แนะนำโอกาสใหม่ในโลกดิจิทัล เพื่อยกระดับและอยู่รอดในโลกการทำงาน

โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล / นักข่าวธุรกิจและเจ้าของเพจ BizKlass
23 มิถุนายน 2564
แนะนำโอกาสใหม่ในโลกดิจิทัล เพื่อยกระดับและอยู่รอดในโลกการทำงาน

“ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่มนุษย์เงินเดือนหรือ White Collars ทั้งหลายจะกลัวตกงานมากเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว”


นับจากวันที่โลกได้รับรู้เรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในปี 2017 ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งมิติของเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วภายใต้การเร่งตัวของเทคโนโลยีใหม่ๆ Facebook Live อีคอมเมิร์ซ และนำไปสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ในรูปแบบที่เราไม่เคยจินตนาการถึงมาก่อน มาถึงวันนี้เราอาจจะคุ้นชินกับคำว่า Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงหรือบางทีเราก็เรียกว่าความปั่นปวนจากพลังของดิจิทัล แต่ในทุกเช้าที่เราลืมตาขึ้นมาและก้าวเดินออกไปทำงาน ก็ยังไม่มีวันไหนที่เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับพลวัตที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างไม่รู้จบ ไม่รู้ว่าจุดสมดุลของยุคดิจิทัลนี้จะไปหยุดที่ตรงไหนและเราควรจะปรับตัวอย่างไรให้ทันสักที

ปัญญาประดิษฐ์และระบบงานอัตโนมัติทั้งหลายเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานที่เน้นกระบวนการทำซ้ำซาก คาดเดารูปแบบได้ และไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตู้บริการบัตรจอดรถเข้ามาแทนที่พนักงานคนเก่าที่เราคุ้นหน้้า สาขาของธนาคารก็ถูกปิดตัวมากขึ้น เกิดการโยกย้ายพนักงานไปสู่หน้าที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือกระทั่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลายก็หวั่นวิตกกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลและระบบแนะนำการลงทุนด้วย AI ที่เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและตอนนี้ก็มีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อยๆ


สิ่งที่สำคัญกว่าการปิดกั้นองค์กรจากการเปลี่ยนแปลงหรือเสียเวลากับความกังวลทั้งหลาย คือการตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรต่อไปดีนับจากนี้และมองไปข้างหน้า แม้จะไม่รู้ว่ามีอะไรหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไหนรออยู่ แต่เราก็หยุดมองไปข้างหน้าไม่ได้เลย

World Economic Forum  (WEF) ให้ข้อมูลว่าภายใจ 5 ปีนับจากนี้ มากว่าครึ่งของงานในออฟฟิศทั้งหลายจะถูกแทนที่หรือทำแทนได้ด้วยเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติในสัดส่วนถึง 52% แม้จะมีตำแหน่งงานหลายประเภทที่จะหายไป แต่ก็จะเกิดอาชีพหรือตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย สิ่งสำคัญยังเป็นเรื่องที่เราพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องนั่นคือ ‘ทักษะใหม่ (New Skill)’ ซึ่งจำเป็นจะต้องโยนความรู้หรือทักษะเดิมที่มีและอาจจะไม่จำเป็นในอนาคตทิ้งไป และเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆแทนๆ ซึ่งจะนำไปอยู่การยกระดับทักษะ (Upskill) ให้ตัวเองเก่งขึ้นกว่าเดิมและเท่าทันกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

แนวคิดข้างต้นไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดเดียวที่มีอยู่


ไม่เพียงทักษะด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในยุคดิจิทัล แต่ทุกอุตสาหกรรมยังต้องการทักษะสำคัญที่ AI ยังทำแทนไม่ได้อย่างงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ รวมทั้งการโน้มน้าวและการเจรจาต่อรองด้วย ขณะเดียวกันทัศนคติของแรงงานที่มีต่อการทำงานก็แตกต่างไปจากอดีต เนื่องจากตอนนี้กลุ่มมิลเลนเนียลและเจนแซด คือคนส่วนใหญ่ของโลกการทำงาน พวกเขาต้องการอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง เราจึงเห็นการเติบโตของอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์มากยิ่งขึ้นและทำให้คำว่า Gig Economy ถูกพูดถึงในวงกว้าง

ขณะเดียวกันทุกองค์กรตอนนี้ต่องมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ (Data-Driven Organization) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของธุรกิจก็เป็นเรื่องจำเป็นที่พนักงานต้องรู้จักการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความสามารถในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆในทุกธุรกิจ และเป็นไปได้ที่อาชีพนักการตลาดอาจจะหายไปและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญข้อมูลเพื่อทำการตลาดแทน เพราะทุกการตัดสินใจของธุรกิจนับจากนี้จะต้องอยู่บนความน่าเชื่อถือของข้อมูลแทบทั้งสิ้น

นักออกแบบและวางแผนประสบการณ์ของลูกค้าที่มีกับระบบของบริษัทถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว อย่างไรเสีย เมื่อผู้บริโภคยังเป็นมนุษย์ก็ยังต้องการประสบการณ์เชิงบวกอย่างต่อเนื่องอยู่ดี ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการให้บริการรวมทั้งความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความต้องการของลูกค้า ทุกจุดสัมผัสที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่องที่นึกขึ้นเองอีกต่อไป แต่จะเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รอบด้าน หลายมิติและโดนใจในระยะเวลาอันสั้นด้วย

สำหรับประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ ถ้าจะผลิตแรงงานใหม่ๆเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตก็ไม่แน่ใจว่าจะทันท่วงทีหรือไม่ สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าคือการพาแรงงาน คนหนุ่มสาวที่อยู่ในระบบไปพัฒนาทักษะใหม่ดูท่าจะเข้าท่ากว่า และภาคธุรกิจก็อาจจะจ้างงานผู้สูงวัยที่มีความรู้ความสามารถ ยังสามารถทำงานได้ในทักษะที่เหมาะสมมากขึ้นในอนาคต
ทำได้ทักษะเดียว แม้จะมีหลายงาน ยังถือว่าไม่มั่นคง ทำได้หลายทักษะและมีหลายงานด้วย จึงจะอยู่รอด
 

มองโลกไปข้างหน้ากับ World Economic Forum

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา World Economic Forum (WEF) จัดงานประชุมใหญ่ประจำปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยออกรายงานเรื่อง Jobs of Tomorrow : Mapping opportunity in the new economy ซึ่งตีแผ่ 96 ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของ 7 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสำคัญในอนาคต ตอกย้ำความสำคัญของมนุษย์และโลกดิจิทัลที่จะแยกจากกันไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีรายงานและเกร็ดความรู็ที่น่าสนใจอีกหลายมิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจแลธุรกิจ โดยผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://www.weforum.org รวมทั้งค้นหาแฮกแท็ก #wef20 เพื่อติดตามไฮไลต์ของงานประชุมของปี 2020 เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ