พลิกวิกฤตให้ชีวิตเข้มแข็ง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

พลิกวิกฤตให้ชีวิตเข้มแข็ง

icon-access-time Posted On 25 กุมภาพันธ์ 2559
By Krungsri Academy
เบื้องหลังชีวิตของผู้ที่แข็งแกร่งมักต้องฝ่าวิกฤตที่เจ็บปวดมาก่อนเสมอ ความเจ็บปวด คือ วิตามินเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ วิกฤตจึงเป็นเพียงแค่อุปสรรคระยะสั้นเท่านั้น หากเรามองมันเป็นบทเรียน จดจำเหตุและผลที่เกิดขึ้นมาแก้ไขและปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงิน การงาน และความสัมพันธ์ ทั้งหมดล้วนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของคนทำงานวัยหนุ่มสาวที่ยังมีฝันให้สานต่อจนเกิดผลสำเร็จในอนาคต

ความสัมพันธ์ที่ปวดร้าว ต้องใช้เวลาสมานแผล


ใครบ้างไม่เคยอกหัก เราเชื่อว่าส่วนมากล้วนมีประสบการณ์ทางความรู้สึกนี้มาแล้ว ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ความรู้สึกที่ชอกช้ำก็เป็นวิกฤตต่อการดำเนินชีวิต ที่ส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจ และหน้าที่การงาน แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไข จากประสบการณ์เราพบว่ามีองค์ประกอบอยู่สองทางด้วยกัน ได้แก่ การใช้เวลาเยียวยา และการพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง
อย่างแรกเราไม่ควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ออกไปหากิจกรรมข้างนอกทำ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น จากนั้นลองเปิดใจให้โอกาสตัวเองพัฒนาชีวิตด้วยการตั้งเป้าหมายบางอย่าง และมุ่งมั่นทำให้สำเร็จเพื่อตัวเราเอง และสมาชิกในครอบครัวที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด หากเราก้าวผ่านมรสุมความรู้สึกในช่วงเวลานั้นมาได้ เชื่อได้เลยว่าชีวิตจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

ตกงาน คือ ความทุกข์ ต้องระงับด้วยความขยัน


ครั้งหนึ่งเราเคยตกงาน เดินเตะฝุ่นอยู่หลายเดือนจนเริ่มเกิดความท้อแท้ ทว่าจุดเปลี่ยนคือ การอ่านหนังสือของคนพิการชาวญี่ปุ่นเล่มหนึ่งที่ทำให้เรามีแรงบันดาลใจกลับมาสู้ชีวิตได้อีกครั้ง หนังสือเล่มนั้นสอนเราว่า ‘ความพ่ายแพ้ คือ การล้มเลิก แต่ถ้ายังไม่เลิกแสดงว่ายังไม่ล้ม’ จากนั้นเรามุ่งมั่นหางานในสายอาชีพที่เราถนัดที่สุด จนกระทั่งได้งาน
บทเรียนระหว่างตกงานได้สอนเราว่า หากเราไม่ย่อท้อ ขยัน อดทน และหมั่นวิ่งเข้าหาโอกาส ต้องมีสักครั้งที่โอกาสนั้นจะเป็นฝ่ายเข้าหาเราบ้าง และเมื่อเราได้โอกาสนั้นมาแล้วก็ไม่ควรปล่อยให้มันหลุดมือไปง่าย ๆ ควรตั้งใจและขยันทำงานอย่างมีสติ อ่านเกมการทำงานให้ออก เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิต และหน้าที่การงานไปเรื่อย ๆ หากวันใดเริ่มท้อแท้ให้ย้อนไปทบทวนความรู้สึกในวันที่ตกงาน เราจะได้มีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาใหม่

การเงินล้มเหลว ต้องเยียวยาด้วยการวางแผน


‘วิกฤตทางการเงิน’ มักเป็นโจทย์ยากเสมอ หากเราสามารถนำพาชีวิตผ่านพ้นวิกฤตไปได้ วิกฤตเหล่านั้นจะสอนถึงคุณค่าของการออมและการลงทุนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งแตกต่างจากวิชาการเงินในมหาวิทยาลัยที่เราเคยเรียนมาอย่างแน่นอน เราขอยกตัวอย่างประสบการณ์สไตล์การออมแบบ Daily / Weekly / Casually ที่เราออกแบบขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงของเรา ดังต่อไปนี้
 
Daily คือ การออมเงินวันละ 20 บาท ทุกวัน เมื่อครบ 1 ปี เราจะมีเงิน 7,300 บาท
Weekly คือ การออมเงินสัปดาห์ละ 100 บาท ทุกสัปดาห์ เมื่อครบ 1 ปี เราจะมีเงิน 5,200 บาท
Casually คือ การออมเงินแบบบังเอิญจากการสะสมธนบัตร 50 บาท ซึ่งข้อนี้จะไม่มียอดสะสมแบบตายตัว
หากนำเงินที่สะสมตลอดทั้งปีมารวมกัน อย่างน้อยเราจะมีเงินเก็บต่อปีถึง 12,500 บาท ซึ่งเราสามารถนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในกองทุน หรือตลาดหุ้นได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการและความรู้ในการบริหารเงินก้อนนี้ต่อไป นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤตทางการเงิน และสามารถหาทางแก้ไขจนได้เงินออมก้อนใหญ่ แค่นี้ชีวิตก็สตรองขึ้นแล้ว
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา