รู้จัก 10 ‘Soft Skills’ สร้างจุดต่างธุรกิจ บนกระแส ‘Disruption’

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
07 มีนาคม 2566
รู้จัก 10 ‘Soft Skills’ สร้างจุดต่างธุรกิจ บนกระแส ‘Disruption’
ปัจจุบันทักษะการทำงานแบบ Soft Skill เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีอย่างมากในยุคนี้ เดิมจะโฟกัสแค่ Hard Skill หรือความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งความถนัดในวิชาชีพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากปีที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับกระแสการดิสรัปชัน (Disruption) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อีกทั้ง New Normal ที่เป็นปัจจัยเร่งในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว และมองหาสิ่งที่จะสามารถต่อยอดได้ในอนาคต

ธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตลอดเวลาจากธุรกิจรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาท นำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน เช่น
  • Netflix ที่ดิสรัปธุรกิจโรงภาพยนตร์
  • Grab ดิสรัปธุรกิจรถแท็กซี่
  • AirBnB ดิสรัปธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

ซึ่งในวงการธุรกิจก็เหมือนเป็นการฉีกกฎในการทำการตลาดแบบเดิม เพื่อให้ตรงกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา หากธุรกิจไหนไม่มีการปรับตัวก็มีโอกาสสูงที่จะถูกกลืนหายไป การสร้างขีดความสามารถใหม่ทั้งผู้บริหารและคนทำงานทุกระดับจึงจำเป็นต้องมีทักษะการทำงานที่ช่วยสร้างคุณค่าและต่อยอดโอกาสในการใช้ชีวิตทุกมิติในยุคนี้ ดังนั้นการเพิ่มทักษะแบบ Soft Skill ให้คนในองค์กรก็จะช่วยนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
 
อะไรคือ Soft Skill
 

อะไรคือ Soft Skill?

Soft Skill คือ ทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เป็นความสามารถด้านอารมณ์ รวมไปถึงอุปนิสัย บุคลิกภาพ ทัศนคติ ที่ใช้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยจะขอยกตัวอย่างที่เราคุ้นหูกันอยู่แล้ว เช่น ทักษะการพูดคุยสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม, การสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่น, ความคิดสร้างสรรค์, การแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีมนุษยธรรม เป็นต้น
 

Hard skill vs soft skill ต่างกันอย่างไร

หากจะถามว่าทำไมต้องเพิ่ม Soft Skill ก็ต้องมาดูกันว่าความต่างระหว่าง Soft Skill กับ Hard Skill เป็นอย่างไร โดยความหมายของ Hard Skill หมายถึงทักษะหรือความสามารถในการใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการทำงานแต่ละสายอาชีพ ซึ่งสามารถประเมินและวัดผลได้ เช่น การอ่าน การเขียน การวาดภาพ การทำอาหาร หรือการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น โดยหลักการแยกทักษะ Hard Skill หรือ ทักษะ Soft Skill มีดังนี้
 
Hard Skills vs Soft Skills

ยกตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของพนักงานบัญชี ต้องมี Hard Skill ความรู้ในการทำบัญชี อย่าง โปรแกรม Excel ส่วน Soft Skill ที่นักบัญชีควรมีอย่างทักษะการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง และการบริหารเวลา เป็นต้น กล่าวคือการมีทักษะทั้ง 2 อย่างนี้ควบคู่กันมีความสำคัญมากต่อการทำงานของคนสมัยนี้ เนื่องจากการทำงานเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ก็จะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพและสร้างปัญหาให้องค์กรภายหลัง ดังนั้นหากคนทำงานหรือผู้บริหารคนนั้นมี Soft Skill ที่ดีก็จะทำให้มีโอกาสเลื่อนขั้น เติบโต และนำพาองค์กรให้ก้าวหน้าไปได้ไกลนั่นเอง
 
ทักษะ Soft Skill
 

10 Soft Skills ที่มีไว้ได้เปรียบกว่า เพื่อสร้างจุดต่างทางธุรกิจ

 

ทักษะการสื่อสาร (Communication)

การทำงานหากการสื่อสารไม่ดี ย่อมก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสับสน เสียเวลา และเสียทรัพย์สินได้ ไม่ว่าจะองค์กรไหน ๆ จะระดับพนักงาน หรือเจ้าของธุรกิจเอง ทักษะการสื่อสารก็ควรจะเป็น Soft Skill พื้นฐานที่ควรมีอย่างยิ่ง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมให้งานดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น และช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น โดยทักษะนี้สามารถฝึกได้จากการเริ่มเรียงลำดับการเล่าเรื่อง เน้นใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่อสาร เลือกระดับภาษาที่เหมาะสมกับผู้ฟัง อาจจะมีการใช้ท่าทางประกอบเพิ่มเติม นอกจากนี้การเป็นผู้ฟังที่ดีก็จำเป็น และควรจับใจความสำคัญของผู้พูดให้ได้ด้วย เป็นต้น
 

ทักษะการบริหารเวลา (Time Management)

ยุคนี้นอกจากอาชีพหลักแล้ว บางคนก็มีอาชีพรอง อาชีพเสริมจึงทำให้ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการเวลาให้เป็น เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เทคนิคง่าย ๆ ที่แนะนำก็คือ การวางแผนจัดลำดับความสำคัญ กำหนดระยะเวลาเสร็จงาน ทำ To Do List สิ่งที่ต้องทำเพื่อเห็นภาพรวมของงานเพื่อป้องกันการลืม และที่ขาดไม่ได้เลย คือ การมีวินัย สม่ำเสมอ และต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นนิสัย
 

ทักษะการปรับตัว (Adaptability)

ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเข้ากับสังคม การรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะมนุษย์แต่ละคนที่มีนิสัยต่างกัน ความคิดต่างกัน การทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร หรือการปรับตัวให้ทันตามโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว สามารถเริ่มจากการสังเกตบรรยากาศรอบตัว ทั้งน้ำเสียง ท่าทางคนรอบข้าง เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีความยืดหยุ่นไม่ยึดติดกับอะไรเดิม ๆ
 

ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)

ในการทำงานบางครั้งย่อมต้องมีการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายสำเร็จได้อย่างลุล่วง แถมยังได้แชร์ความคิดเห็น ไอเดีย และมุมมองความคิดใหม่ ๆ ให้งานดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว การจะฝึกทักษะนี้ควรเริ่มจากการมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน ช่วยกันหาวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย กล้าที่จะแลกเปลี่ยนไอเดียของตนเอง รับฟังความคิดเห็นของคนในทีมอย่างเปิดใจ และทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของตัวเองอย่างเต็มที่ หากมีความรู้ก็ควรนำมาแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 

ทักษะการจูงใจ โน้มน้าว และต่อรอง (Negotiation and Persuasion)

คนส่วนใหญ่มักมองว่าทักษะนี้เหมาะกับคนที่ทำงานขายหรืองานบริการ แต่จริง ๆ แล้วทักษะนี้จำเป็นมากกับทุกสายงาน เพราะการมีศิลปะในการพูด สามารถพูดจูงใจ โน้มน้าว หรือต่อรองได้ จะเป็นตัวช่วยให้เป็นต่อในการทำงาน และช่วยให้เติบโตในสายอาชีพได้เร็ว เช่น หากต้องการเสนอบริการด้านการเงินที่ดีให้แก่ลูกค้า แม้สินค้าหรือบริการจะดีแค่ไหนหากขาดทักษะการโน้มน้าวที่ดีก็อาจจะทำให้ลูกค้าใช้เวลาตัดสินใจนานกว่าเดิม และมีโอกาสพลาดสูง ซึ่งทักษะนี้สามารถฝึกฝนได้จากการฟังความต้องการของอีกฝ่าย ทำความเข้าใจข้อเสนอหรือข้อเรียกร้อง พร้อมคิดหาวิธีการตอบกลับอย่างมีเหตุผลเพื่อโน้มน้าวความคิดของอีกฝ่าย ที่สำคัญต้องสร้างบุคลิกเพื่อเสริมความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการวางตัว ท่าทาง น้ำเสียง และคำพูด
 

ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ไม่เฉพาะสายงานอาร์ตเท่านั้นที่ต้องมี แต่ทักษะนี้แฝงอยู่ทุกอาชีพ เพราะความคิดสร้างสรรค์ คือ การสร้างไอเดียใหม่ หรือวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนให้ดีกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น อาชีพครูจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้นักเรียนไม่เบื่อ อาชีพการตลาดก็ต้องใช้ในการออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจดึงดูดลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น ทักษะนี้ฝึกฝนได้จากความอยากรู้อยากเห็น นำความรู้ที่ได้ใหม่มาต่อยอดความรู้เดิม เปิดใจกับวิธีการใหม่เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
 

ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)

ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่บางข่าวก็ปลอม ดังนั้นหากเรารับสารโดยไม่ไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ เชื่อทุกอย่าง อาจทำให้ส่งต่อข้อมูลที่ผิด ๆ ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อประสิทธิภาพงาน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น การฝึกฝนทักษะนี้ควรเริ่มจากการฝึกกระบวนการคิดจากการตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย ค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการจับประเด็นและเรียบเรียงข้อมูล ตีความอย่างมีเหตุผล เพื่อจะได้ประเมินคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
 

ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making)

การตัดสินใจเป็นอะไรที่ต้องทำแทบทุกวัน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน อย่างการกินข้าวอะไรดี ไปจนถึงการตัดสินใจเรื่องที่ใหญ่ ๆ มีผลกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร หัวหน้างาน ถ้าบางเรื่องตัดสินใจล่าช้า ตัดสินใจผิดพลาดก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ หรือโดนตัดหน้าไปก็ได้ ซึ่งหากอยากตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถฝึกฝนโดยเริ่มจากการกำหนดขอบเขตการตัดสินใจ ดูว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียนี้บ้าง แล้วหาทางเลือกและทำความเข้าใจ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแต่ละทางเลือก นำไปประเมินความเสี่ยง แล้วตัดสินใจ
 

ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving)

ความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้เสมอ หากเจอปัญหาหลายอย่างรวมกัน ย่อมทำให้ปัญหาต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น หากมีทักษะนี้จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกันได้ ทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกทักษะนี้เริ่มได้จากการมองภาพรวมของปัญหา ตั้งคำถามเพื่อหาปัญหาและสาเหตุให้เจอ จัดลำดับผลกระทบของปัญหา แล้วคิดหาวิธีแก้ไข และประเมินสถานการณ์ความเป็นไปได้ของทางเลือก
 

ทักษะการมีทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude)

การมีมุมมองหรือทัศนคติเชิงบวก จะช่วยให้สามารถปรับมุมมองความคิดให้ไม่จมอยู่กับความทุกข์หรือปัญหาเดิม ๆ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว รวมถึงช่วยเป็นพลังบวกให้กับคนรอบข้าง ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ในองค์กรลดลง สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานได้ง่ายขึ้น การฝึกฝนทักษะนี้ทำได้จากการเริ่มลองปรับมุมมอง มองหาข้อดีของปัญหานั้น ๆ นำความผิดพลาดที่ได้กลับมาเรียนรู้แล้วนำไปเป็นบทเรียน และหาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก เลือกเอาตัวเองไปอยู่แต่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ฝึกพูดให้กำลังใจตัวเอง มองเห็นคุณค่าของตัวเอง พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

นอกจาก 10 Soft Skills ทักษะข้างต้นที่ควรมีเพิ่มแล้ว การจะเป็นคนที่องค์กรขาดไม่ได้ และเพื่อสร้างจุดต่างทางด้านธุรกิจ การอัพสกิลด้านการเงินก็เป็นอีกคุณสมบัติที่สำคัญไม่แพ้กัน หากต้องการจะเติบโตและประสบความสำเร็จในยุคนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว โดยสามารถอัปเดตข้อมูลด้านการเงิน การลงทุน และสภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าร่วมงานสัมมนาการเงินหรือสัมมนาผ่านทางช่องทางออนไลน์ซึ่งก็มีให้เลือกมากมาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานและทำธุรกิจต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับกระแสดิสรัปชันกันนั่นเอง

ทางธนาคารกรุงศรีมีทีมที่ปรึกษาทางการเงิน การออม และการลงทุนที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะ สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ