ม BRICS อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ผู้สนใจการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ กรุงศรีขอแนะนำกองทุนที่น่าสนใจ ดังนี้
กองทุนเปิดเคเคพี EMERGING MARKETS EX CHINA - HEDGED (KKP EMXCN-H)
- เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นจีน ครอบคลุมบริษัทชั้นนำ เช่น TSMC บริษัทผลิตชิปจากไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้
- แสวงหาการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว และกระจายการลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่หลากหลายประเทศ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนหลักอยู่ใน 3 ตลาดใหญ่อย่าง อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้
- เหมาะสำหรับนักลงทุนที่แสวงหาการเติบโตระยะยาวและกระจายการลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่หลากหลายประเทศ
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การเกิดขึ้นของ BRICS กลุ่มพันธมิตรใหม่ที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระดับโลกที่ KRUNGSRI PRIME มีที่ปรึกษาการลงทุนในกองทุนรวม ที่ตอบโจทย์ทุกสภาวะตลาดการลงทุน ช่วยคุณตัดสินใจ ทั้งจังหวะการเข้าซื้อ - ขายกองทุนรวม รวมทั้งทำหน้าที่อัปเดตทุกความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจของตลาดกองทุนรวม เพียงโทร. 02-296-5959 (จันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 17.00 น.) หรือ
ฝากข้อมูลให้ติดต่อกลับ
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- KKP EMXCN-H เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่กองทุนลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย