การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหม่ กับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

โดย มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล / นักข่าวธุรกิจและเจ้าของเพจ BizKlass
19 มิถุนายน 2564
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหม่ กับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย
  ปี 2564 ก็ยังเป็นอีกปีที่วางใจไม่ได้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าวัคซีนจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ จะเริ่มทยอยส่งไปตามจุดต่างๆ ของโลกแล้วก็ตามที ไม่เพียงแต่ความกังวลเรื่องผลข้างเคียงเท่านั้น แต่โอกาสในการเข้าถึงวัคซีนรวมทั้งภัยคุกคามจากโรคระบาดใหม่ก็ยังกดดันต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจนับจากนี้ต่อไป

สิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อคือการบริหารจัดการวัคซีนรวมทั้งการสร้างโอกาสจากศักยภาพด้านการแพทย์ของประเทศ ขณะนี้ทั้งคณะแพทย์ศาสตร์และเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างก็มีโครงการพัฒนาวัคซีนของตนเอง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกหลายสำนัก คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีน ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ ได้ภายในกลางปีหรืออย่างช้าในไตรมาส 3 ของปีนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาค ซึ่งสิงคโปร์เองก็พยายามอย่างมากในการช่วงชิงบทบาทนี้ โดยตั้งเป้าทำตลาดร่วมกับบริษัทยายักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตก เพื่อกระจายวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รวมทั้งเอเชียใต้ด้วย

หน้าที่ของแทบทุกรัฐบาลทั่วโลกตอนนี้คือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เห็นได้ชัดจากความพยายามของรัฐบาลอังกฤษที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการจัดการโรคโควิด-19 ทำให้ความหวังตกอยู่ที่วัคซีนและต้องเร่งเครื่องกระจายออกไปเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา เช่นเดียวกับบราซิลที่ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้วันละ 1 ล้านคน หลังจากยอดผู้ป่วยสะสมใกล้เคียง 10 ล้านรายและเสียชีวิตจากไวรัสโลกไม่ลืมนี้กว่า 2 แสนรายไปแล้ว แม้ผู้เชี่ยวชาญจะออกมาเตือนผู้ที่ได้รับวัคซีนว่า ไม่ได้การันตีร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ติดโรคโควิด-19 ทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและเว้นระยะห่างระหว่างกัน แต่ก็ถือเป็นการเรียกความหวังให้กับผู้คนได้ดีพอสมควร

ถ้าปลอดภัยก็จะเริ่มเดินทางได้และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นความปกติเดิมหรือความปกติใหม่ก็ตามที


มองกลับมาที่ประเทศไทย กว่าสองเดือนแล้วที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประเมินว่าผลกระทบจากรอบนี้น่าจะน้อยกว่ารอบแรก เนื่องจากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นมากขณะเดียวกันภาครัฐก็เลือกที่จะใช้วิธีการที่รัดกุมมากขึ้น ไม่ใช้ยาแรงที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจนเกินไป แต่ภาคธุรกิจที่ยังน่าเป็นห่วงก็คือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SMEs ที่กิจการยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ

และเราน่าจะต้องอยู่กับภาวะที่ยากจะคาดเดาแบบนี้ต่อไปอีกพักใหญ่เลย


จากข้อมูลสิ้นปี 2563 ซอฟต์โลนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งเอาไว้ถึง 5 แสนล้านบาทนั้น มีผู้ได้รับเงินกู้จริงไม่ถึง 7.5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 25% ของวงเงินทั้งหมดที่ตั้งเอาไว้ ถือว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับความต้องการใช้เงินจากผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจธนาคารพาณิชย์ที่ยังตั้งการ์ดสูง ไม่ปล่อยกู้ง่ายเนื่องจากกังวลเรื่องหนี้เสียที่อาจเพิ่มมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ แม้รัฐบาลจะประกันวงเงินถึง 70% และมีความคิดในการผลักดันให้รัฐบาลยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นที่ 80% แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับนายแบงก์ทั้งหลาย เนื่องจากต้องตัดสินใจให้รอบคอบ รับผิดชอบต่อเงินฝากของลูกค้าตนเองด้วย

สำนักเศรษฐกิจแต่ละแห่งต่างปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ลงจากเดิมที่มองว่าน่าจะเติบโต ได้ 3-4% ก็ปรับมาเป็นเติบโตต่ำกว่า 3% เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจที่เรายังต้องพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศทั้งภาคการส่งออกที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายของเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนยวบและปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่ส่งผลให้ราคาขนส่ง ราคาขายสินค้าแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ประมาณการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยยังลดลงจาก 6 ล้านคนเป็น 4 ล้านคนด้วย เห็นได้จากสถานการณ์ที่ยังย่ำแย่ในอเมริกา ยุโรป รวมทั้งประเทศจีนเองที่กลับมาเข้มงวดกับการจัดการโรคโควิด-19 ภายในประเทศ

ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือโรงแรมและการท่องเที่ยว สำนักเศรษฐกิจต่างประเมินว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้จะต่ำกว่า 10 ล้านคนและเป็นไปได้ที่จะหดตัวน้อยกว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ หากผลของวัคซีนเป็นที่น่าพอใจตามแผนที่วางไว้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็น่าจะเริ่มกลับมาเดินทางได้ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่ 2-4 ล้านคนเท่านั้น สวนทางกับอุปทานของห้องพักในประเทศที่เผชิญกับภาวะล้นเกินมานานแล้ว คาดว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มจังหวัดที่เน้นพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติอาจต้องปิดตัวลงหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โดยทางสมาคมโรงแรมไทยได้ประเมินว่าจะมีแรงงานในธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอีกถึง 1 ล้านคน เนื่องจากโรงแรมที่เปิดดำเนินการอยู่นี้มีอัตราเข้าพักและราคาขายที่ต่ำ เพื่อยังรักษากระแสเงินสดไว้หล่อเลี้ยงธุรกิจ นอกจากนี้โรงแรมส่วนใหญ่ยังลดจำนวนพนักงานลงถึง 30-50% ด้วย

สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานโรงแรมในลักษณะ Co-Pay โดยจะจ่ายเงินไม่เกิน 50% ของอัตราค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท หรือคิดเป็น 7,500 บาทต่อคนต่อเดือนต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการจัดตั้ง Tourism Labor Bank ที่รวบรวมฐานข้อมูลของแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมทั้งหมด เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในการเลือกจ้างงานบุคลากรที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานให้กับพนักงานต่อไปด้วย

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนเราก็ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ


คงไม่เพียงแค่ธุรกิจบริการเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังเกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารด้วย เนื่องจากรอบนี้รัฐบาลไม่ได้ใช้ยาแรงในการปิดเมืองหรือสั่งห้ามการเดินทางแต่ใช้วิธีจำกัดช่วงเวลาในการเปิดกิจการถึง 3 ทุ่ม ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางของคนเมืองพอสมควร ธุรกิจร้านอาหารระดับกลางถึงบนมียอดขายลดลงมากถึง 80% แม้จะยังเปิดดำเนินการอยู่ก็ตามที สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งยอดขายร้านอิซากายะในญี่ปุ่นก็ยังหายไปเกือบ 50% เนื่องจากคนทำงานรีบกลับบ้าน ไม่ได้ไปดื่มฉลองหลังเลิกงานกันเหมือนอย่างภาพที่เคยเห็นในอดีต แน่นอนว่าธุรกิจค้าปลีกก็มียอดขายลดลงตามไปด้วย แม้จะจัดโปรโมชั่นดึงดูดใจแค่ไหน ก็ไม่ได้ผลกลับมาอย่างที่คาดหวัง เพราะบรรยากาศและความเชื่อมั่นถูกบั่นทอนไปพอสมควรแล้ว

อย่างไรก็ตามธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดีก็คือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ทั้งถุงมือยางและอุปกรณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีที่ยังขยายตัวเพื่อรองรับกับการใช้ชีวิตที่บ้านของผู้บริโภค รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและสินค้าขนาดเล็กด้วย ซึ่งสะท้อนผ่านทางราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง ขณะที่การลงทุนในตลาดทุนก็ยังได้รับความนิยมสำหรับผู้มีเงินออมที่ต้องการแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีที่เติบโตเป็นสิบเท่าตัวในระยะเวลาอันสั้น นับจากที่ราคาของบิตคอยน์พุ่งทะลุ 1 ล้านบาทต่อเหรียญในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา

แม้ในยามวิกฤต ก็ยังมีโอกาสและธุรกิจที่เติบโตได้อยู่เสมอ


อีกเรื่องที่ท้าทายธุรกิจไทย เป็นได้ทั้งโอกาสและแรงกดดันนั่นคือการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ผลิตหรือใช้งานรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบที่ใช้กันอยู่ภายในปี 2030 ซึ่งมีผลอย่างแน่นอนต่อห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลก รวมทั้งฐานการผลิตระดับภูมิภาคอย่างบ้านเราผู้ประกอบการต้องการกระบวนการทางธุรกิจขนานใหญ่เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2564 ราว 1 หมื่นคัน แม้จะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีถึง 8 แสนคันต่อปี แต่ตัวเลขดังกล่าวเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปีและคาดว่าจะแตะ 1 แสนคันในอีกไม่นานนับจากนี้

วาระใหญ่ของโลกธุรกิจล้วนสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องโรคระบาดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หรือสงครามการค้าที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้ง บทสรุปที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทยคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังและรวดเร็ว เมื่อถึงเวลาที่วัฏจักรทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง เราจะได้ก้าวต่อไปได้พร้อมกับคนอื่นและไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเดียวดาย
 

จับตาโอกาสและความเคลื่อนไหวทางธุรกิจไทย-สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีบริษัทขนาดใหญ่ทั้งอาหาร พลังงาน และ สถาบันการเงินของไทยเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกัน บรรดาเศรษฐีอเมริกันก็ยังคงเห็นศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM Thailand) ที่อาจเป็นจุดเชื่อมโยงทางธุรกิจของคุณได้ที่เว็บไซต์ https://www.amchamthailand.com
 
มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจและเจ้าของเพจ BizKlass

สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ