หุ้น ESG คืออะไร รู้จัก ESG Investing ลงทุนวิถีใหม่

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
14 มีนาคม 2566
หุ้น ESG คืออะไร รู้จัก ESG Investing ลงทุนวิถีใหม่
เนื่องด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโลก ภัยพิบัติ โรคระบาด ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นผันผวน ทำให้คำว่า ESG Investing หรือ “การลงทุนยั่งยืน” เป็นเทรนด์ธุรกิจที่ได้รับความสนใจและมีกระแสนิยมโลก

ถึงแม้ตลาดหุ้นจะดูผันผวนแค่ไหน แต่ในทางกลับกันนักลงทุนเองกลับให้ความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจ ESG เพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากเม็ดเงินการลงทุนที่เติบโตหรือการลงทุนรูปแบบใหม่นี้ คือทางรอดของธุรกิจ และนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงในปัจจุบัน

บทความนี้จะพานักลงทุนทุกท่านไปทำความรู้จัก “ESG INVESTING” การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ “ESG INVESTING” การเป็นธีมการลงทุนที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย
 

“การลงทุนยั่งยืน” หรือ ”ESG Investing”

ESG เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว การเลือกลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและมีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักในองค์กร เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวควบคู่ไปกับการช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental)
    เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่าง ๆ ลดการใช้ Carbon Footprint ขององค์กร ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การรีไซเคิลและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี หรือการยกเลิกการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ เป็นต้น

  • คำนึงถึงสังคม (Social)
    เช่น ยอมรับความหลายหลายของเชื้อชาติในสถานที่ทำงาน สร้างความเท่าเทียมทางเพศทั้งชาย หญิง และ LGBTQ+ ในองค์กร ไม่สนับสนุนกิจกรรรมอบายมุขหรือการพนันทุกรูปแบบ หรือมีการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนทั้งการจ้างงาน จัดทำศูนย์ฝึกอาชีพ เป็นต้น

  • คำนึงถึงธรรมาภิบาล (Governance)
    เช่น ความโปร่งใสของนโยบายต่าง ๆ ภายในองค์กร มีนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส หรือมีการจัดการด้านความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ เป็นต้น
 
การลงทุนหุ้น ESG
 

ทำไม ESG ถึงน่าลงทุน?

ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบการพิจารณาเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนมากขึ้น
  • มีการสำรวจและวิจัยในต่างประเทศ
    มีการศึกษาจาก State Street Global Advisors ในปี 2560 ได้ทำการศึกษากับนักลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กรในทวีป สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก สรุปผลการสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG

    และยังมีผลการศึกษาจาก Financial Planning Association ซึ่งเป็นการศึกษาในปี 2563 โดยได้ทำการสำรวจกับผู้ให้คำแนะนำทางการเงิน (Financial Advisor) จำนวน 242 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกาผลการศึกษาพบว่าในปี 2563 ผู้แนะนำทางการเงินมีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

  • จำนวนเพิ่มขึ้นของบริษัทในไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน
    ประเทศไทยตลาดหลักทรัพย์ได้มีการจัดตั้งเกณฑ์หุ้นยั่งยืน หรือ THSI โดยบริษัทจำกัดที่ได้รับคะแนนผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่สามารถดึงดูดความสนใจในการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนได้ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมามีบริษัท 124 บริษัทที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากถึง 51 บริษัท การเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืนสามารถแสดงได้ว่าภาคธุรกิจและนักลงทุนมีการตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG

  • การเปลี่ยนแปลงของบริษัทขนาดใหญ่
    บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft หรือ Facebook รวมถึงบริษัทชื่อดังอย่างเช่น Burger King, Pepsi หรือ Ikea ต่างพร้อมใจวางนโยบายเพื่อตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสุดท้าย Google (Alphabet) บริษัทผู้พัฒนาเสิร์ชเอนจินได้หันมาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% เพื่อช่วยผลิตพลังงานสะอาดให้กับบริษัท ครอบคลุมทั้งพลังงานลมและฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ สะท้อนให้เห็นถึงเงินลงทุนที่อาจเข้ามาได้ในอนาคต
 
การลงทุนที่น่าสนใจ
 

รูปแบบการลงทุน ตามกระแสหุ้น ESG ที่น่าสนใจ

  • การลงทุนแบบ SRI (Sustainable and Responsible Investing)
  • การลงทุนแบบ Ethical Investing
  • การลงทุนแบบ Impact Investing
 

การลงทุนแบบ SRI (Sustainable and Responsible Investing)

ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนกองทุนทั่วไปที่นักลงทุนทุกคนสามารถลงทุนได้ เพียงแต่มีนโยบายลงทุนที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ลดผลกระทบเชิงลบออกจากพอร์ตการลงทุน เช่น หุ้นธุรกิจยาสูบ หุ้นของบริษัทที่ธุรกิจทำให้เกิดมลพิษ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงทุนแบบ SRI มีทั้งหมด 4 กลุ่มหลักที่เป็นที่นิยม ได้แก่
  1. Best in Class: การลงทุนบริษัทที่แนวโน้มดี มีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น ตามเกณฑ์ SRI Rating ในแต่ละขอบเขต Class, Country, Sector เช่น การลงทุนเฉพาะหุ้น A และ B ที่มี SRI Rating สูงมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ (*ณ ปัจจุบัน SRI Rating/Score ยังไม่มีมาตรฐานแบบ Credit Rating รูปการคำนวณอาจส่งผลให้ได้เกณฑ์ SRI ที่แตกต่างกัน)
  2. Exclusion/Negative Screening: การลงทุนที่คัดเลือกบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุน เช่น การไม่ลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูงกระทำทุจริต การไม่ลงทุนในบริษัทที่ปล่อยก๊าซพิษเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนดและทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งธุรกิจอาวุธ ยาสูบ แอลกอฮอล์ คาสิโน เป็นต้น
  3. Norms-based Screening: การลงทุนที่คัดเลือกบริษัทและขอบเขตของการลงทุน โดยใช้ตามหลักสากล (International Standard) เช่น ตามหลักการของ UN Global Compact, Human Rights หรือ Labor Standard เป็นต้น
  4. Integration: การลงทุนที่เหมาะในรูปแบบเชิงปริมาณ และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เป็นการนำเอา SRI มาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกลงทุนควบคู่กับการลงทุนแบบ Fundamental ที่มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทและสภาวะทางเศรษฐกิจ
 

การลงทุนแบบ Ethical Investing

คล้ายกับการลงทุนแบบ SRI เช่น การไม่ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่สร้างผลกระทบทางด้าน ESG แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ การระบุประเด็นด้าน ESG (Issued – based) ที่ชัดเจน เช่น ยาสูบ แรงงานเด็ก เป็นต้น
 

การลงทุนแบบ Impact Investing

เป็นการลงทุนที่ให้ความสนใจทั้งด้านผลตอบแทนที่ดีและธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไปพร้อมกัน เช่น ลงทุนในธุรกิจ Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง หรือลงทุนในธุรกิจ SME ที่สนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนห่างไกล เป็นต้น
 
กองทุน ESG จาก Krungsri
 

กองทุน ESG จาก “Krungsri”

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้น ESG ต้องการสร้างโอกาสการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงขอแนะนำกองทุนเปิดกรุงศรีที่น่าสนใจ ดังนี้

กองทุน KFESG
  • ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ “AB Sustainable Global Thematic Portfolio, Class S1 USD” (กองทุนหลัก)
  • จุดเด่นของกองทุน มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับบริษัทคุณภาพดีทั่วโลก ที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั่วโลก และยังต้องใช้เงินสนับสนุนอีกจำนวนมาก

กองทุน K-CHANGE
  • ลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลก ที่มีการดำเนินธุรกิจซึ่งส่งผลบวกต่อสังคม (Positive Impact) หรือสนับสนุนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ Baillie Gifford Positive Change Fund - Class B accumulation (GBP) เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
  • โอกาสรับผลตอบแทนจากการเติบโตของหุ้นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม
 

“Krungsri” กับการลงทุนอย่าง ‘ยั่งยืน’

ด้านสิ่งแวดล้อม
  • จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยเริ่มคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารสำนักงานใหญ่ในปี 2560 และขยายการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปยังอาคารกรุงศรี สำนักเพลินจิตในปี 2563 รวมทั้งได้ขยายขอบเขตครอบคลุมสาขาธนาคารทั่วประเทศ
  • การสนับสนุนระบบการทำงานรูปแบบดิจิทัลลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบอาคารกรุงศรี สำนักงานเพลินจิต ตามมาตรฐาน LEED ของสหรัฐอเมริกา การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น

ด้านสังคม
  • ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ตามเงื่อนไขที่หน่วยงานทางการและระเบียบภายในของธนาคารกำหนด อาทิ กระบวนการขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการต่าง ๆ ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลููกค้า
  • ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้าและหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้า และเคารพสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า

ด้านธรรมาภิบาล
  • กำหนด “นโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” โดยธนาคารจะไม่ยอมผ่อนปรนต่อการกระทำทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • นำมาตรฐานอุตสาหกรรมและแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและระดับสากลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานในองค์กร อาทิ การใช้เครื่องมือตรวจจับมัลแวร์ระดับสูง เป็นต้น

ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนได้อยู่ตลอดเวลา “การลงทุนอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการลงทุนที่ดึงดูดให้ทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ บริษัทเอกชนตลอดองค์กรขนาดใหญ่ พร้อมที่จะปรับและเปลี่ยน!! แนวทางการดำเนินธุรกิจและวางกลยุทธ์ ESG ให้แข็งแกร่ง ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน

นักลงทุนทุกท่านคงทำความเข้าใจและคงรู้จักการลงทุนแบบ ESG Investing มากขึ้น รวมถึงการเห็นข้อดีของการมีหุ้น ESG เก็บสะสมไว้ในพอร์ตการลงทุน เพิ่มโอกาสผลตอบแทนที่จะได้รับในระยะยาว และสามารถลดโอกาสการเกิดการผันผวนของตลาดได้อีกด้วย หากท่านสนใจการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ ต้องการที่ปรึกษาด้านการลงทุน และยังคิดไม่ตกว่าควรจะลงทุนแบบไหนที่ใช่กับตัวคุณ ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุน K-CHANGE ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

Reference
tris
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ