โลกเปลี่ยน เราต้องปรับ เข้าใจวิถี New Normal เพื่อชีวิตและโอกาสใหม่

โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล / นักข่าวธุรกิจและเจ้าของเพจ BizKlass
23 มิถุนายน 2564
โลกเปลี่ยน เราต้องปรับ เข้าใจวิถี New Normal เพื่อชีวิตและโอกาสใหม่
ถ้าเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ เราจะเห็นและยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรแน่นอนและไม่มีอะไรที่เราเป็นเจ้าของมันได้จริงๆ

คิดเท่านี้ก็พอจะเข้าใจเหตุและผลของการดำรงอยู่ได้


โลกธุรกิจก็อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน ใครที่เตรียมตัวเตรียมใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงมาบ้างแล้วก็จะปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขใหม่ๆ ได้ไม่ยาก แต่ใครที่ยังนิ่งอยู่กับที่ พบกับยุค Digital Disruption มาแล้วก็ยังไม่คิดจะมองหาหนทางใหม่ๆ หรือเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองก็อาจจะพบกับทางตันได้ ในวันที่ใครต่อใครต่างก็พูดถึงเรื่อง ‘ความปกติใหม่ (New Normal)’ กันเต็มไปหมด แล้วตัวเราจะยังเป็นคนเก่าคนเดิมต่อไปได้อย่างไร

วิถีชีวิตของคนทำงานในยุคถัดไปนี้คงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากโรคระบาดที่แพร่กระจาย ตราบที่ยังไม่มีวัคซีนหรือบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้มนุษย์มั่นใจว่าตนจะไม่ติดโรคหรือต้องเสียโอกาสในชีวิตจากการกักกันตัวเองที่บ้าน เราก็ยังจะเห็นการเว้นระยะห่างต่อกัน (Physical Distancing) แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการประชุมทางไกลที่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้จักและใช้งานกันเท่านั้น บทบาทของเทคโนโลยีเสมือนหรือ Virtual Reality ก็อาจมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและโหยหาสุนทรียภาพที่เราเคยเสพกันมาช้านาน แน่นอนว่าสุดยอดเทคโนโลยีอย่าง 5G ก็ต้องเติบโตและเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้คนให้ทั่วถึงก่อน เรื่องดังกล่าวจึงดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ยากจะคาดเดาว่าภาพผู้โดยสารจำนวนมากแน่นขนัดที่สนามบินขนาดใหญ่ทั้งหลายจะกลับมาเมื่อไหร่และเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่าการปิดเมืองหรือปิดประเทศอาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปี 2563 นี้ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะดีขึ้น ทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อยู่หมัดแต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ดังเดิม ทั้งการเปิดรับผู้โดยสารจากต่างประเทศหรือการเปิดพรมแดนเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านก็ตามที สำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะหดตัวจากเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปีก่อน เหลือเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกช่วงก่อนการแพร่ระบาดโรคและปิดเมืองราว 7-8 ล้านคน ส่วนที่เหลือคือนักท่องเที่ยวที่อาจจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศได้ หากสถานการณ์คลี่คลายก่อนไตรมาสสุดท้ายของปี

นั่นคือการเดินทางออกไปยังต่างประเทศของคนไทยก็คงจะหยุดชะงักด้วย เนื่องจากประเทศที่เป็นเป้าหมายปลายทางสำคัญอย่างญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มยุโรป หรือกระทั่งสหรัฐอเมริกาก็ยังต่อสู้และจัดการระบบสาธารณสุขในประเทศตนเองอย่างยากลำบาก การเดินทางไปประเทศเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยง ไม่เพียงแต่จะโดนกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการที่ปลายทางเท่านั้น เมื่อกลับมายังเมืองไทยก็อาจต้องถูกกักตัวซ้ำอีกเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ การเดินทางแต่ละครั้งจึงมีต้นทุนที่สูงลิบไม่เพียงแต่จำนวนเงินที่จ่ายไปเท่านั้น ยังมีต้นทุนด้านเวลา ต้นทุนทางอารมณ์ และต้นทุนค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจหรือสร้างรายได้ในช่วงที่กักตัว เมื่อต้นทุนมากขนาดนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อนจะดีกว่า จึงไม่แปลกที่แนวโน้มการใช้งานสายการบินจะตกต่ำต่อเนื่องไปอีกนานแสนนาน จนศาสดาแห่งการลงทุนอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ตัดสินใจขายหุ้นสายการบินทิ้งเกลี้ยงและวาณิชธนกิจระดับโลกอย่างโกลด์แมน แซ็คส์ประเมินว่าระดับการใช้สินค้าพลังงานของสายการบินต่างๆ จะไม่มีวันไปเหมือนเดิมได้อีก

เมื่อเชื่อมโยงผลกระทบที่เกิดจากข้อจำกัดและความต้องการเดินทางที่ลดลงแล้ว จะพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างโรงแรม ศูนย์การค้า ร้านขายของที่ระลึก ตลอดจนสินค้าอย่างกระเป๋าเดินทางหรือของใช้พกพาทั้งหลายก็มีแนวโน้มหดตัวตามไปด้วย ต้องยอมรับว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ครองสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจึงทำสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าชาวจีนและชาติที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก จนเมื่อรายได้สำคัญส่วนนี้หายไป เราอาจจะได้เห็นอุตสาหกรรมนี้หันกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังไม่สามารถเดินทางออกไปต่างประเทศได้สะดวกนัก การท่องเที่ยวภายในประเทศจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและน่าจะสร้างโอกาสรองรับได้

นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ของผู้บริโภคด้วย ช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งหรือคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมอย่างมากตามกระแสความเป็นเมือง (Urbanization) ที่ผู้คนแสวงหาชีวิตในมหานคร มีสีสันและบริโภคนิยม เราจะเห็นที่อยู่อาศัยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมหลายรายจะทำห้องชุดขนาดเพียง 23-25 ตารางเมตรในราคาที่จับต้องได้ บนทำเลที่มีศักยภาพ และใช้จุดขายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใหญ่โต สะดวกสบาย เพื่อตอบโจทย์แนวคิด ‘ชีวิตนอกบ้าน’ ในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่เมื่อเราต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม ทำงานบนโต๊ะอาหารที่วางติดกับเตียงนอนในห้องแคบๆ โดยที่ไม่สามารถออกไปใช้งานพื้นที่ส่วนกลางได้แบบนี้ ความโหยหาธรรมชาติและอิสระจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ในจิตใจขึ้นมาทันที เห็นได้จากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบชานเมืองอย่างทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการปรับนโยบายของหลายองค์กรให้ทำงานจากที่บ้านได้ (Work from home) ก็ทำให้การอาศัยในห้องชุดใจกลางเมืองดูจะจำเป็นน้อยลง

ในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สินค้าประเภทเครื่องครัวจะขายดีมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันมาประกอบอาหารรับประทานกันเองในครอบครัวแล้ว ต้นไม้และอุปกรณ์ทำสวนยังมียอดขายที่เติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย เนื่องจากผู้คนใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น จึงต้องหาอะไรทำ และการปรับรูปโฉมสนามหญ้าที่รกร้างและถูกทอดทิ้งมานานจึงเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่สำหรับการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) มากขึ้น เพราะอย่างไรเสีย มนุษย์ก็ไม่สามารถแยกตัวออกไปจากธรรมชาติได้ เราอาจจะได้เห็นแปลงผักในคอนโดมิเนียม หรือโรงเรือนที่แต่ละคนมีส่วมร่วม มีต้นไม้เป็นของตนเองในพื้นที่โครงการแบบผสมผสานหรือ Mixed Use ก็เป็นได้

ดร. วิเลิศ ภูริวัชร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักการตลาดระดับแถวหน้าของประเทศชี้ว่า ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ มีทั้งผลกระทบที่ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตและธุรกิจแบบเก่าหายไป ก็จะมีโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นเพิ่มเข้ามาด้วย ดังนั้นจะรอให้โลกเปลี่ยนไปสู่ New Normal โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฝึกฝนทักษะใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ที่ยากจะคาดเดาในวันข้างหน้า ดังนั้นต้องมีตัวเราที่เป็นคนใหม่ด้วย (New Us) จึงจะอยู่รอด สอดคล้องและเติบโตไปพร้อมกับบริบทใหม่ของหน้าประวัติศาสตร์นี้

ความไม่แน่นอนนั้นแน่นอนที่สุด
จมอยู่กับอดีตไม่เกิดประโยชน์ มีความหวังกับปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีด้วยตัวเองจะดีกว่า

 

เรียนธุรกิจเพื่อเข้าใจโลกใบใหม่กับ CBS

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CBS ( Chulalongkorn Business School) มีจุดยืนสำคัญในการตอบแทนสังคมด้วยองค์ความรู้ที่มี จึงเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ CBS Academy โดยมีคณาจารย์จากสาขาวิชาต่างๆ ของคณะหมุนเวียนมาบรรยายรวมทั้งการจัดเสวนาออนไลน์ซึ่งจะเชิญผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมของโลกธุรกิจมาแชร์ประสบการณ์ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวที่สำคัญได้จากเว็บไซต์ www.cbs.chula.ac.th
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ