แชร์ไอเดียในการจัดการหนี้บัตรเครดิตด้วยทริค 3 จ.

0 Share
0
แชร์ไอเดียในการจัดการหนี้บัตรเครดิต ด้วยทริค 3 จ.
หลายคนที่ชีวิตต้องประสบปัญหาเรื่องหนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี อย่าเพิ่งท้อแท้หมดกำลังใจไป ทุกปัญหาหนี้มีทางออกได้เสมอ ลองทำตามเทคนิคจัดการหนี้อย่างง่ายที่เรียกว่า ‘เทคนิคแก้หนี้แบบ 3 จ.’ ซึ่งมีแนวทางสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. แจงรายการหนี้
2. จดบัญชีรายรับรายจ่าย
3. จัดการหนี้ให้อยู่หมัด

 
ถ้าหากทำได้ตามเทคนิคนี้แล้วล่ะก็ รับรองว่าหนี้ที่มีไม่หนีหายไปไหน เหลือเพียงแต่ใจเรานี่แหละที่จะสู้ไหวหรือเปล่า เอ้า... ถ้าพร้อมแล้วก็มาลุยกันเลย
 
1. แจงรายการหนี้
ลำดับแรกที่ต้องดูให้ชัดว่าเรามีหนี้ประเภทไหนอย่างไรบ้าง โดยจัดทำรายการและแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ หนี้ดี และหนี้เสีย ซึ่งมีความแตกต่างกันก็คือ หนี้ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วน หนี้เสีย คือหนี้ที่มีแต่รายจ่ายล้วนๆ
 
ธนาคาร ประเภทหนี้ จำนวนเงิน ผ่อนต่อเดือน ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
(อัตราต่อปี)
จำนวนงวดทั้งหมด
ที่ต้องผ่อนชำระ
ธนาคาร ก สินเชื่อส่วนบุคคล 10,000 1,000 28% 11
ธนาคาร ข บัตรเครดิต 50,000 5,000 18% 12
ธนาคาร ค สินเชื่อส่วนบุคคล 100,000 10,000 28% 13
ธนาคาร ง บัตรเครดิต 20,000 2,000 18% 11
ธนาคาร จ บัตรเครดิต 30,000 3,000 18% 11
อย่างตัวอย่างที่เห็นนี้ จะเห็นว่าหนี้เสียแน่ๆ เพราะมีแต่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนบางคนที่มีหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็อย่าชะล่าใจไป เพราะถ้ามันไม่ก่อให้เกิดรายได้ในตอนนี้ ก็อาจจะไม่พ้นหนี้เสียเหมือนกัน ดังนั้น อย่าไปมองที่ประเภทหนี้ แต่ให้มองว่าตัวเรามีรายได้ที่จะผ่อนไหวหรือเปล่า
 
สิ่งที่ต้องดูต่อคือ จำนวนหนี้ในตอนนี้กับความสามารถในการผ่อนชำระเรามีแค่ไหน ถ้าหากผ่อนไม่ไหว เราต้องมาดูต่อว่ามีอะไรที่ช่วยเหลือได้บ้าง อย่างเงินก้อนที่มีอยู่ ทรัพย์สินที่พอมี บางทีอาจจะต้องขายแล้วมาโปะหนี้ให้พิษบาดแผลมันทุเลา เช่น ขายรถ  หรือคอนโด หรือของฟุ่มเฟือยบางอย่าง เพื่อเอาเงินก้อนไปชำระหนี้
 
2. จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย
หลังจากแจกแจงหนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือการจดบันทึกรายรับรายจ่าย เช็คดูว่าหนี้ที่เรามีกับความสามารถของเราพอจะผ่อนหนี้ไหวหรือไม่ ซึ่งเราไม่สามารถตอบได้ ถ้าหากไม่มองดูตัวเลขที่หาได้ในแต่ละเดือนว่าเรามีเหลือพอแค่ไหน เท่าไรบ้าง
 
หล้งจากนั้นลองสำรวจตัวเองดูว่ารายจ่ายตัวไหนสามารถลดลงได้บ้าง กาแฟหรืออาหารบุฟเฟ่ต์ที่ชอบกินในแต่ละเดือนลดลงบ้างไหวไหม ปาร์ตี้ฟุ่มเฟือยบ่อยไปหรือเปล่า เมื่อตัดรายจ่ายพวกนี้แล้ว เราจะได้มีเงินมาโปะหนี้ ซึ่งการแก้ไขเรื่องนี้จะดีขึ้น ถ้าหากเรารู้จักวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียจากนิสัยของตัวเองได้ชัดเจน เราจะรู้ว่าเราควรทำแบบไหนยังไงบ้าง? เพื่อให้เราสามารถปลดหนี้ได้ไวยิ่งขึ้น
 
3. จัดการหนี้ให้อยู่หมัด
จากตัวอย่างข้างต้น เห็นว่าเราเป็นหนี้อยู่ 5 ก้อน เราอาจจะต้องถามตัวเองว่าเราควรชำระหนี้ก้อนไหนก่อนดี ซึ่งเรื่องนี้มีทางเลือกหลายทาง เช่น
  • เลือกชำระหนี้ก้อนที่มีน้อยก่อนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ บางคนรู้สึกว่าชีวิตมีปัญหาถ้ามีหนี้เยอะ ดังนั้น การตัดจำนวนหนี้ที่มีไปจะทำให้มีแรงบันดาลใจคืนมา อย่างกรณีนี้ ถ้าหากเราเลือกที่จะพักชำระหนี้บางก้อนไปสัก 1 เดือน ก็จะสามารถปิดหนี้ค้างของธนาคาร ก ได้ทันที หรือจะบริหารจัดการดีๆ ก็อาจจะปิดหนี้ธนาคาร ง และ จ ได้ด้วย ถ้าหากเรามีความสามารถในการจ่ายที่ไหว
  • Refinance เพื่อโปะหนี้ โดยการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวที่ธนาคารสักแห่ง เพื่อขยายเวลาการผ่อนชำระออกไป และทำให้เราสบายมากขึ้น อย่างเช่นกรณีนี้ จำนวนหนี้ทั้งหมดคือ 210,000 บาท อาจจะขอสินเชื่อส่วนบุคคลให้สามารถผ่อนชำระได้สัก 36 งวด ซึ่งทำให้ชีวิตเราสบายใจขึ้น แต่อย่าลืมว่าวิธีการนี้ เงินที่เราจ่ายต้องเพิ่มขึ้นด้วยนะ แถมยังต้องมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ใช่ขยายหนี้ไปแล้วก็กลับไปเป็นหนี้เพิ่มขึ้น แบบนั้นจะยิ่งแย่กว่าเก่าแน่นอน
  • เจรจากับเจ้าหนี้ให้ชัดเจน อย่าลืมกฎข้อสำคัญของการเป็นหนี้ คือ ต้องใช้หนี้ ไม่ควรหนีหนี้ หรือเพิกเฉย เพราะดอกเบี้ยจะทบไปเรื่อยๆ และอาจกลายเป็นคดีได้ในที่สุด ทางเลือกอีกทางที่ดี คือการพูดคุยเจรจาตกลงกับเจ้าหนี้แบบตรงๆ ลองหาหนทางประนอมหนี้ก่อนในระยะแรก เพื่อลดจำนวนที่ต้องจ่ายต่องวดลงไป แต่วิธีนี้ก็เป็นเหมือนกับการขัดดอกไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงต้องหาทางแก้ไขต่อไป ไม่งั้นก็ใช้ไม่หมดเสียที
  • หารายได้เสริม เพิ่มรายได้เป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ได้ดี คือ การสร้างรายได้เพิ่มควบคู่ไปกับการลดรายจ่าย เพื่อให้การชำระหนี้ได้ง่ายและไวขึ้น เช่น มองหางานเพิ่มเติมจากเวลาที่เหลืออยู่ งานที่สามารถใช้เวลาแลกเงินมาในระยะสั้น ประกอบกับการหาทางสร้างความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแง่ดีอีกข้อหนึ่งคือ การทำงานหนักทำให้เราไม่มีเวลามาใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยนั่นเอง
 
โดยปกติแล้ว เราไม่ควรเป็นหนี้เกินกว่า 45% ของรายได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถหยุดวงจรการสร้างหนี้ได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะถ้าคิดให้ดี ถ้าเรามีหนี้ นั่นหมายความว่า แต่ละเดือน เราจะต้องแบ่งเงินจ่ายค่าหนี้ ขณะเดียวกันเราต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เราต้องใช้ต้องจ่ายเช่นกัน  ดังนั้น ถ้าเราจัดการเรื่องเงินไม่ดี อาจทำให้เราไม่สามารถจัดการหนี้ได้อย่างที่ใจคิด ดังนั้น การควบคุมรายจ่ายในส่วนนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
 
อย่าลืมว่า เราไม่มีทางแก้ไขปัญหาการเป็นหนี้ในระยะสั้นได้ แต่เราสามารถแก้ได้โดยมองภาพรวมในระยะยาว อย่างน้อยก็เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่า หนี้ที่เกิดวันนี้มันมีการสะสมมานานแล้ว จึงต้องใช้เวลาและให้เวลากับมันนานถึงระดับหนึ่ง ถึงจะผ่านพ้นไปได้
 
สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังให้ทุกคนที่เป็นหนี้ และหวังว่าเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วยกันครับ...
 
< ย้อนกลับ