ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น ภัยใกล้ตัวที่เกิดได้กับทุกคน

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
29 กุมภาพันธ์ 2567
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น ภัยใกล้ตัว
ปัจจุบันด้วยปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สงคราม ที่เพิ่มมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่โลกต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดใหญ่ครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา อย่าง COVID-19 ทำให้ใครหลาย ๆ คนอาจจะกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้โดยไม่รู้ตัว ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะกลายมาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้ความรู้สึกของการต้องใช้ชีวิตในแต่ละวัน “ยากขึ้น”

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคนที่มีอาการค่อนข้างมาก คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้า จะมีอาการซึมและเศร้าหมองอย่างต่อเนื่อง รู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่สนุกสนาน มีอาการของความเฉื่อย เฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ในบางรายอาจจะมีอาการหนักถึงขั้นไม่เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตอยู่ สุดท้ายอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
 

ภาวะซึมเศร้า ที่หลายคนมองข้าม และไม่รู้ตัว

ภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากมีปัจจัยเสี่ยงที่มากเพียงพอ ดังนั้นโรคซึมเศร้าจึงเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม ควรหมั่นสังเกตอาการทั้งของตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที โดยปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้มีดังนี้
 

1. ปัจจัยทางพันธุกรรม

จากสถิติพบว่า คนที่มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูง หนึ่งในนั้นคือคนที่มีประวัติว่ามีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า ยกตัวอย่างเช่น หากฝาแฝดคนใดคนหนึ่งมีอาการซึมเศร้า ฝาแฝดอีกหนึ่งคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงถึง 80% เช่นกัน
 

2. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือการมีความเครียดสะสม ทั้งจากหน้าที่การงาน สังคมที่อยู่ ปัญหาในครอบครัว หรือการสูญเสียคนรัก สามารถเป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ ยิ่งหากมีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการผิด ๆ เช่น การใช้สารเสพติด ก็จะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมาได้ง่ายขึ้นด้วย
 

3. ปัจจัยทางร่างกาย

การทำงานบกพร่องและความผิดปกติในระบบสารเคมีในสมอง เช่น การลดลงของระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin), นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine), อะเซทิลโคลน (Acetylcholine) และโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ อาจจะส่งผลโดยตรงให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
 

4. ปัจจัยที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย

โรคทางร่างกายเรื้อรัง หรือร้ายแรงหลาย ๆ โรค เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ สามารถมีผลในการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากความท้อแท้ เบื่อหน่ายที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยจากอาการของโรคอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
 

5. ปัจจัยทางพฤติกรรม

ลักษณะนิสัย หรือบุคลิกเฉพาะตัวบางอย่าง เช่น การยึดติดกับความสำเร็จ การเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างจะต้องดูดี ถูกต้องครบถ้วน 100% ซึ่งจริง ๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงส่งผลให้เกิดความเครียดได้มากกว่าคนทั่วไป และนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

สาเหตุข้างต้น เป็นบ่อเกิดให้คนเป็นโรคเครียด เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เข้าสังคม จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หรืออาจจะเป็นโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นแบบไม่รู้ตัว ซึ่งภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ต้องหมั่นสังเกต เพราะจะสังเกตได้ยากกว่าโรคซึมเศร้าทั่ว ๆ ไป
 
รู้ทันอาการซึมเศร้า
   

อาการซึมเศร้า เข้าใจ และรู้ทันได้ไม่ยาก

อย่างที่หลายคนอาจจะทราบกันแล้วว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีความเศร้าที่สังเกตได้ทันที มีอาการของความท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อหน่ายชีวิต ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน หรือไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ เป็นต้น ในขณะที่อาการเบื้องต้นของคนที่เกิดภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) มักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน

ลักษณะอาการที่แสดงออกของผู้ป่วยซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้นดูยากมาก ๆ เพราะยังสามารถพูดคุยทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใสกับคนรอบข้างได้ตามปกติ ในบางรายอาจจะดูร่าเริงกว่าคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ดูเผิน ๆ ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะมีอาการทางร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลัง ปวดหัว ปวดท้อง มีอาการปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ รู้สึกหายใจไม่อิ่มโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นส่วนใหญ่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ไม่มีอาการที่เห็นได้เด่นชัดถึงความผิดปกติ ทำให้ในหลาย ๆ เคส กว่าคนรอบข้างจะรู้ว่าคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้วชัดเจน

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้น ผลของแบบทดสอบส่วนใหญ่จะระบุว่า มักมีอาการของความไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเอง จึงพยายามทดแทนความไม่มั่นใจนั้นด้วยการทำงานหนัก ๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนรอบตัว มักจะทุ่มเททำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันหากผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็จะมีอารมณ์โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว ผิดหวังรุนแรงมากกว่าปกติ จนอาจจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองในที่สุด
 

ทดสอบภาวะซึมเศร้า ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคุณหรือไม่

เนื่องจากปัจจุบันผู้คนในสังคมประสบปัญหาและเป็นโรคซึมเศร้ากันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการออกแบบแบบทดสอบ เพื่อใช้ทดสอบภาวะซึมเศร้าออกมา สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าซ่อนเร้น ก็สามารถลองทำแบบทดสอบได้ โดยเบื้องต้นอาจจะต้องสังเกตตนเองและคนรอบข้างว่ามีอาการดังกล่าวนี้บ้างหรือไม่ เช่น
  • รู้สึกไม่สบายใจ ท้อแท้ เบื่อหน่ายกับทุกสิ่งรอบตัวโดยที่ไม่มีสาเหตุบ่อย ๆ
  • มีอาการของคนนอนหลับไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกว่าหลับได้ยากขึ้น หรืออาจจะหลับมากเกินไปกว่าปกติ
  • รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่มีความอยากอาหาร เบื่อหน่ายการรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเยอะกว่าปกติมาก ๆ
  • ไม่มีสมาธิในสิ่งที่ทำ ไม่สามารถโฟกัสหรือจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ
  • รู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และเป็นภาระให้กับคนในครอบครัว
  • มีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ไม่เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

หรือสามารถเข้าไปทดสอบเบื้องต้นได้ที่ แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการต่าง ๆ อาจจะต้องเริ่มหาแนวทางในการรักษาหรือเข้ารับการทดสอบภาวะซึมเศร้ากับจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคนี้แล้วจริง ๆ จะได้หาทางรักษาให้หายได้รวดเร็ว
 

รับมือกับโรคซึมเศร้าได้ ปลอดภัยทั้งตัวคุณ และคนใกล้ตัว

วิธีรับมือกับอาการโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเกิดจากโรคซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่อันดับแรกจะต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้ และเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการไปพบจิตแพทย์ในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่ารู้สึกกดดัน หรือกลัวสายตาคนอื่นจะมอง โดยเบื้องต้นแล้วการไปพบแพทย์จะเป็นการพูดคุย ทำความเข้าใจกับสภาวะอารมณ์ของตนเอง ระบายสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ หรือปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจจะไม่สามารถพูดคุยกับคนรอบตัวได้

ในบางกรณีเมื่อการพูดคุย ให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อาจจะมีการใช้ยาในกลุ่มแก้อาการซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคนี้ เมื่อรู้ตัวเร็ว และเข้ารับการรักษาทันที ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติในท้ายที่สุด แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ใส่ใจต่อการรักษา อาจจะส่งผลให้การรักษาทำได้ยากมากกว่าเดิม
 
วิธีบริหารจิตใจ ป้องกันโรคซึมเศร้า
 

5 วิธีบริหารจิตใจ ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า

การป้องกันโรคซึมเศร้าเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา ต้องดูแลตัวเองทั้งกายและใจเพื่อสุขภาพจิตที่ดี และต้องระลึกเสมอว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคนอีกมากที่เผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้า อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือหากรู้สึกว่ารับมือไม่ไหว
 

1. รู้เท่าทันความคิด หมั่นจัดการความเครียด

  • ฝึกฝนตนเองให้มีสติ สังเกตความคิดและอารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้สามารถปรับอารมณ์กลับมาได้ทัน
  • หาวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ฟังเพลงที่ชอบ ดูซีรีส์ ปลูกต้นไม้ และออกไปเดินเล่นให้ร่างกายได้รับแสงแดด เป็นต้น
  • เรียนรู้เทคนิคที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ ยาว ๆ หรือการนั่งสมาธิ เป็นต้น
 

2. มองโลกในแง่ดี มองหาความสุข

  • ฝึกคิดบวก มองหาแง่มุมดี ๆ ในทุกสถานการณ์ ไม่ตัดสินสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจ
  • ตั้งเป้าหมายในชีวิต หาสิ่งที่ตัวเองรักและพร้อมทุ่มเท โดยอาจจะกำหนดเป้าหมายเป็นหลายระดับ เช่น วันนี้จะทำอะไร เดือนนี้จะทำอะไร และปีนี้จะทำอะไร เป็นต้น
  • รู้จักขอบคุณสิ่งดี ๆ ในชีวิต แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้น เพื่อฝึกมองหาความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ
 

3. รักและนับถือตนเอง

  • ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น
  • ให้อภัยตัวเองหากมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น
  • ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ
 

4. รักษาความสัมพันธ์ พูดคุยระบายความรู้สึก

  • ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนสนิทให้มากขึ้น พูดคุยระบายความรู้สึกกันและกันบ้าง
  • ออกไปทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างการเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม เพื่อพบปะผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน
  • เลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทันที เมื่อรู้สึกว่าไม่ไหว
 

5. ดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • ออกกำลังกายให้ได้ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้ ธัญพืช และโปรตีน
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

สำหรับใครก็ตามที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจจะสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าซ่อนเร้น ก็ให้หมั่นสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกต่าง ๆ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โดยอาจจะให้ความสนใจ ใส่ใจพูดคุย รับฟังเรื่องราวปัญหาต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว ที่สำคัญแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการรักษาให้ถูกวิธี

และสำหรับลูกค้าของ KRUNGSRI PRIME เราอยากบอกทุกท่านว่า “คุณคือคนสำคัญสำหรับเรา” จึงพร้อมมอบสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่จะช่วยให้ทุกท่านคลายกังวล ลดความเครียดลงได้ สามารถตรวจสอบและเลือกใช้บริการที่ท่านสนใจได้เลย
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ