จริงหรืองมงาย? วิเคราะห์พลังของตารางสีมงคลประจำวัน

จริงหรืองมงาย? วิเคราะห์พลังของตารางสีมงคลประจำวัน

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
จูนเป็นหนึ่งคนที่ซีเรียสเรื่องเสื้อผ้าที่ใส่แต่ละวันมาก โดยเฉพาะเรื่อง “สี” ที่ต้องตรงตามตารางสีมงคล และยึดความเชื่อนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน จนโตมาก็ยังมีตารางสีนี้แปะไว้ข้างตู้เสื้อผ้าเอาไว้คอยดูตอนแต่งตัวทุกเช้า...แต่จริง ๆ แล้วก็เริ่มจำได้ขึ้นใจแล้วล่ะว่าวันไหนห้ามใส่สีอะไร หรือใส่สีไหนแล้วจะได้โชคด้านการเงิน ฮ่าๆ
 

ตารางสีมงคลเป็นหนึ่งในความเชื่อทางไสยศาสตร์ ที่แม้หลายคนจะเชื่อสุดหัวใจ แต่ก็ไม่สามารถให้คำอธิบายได้แบบจริง ๆ จัง ๆ รู้แค่ว่าเขาว่ากันว่าแบบนั้น และก็หวังว่าหากตัวเองทำตามความเชื่อนั้น ๆ แล้ว สุดท้ายมันจะส่งผลดีต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ เอง แต่นอกจากสีมงคลแล้ว ในบ้านเรายังมีความเชื่อเชิงไสยศาสตร์อื่น ๆ เช่น ถ้าขี้นกตกใส่เสื้อ แสดงว่ากำลังจะมีโชค เช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศบนโลกที่ไม่ว่าจะพัฒนาทั้งทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีไปตามยุคสมัยขนาดไหนแล้ว ความเชื่อที่หาเหตุผลไม่ได้เหล่านี้ก็ยังคงอยู่

จริงหรืองมงาย? วิเคราะห์พลังของตารางสีมงคลประจำวัน
ในประเทศอังกฤษ มีความเชื่อที่ว่า หากเราพูดคำว่า “กระต่าย กระต่าย” (Rabbit rabbit) ในวันที่ 1 ของเดือน เราจะมีโชคดีตลอดทั้งเดือน หรืออย่างในประเทศสเปน ที่เชื่อว่าต้องเดินก้าวเท้าขวาเข้าห้องหรือสถานที่ใด ๆ เสมอ แล้วจะโชคดี หากใช้เท้าซ้าย ก็จะโชคร้ายตลอดวัน

มีบทความใน International Journal of Psychology and Behavioral Sciences ที่ระบุว่าความเชื่อด้านไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่ฝังรากลึกอยู่ในมนุษย์ โดยมันพัฒนามาจากการที่บรรพบุรุษของเราไม่สามารถทำความเข้าใจปรากฎการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกได้ เสมือนกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเหนือการควบคุมและเป็นพลังจากธรรมชาติที่เขาต้องเอาตัวรอดจากมันให้ได้ ซึ่งทำให้เกิดเป็นวิวัฒนาการของความเชื่อด้านไสยศาสตร์ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้มนุษย์รู้สึกมั่นใจขึ้นมาได้ว่าพวกเราสามารถควบคุมสถานการณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อยู่นะ และช่วยให้เราคลายความกังวลลงไปบ้าง และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมความเชื่อไสยศาสตร์จึงเวิร์คมากในสภาวะที่เราขาดความมั่นใจ กังวล หรือรู้สึกต้องการที่ยึดเหนี่ยวสักอย่าง

อีกหนึ่งคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ว่าทำไมมนุษย์เราเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เหล่านี้ มาจากหนังสือที่ชื่อว่า What’s Luck Got to Do with It? โดยนักคณิตศาสตร์ Joseph Mazur ที่บอกว่า “ความโชคดีเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ เราก็เลยต้องโยงความโชคดีเหล่านั้นเข้ากับสิ่งของหรืออะไรที่จับต้องได้” ซึ่งเป็นที่มาของเครื่องรางนำโชคต่าง ๆ และมันก็ทำงานคล้าย ๆ กับที่บรรพบุรุษเราต้องการ นั่นคือสร้างความสบายใจ ความรู้สึกที่ว่าเราควบคุมสถานการณ์นั้น ๆ ได้ โดยที่จริงแล้ว เคยมีการศึกษาในปี 2010 ที่แบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มในการทดลอง และให้พวกเขาลองพัตต์กอล์ฟ โดยกลุ่มที่สามารถพัตต์กอล์ฟได้ดีกว่า คือกลุ่มที่ผู้ทำการทดลองแอบไปบอกตอนต้นว่า “ลูกกอล์ฟที่พวกเขาได้คือลูกกอล์ฟนำโชคนะ”

อีกหนึ่งตัวอย่างจากงานวิจัยของ Maia Young รองศาสตราจารย์ที่ UCLA Anderson School of Management ระบุว่าการมองโลกในแง่ดี ก็ส่งผลต่อความโชคดีเหมือนกัน อธิบายง่าย ๆ คือถ้าเราเชื่อจริง ๆ ว่าตัวเองจะโชคดี และเรื่องดี ๆ จะเกิดขึ้นกับเรา มันจะส่งผลอัตโนมัติให้เราตั้งใจทำงานหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมามากขึ้น และทำให้ผลออกมาดีตามความตั้งใจของเรานั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับใครที่มองโลกในแง่ดีมาก ๆ และเชื่อว่าตัวฉันแหละโชคดีสุด ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเองมองโลกในแง่ดี หรือเพราะตัวเองพกทั้งเครื่องราง ยันต์ และจุดเทียนนำโชคทุกวัน ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เขาเหล่านั้นจะโฟกัส และรู้สึกว่ามีแต่เหตุการณ์ดี ๆ เกิดขึ้นกับเขาไปโดยปริยาย
จริงหรืองมงาย? วิเคราะห์พลังของตารางสีมงคลประจำวัน

จากตัวอย่างเหล่านี้ ก็พอจะแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางไสยศาสตร์แอบส่งผลในเชิงจิตวิทยาของเราอยู่เหมือนกัน และดูจะไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติซะทีเดียว ถ้าเราเชื่อว่าเราจะโชคดี หรือได้ทำอะไรบางอย่างที่จะส่งผลให้เราโชคดี เช่น เดินเข้าห้องประชุมด้วยเท้าขวา ไหว้พระก่อนไปสอบ หรือแม้กระทั่งใส่เสื้อตรงตารางสีมงคล ก็เป็นไปได้ที่ความเชื่อเหล่านี้จะทำงานกับตัวเรา และส่งผลให้เรา “โชคดี” ขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้นะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow