Hybrid Working Model เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ควรจับตามอง

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
15 พฤศจิกายน 2565
Hybrid Working Model เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ควรจับตามอง
ในอดีตนั้นรูปแบบการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน มักจะคุ้นชินกับการทำงานในออฟฟิศหรือที่ทำงาน เพราะพนักงานต้องมีการติดต่อประสานงานกัน ต้องใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ในออฟฟิศ รวมถึงเอกสาร ข้อมูลที่ไม่สามารถนำออกไปใช้นอกสถานที่ได้

แต่ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชิวิตใหม่อย่าง New Normal รวมถึงเทคโนโลยีและการจัดการเอกสารที่ทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เราสามารถใช้ Video Conference ในการประชุมทางไกล หรือแม้แต่การอนุมัติเอกสารสำคัญก็สามารถเซ็นต์อนุมัติผ่านทางออนไลน์ได้อีกด้วย เมื่อมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์เข้ากับการทำงาน การทำงานจึงไม่ได้มีแค่ในออฟฟิศเหมือนในสมัยก่อน และก่อให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่อย่าง Hybrid Working นั่นเอง
 

Hybrid Work คืออะไร

คำว่า Hybrid Working นั้นมีความหมายคือ รูปแบบการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกทำงานได้ทั้งจากออฟฟิศ จากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ แทนการทำงานอยู่ในออฟฟิศเพียงอย่างเดียว ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นแต่มีมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น ABN Amro Bank ที่เริ่มใช้รูปแบบการทำงานนี้ตั้งแต่ก่อนปี 1990 โดยสมัยนั้นเรียกว่า “Working at home moms”

เพื่อให้พนักงานได้มีทางเลือกในการทำงาน และเกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงที่สุด บริษัทชั้นนำมากมายในต่างประเทศ อย่างเช่น Google, Dropbox, Uber หรือ Facebook โดยเฉพาะบริษัท IT ได้ปรับตัวมาเป็น Hybrid Working แล้ว
 
Work From Home
 

ข้อดีของ Hybrid Working

ในช่วงวิกฤติโรคระบาด COVID-19 เพื่อควบคุมการระบาด หลายองค์กรและหลายภาคส่วน ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานมาสู่การทำงานแบบ Hybrid Working มากขึ้น พนักงานส่วนใหญ่ได้รับสิทธิ์ให้ทำงานจากที่บ้านเหลือเพียงพนักงานที่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศเท่านั้นถึงสามารถเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศได้

จากวิกฤตดังกล่าวทำให้หลายองค์กรเห็นประโยชน์ของการทำงานแบบ Hybrid Working ทั้งต่อตัวพนักงานเอง ต่อองค์กร รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อดีดังนี้
  • พนักงานมีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน หรือค่ารถไฟฟ้า
  • พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานจะมีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถเลือกวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถบริหารเวลาในการทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
  • เมื่อมีความยืดหยุ่นและเวลามากขึ้น พนักงานสามารถหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายรับและความคล่องตัวทางการเงิน
  • องค์กรสามารถลดพื้นที่ทำงานลงได้ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลพื้นที่ทำงานเหล่านั้น ในบางองค์กรนั้นการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทำให้องค์กรสามารถจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นได้อีกหลายอัตรา หรือทำให้ผลกำไรขององค์กรเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
  • องค์กรถูกกระตุ้นให้พัฒนาไปสู่ Digital Transformation ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะต้องมีการพัฒนา process ในการดำเนินงาน การติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้มีความทันสมัยมากขึ้น
  • องค์กรสามารถจ้างพนักงานที่มีความสามารถเฉพาะทางได้จากทั่วทุกมุมโลก เพราะพนักงานสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งการรับพนักงานจากทั่วโลกเข้ามาทำงานจะช่วยให้บริษัทได้มุมมองใหม่ ๆ และความเห็นที่แตกต่างได้มากขึ้น เป็นโอกาสที่ช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในธุรกิจ
  • ช่วยลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของการดำเนินงานขององค์กร เมื่อพบกับปัญหาโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคต เพราะองค์กรมีระบบการทำงานที่สามารถรับมือกับสถานการณ์รูปแบบนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว
 

ข้อเสียของ Hybrid Working

อย่างไรก็ตาม Hybrid Working ต้องทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น และต้องมีการลงทุนนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นองค์กรจะต้องเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกระบวนการทำงาน และขนาดขององค์กรด้วย

สำหรับพนักงานที่จะทำงานในรูปแบบ Hybrid Working ได้นั้นจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของหน้าที่ความรับผิดชอบในงานของพนักงานด้วยว่าสามารถทำงานนอกออฟฟิศได้หรือไม่ เพราะบางกระบวนการทำงานในปัจจุบันยังไม่สามารถทำงานแบบ Hybrid Working ได้ 100% เช่น วิศวกรที่ดูแลเครื่องจักรภายในโรงงาน เป็นต้น
 
วิถีการทำงานแบบ Next Normal
 

สุดท้ายแล้ว Hybrid Working มีประโยชน์หรือไม่

จากข้อดีและข้อจำกัดของการทำงานรูปแบบ Hybrid Working จะพบว่าแนวโน้มวิถีชีวิตการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วง Covid 19 ที่ผ่านมา พนักงานที่สามารถทำงานแบบ Hybrid Working ได้ส่วนมากจะไม่อยากกลับไปทำงานแบบในอดีตอีก อ้างอิงจากรายงาน People at Work 2022: A Global Workforce View ของ ADP Research Institute ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานกว่า 32,000 ใน 17 ประเทศ พบว่าคนทำงานทั่วโลกกว่า 64% หรือเกือบ 2 ใน 3 ระบุว่า พนักงานจะพิจารณาหางานใหม่หากนายจ้างให้ไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา รายงานดังกว่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการและวิถีชีวิตของพนักงานนั้นได้เปลี่ยนไปสู่ความปกติถัดไป (Next Normal)

ไม่ใช่แค่พนักงานเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปบางองค์กรที่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงรูปแบบการทำงานมาเป็น Hybrid Working ก็จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานมาใช้รูปแบบนี้ถาวรอีกด้วย โดยสถิติของเว็บไซต์ Zippia ซึ่งเป็นผลสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า
  • 74% ของบริษัททั่วสหรัฐอเมริกานิยมหันมาเลือกใช้การทำงานแบบ Hybrid Working มากขึ้น
  • 44% ของพนักงานทั่วสหรัฐอเมริกาบอกว่าชื่นชอบการทำงานแบบนี้ มากกว่าการทำงานที่เข้าออฟฟิศเพียงอย่างเดียว
  • 63% ของบริษัทแบบ High-Growth Companies เลือกใช้โมเดลแบบ “Productivity Anywhere” จากการทำงานแบบ Hybrid Working
จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการทำงานของเราในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็น Hybrid Working เต็มรูปแบบมากขึ้นอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ไม่ว่ารูปแบบการทำงานจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีการทำงานใหม่ ๆ และมีความรับผิดชอบต่อทั้งองค์กรและตนเองอีกด้วย การทำงานจะไม่ใช่แค่เพียง Work Hard อย่างเดียวแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราต้อง Work Smart and Life Balance ด้วยเช่นกัน

ความสุขที่มากกว่าการปรับรูปแบบใหม่ในการทำงาน คือมอบรางวัลกับทุกความสำเร็จในรูปแบบสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิต และความมั่นคงทางการเงินยุคใหม่ ทางธนาคารกรุงศรีมีทีมที่ปรึกษาทางการเงินและพร้อมให้คำปรึกษาด้านการออม การลงทุนที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะ สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ