เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน อาหารแพง เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเริ่มวิกฤต COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหารโลกตามมาด้วย แต่ความเลวร้ายยังไม่จบ เพราะเรากำลังจะเจอกับปัญหา Dollar Doom Loop ที่กำลังจะตามมา
ก่อนที่เราจะพูดถึงปัญหา Dollar Doom Loop เราต้องเข้าใจก่อนว่า Doom Loop คือสถานการณ์ที่เกิดจากการแก้
ปัญหาทางเศรษฐกิจ แล้วก่อให้เกิดปัญหาอื่นที่ตามมาเรื่อย ๆ จนทำให้สถานการณ์เดิมยิ่งแย่ลงไปอีก โดยจะวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
Doom Loop ในอดีต
หากเราย้อนกลับในปี ค.ศ. 1973 ได้เกิดสงคราม 21 วัน ที่มีชื่อว่า Yom Kippur War หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล โดยอียิปต์ และซีเรีย ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลได้หันไปหาสหรัฐฯ (และชาติพันธมิตรตะวันตก) เพื่อขอการสนับสนุนยุทธภัณฑ์ แม้ว่าสงครามจะจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล แต่ก็ทำให้สมาชิก OPEC เกิดความไม่พอใจ และร่วมกันคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น 4 เท่าทันที (OPEC Embargo / Oil Embargo) ซึ่งในตอนนั้นประชาชนคิดแค่ว่าถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับภาคการขนส่งเท่านั้น แต่การที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในด้านต่าง ๆ อีกด้วย
ขณะนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก้ปัญหาโดยการแทรกแซงเพื่อให้เกิดการสร้าง Demand เช่น การลดบทบาทธนาคารลง
การทำ QE ด้วยการสร้างโปรเจคใหญ่ ๆ ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการนี้ได้ผลมาตลอด ยิ่งเวลาที่รัฐทำโปรเจคใหม่ ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นอยู่เสมอ พอมาเกิดเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผู้คนเกิดความประมาทว่าวิธีการเดิมจะให้ผลเหมือนเดิม แต่ว่ารอบนี้กลับไม่เป็นเช่นเดิม ยิ่งรัฐออกโปรเจคใหม่เมื่อราคาน้ำมันสูง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมี Demand จากโปรเจคใหญ่ ๆ ของรัฐฯ ส่งผลให้เงินเฟ้อและราคาสินค้ายิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบริษัทหลายแห่งก็แบกรับต้นทุนการผลิตไม่ไหว บางแห่งก็ต้องลดพนักงาน กว่ารัฐบาลจะรู้ตัวอีกทีอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นสูงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทุกภาคส่วนแล้ว จึงทำให้เกิดสถานการณ์ Doom Loop ขึ้น หากทางรัฐจะไม่ออกมาตราการก็ไม่ได้เนื่องจากมีอัตราการว่างงานสูง แต่เมื่อออกมาตรการมาก็เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เกิดคนยิ่งตกงานวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกมีบทบาทสำคัญในการค้าโลก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็นำไปสู่ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจต่าง ๆ เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นยังมีสถานะพิเศษอีกอย่างในตลาดโลกคือเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความปลอดภัย (Safe-haven) ดังนั้นเมื่อนักลงทุนมีความกังวล พวกเขามักจะให้ความสนใจ และหันไปลงทุนในทรัพย์สินที่พวกเขาคิดว่ามีความปลอดภัยสูง นั่นก็คือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเกิดความวิตกกังวลในภาวะเศรษฐกิจ และเมื่อดอลล่าแข็งค่าขึ้นมาก ๆ ค่าเงินสกุลอื่นก็อ่อนตัวลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมโลกหดตัว รวมถึงราคาสินค้าลดลง ผลที่ตามมาคือการค้าขายระหว่างประเทศลดลง เมื่อนักลงทุนเกิดความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนจึงไปถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นซึ่งจะวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะ Dollar Doom Loop นั่นเอง
Dollar Doom Loop
จากปัญหาดังกล่าวนักเศรษฐศาสตร์ได้ให้มุมมองสำหรับทางออกของปัญหา Dollar Doom Loop ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ โดยมีความเป็นไปได้ใน 4 กรณี คือ
- FED ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ความต้องการเงินดอลลาร์ลดลง ส่งผลให้ดอลล่าอ่อนค่าลง เพื่อหยุดวงจรของ Dollar Doom Loop แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ตามกรณีนี้น้อยลงนั่นเอง
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกสหรัฐอเมริกาจะช่วยลดความร้อนแรงของการแข็งค่าของดอลลาร์ลง
- ประเทศจีนมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่สามารถแก้ปัญหา Doom Loop ได้ในอดีต และมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีด้วย
- กรณีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือราคาสินค้า อุปโภคบริโภคลดลง เนื่องมาจากผลกระทบของ Dollar Doom Loop จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีความผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อลดลงด้วย
Dollar Doom Loop ไม่เพียงแต่เป็นหายนะกับระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันจะเป็นสิ่งที่เลวร้าย หาก FED ไม่สามารถหาคำตอบได้ เพราะไม่ว่าเราจะใช้เงินสกุลไหนก็จะพบกับปัญหาทางการเงินได้ ตราบใดที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก
หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ