หุ้นดี ๆ ดูที่ตรงไหน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

หุ้นดี ๆ ดูที่ตรงไหน

icon-access-time Posted On 18 มกราคม 2559
By Krungsri Guru
หุ้น “ดี” ขึ้นอยู่กับลักษณะของการลงทุนครับ หุ้นดีสำหรับนักลงทุนแนว VI อาจจะไม่ใช่หุ้นที่ดีของนักลงทุนแบบเก็งกำไร ในบทความนี้ ผมขอเสนอตัวอย่างลักษณะของหุ้นดีด้วยปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเหมาะสำหรับเพื่อน ๆ นักลงทุนระยะกลางถึงยาวที่ไม่มีเวลาจับตามองการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นรายวัน
การซื้อหุ้น คือ การซื้อธุรกิจ ดังนั้น ในการเลือกซื้อหุ้น เราจึงควรมีความรู้ในบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน เช่น ทำธุรกิจอะไร สินค้าคืออะไร รายได้มาจากทางใด มีคู่แข่งคือใคร ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อธุรกิจของบริษัท รวมทั้งสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้ โดยทั่วไปแล้ว หุ้นหรือบริษัทที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีผลประกอบการดี เติบโตอย่างสม่ำเสมอ มีกำไรอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้จากงบการเงินในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ โครงสร้างรายได้ของกิจการ ต้นทุนการขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ดอกเบี้ยจ่าย หรือต้นทุนทางการเงิน โดยเราสามารถใช้ข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ ร่วมกับคาดการณ์รายได้ในอนาคต

2. ดูอัตราส่วนทางการเงินประกอบ เช่น

  • P/E (Price-to-Equity)ต่ำ ค่า P/E คือ ราคาหุ้นหารด้วยราคากำไรสุทธิต่อหุ้น ซึ่งจะเป็นค่าที่บอกความถูกหรือแพงของหุ้นนั่นเอง หุ้นที่ PE สูงกว่าหมายความว่า เป็นหุ้นที่แพงกว่า อย่างไรก็ตาม ระดับค่าของ P/E ที่ว่าต่ำหรือสูงนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้น P/E จึงเหมาะกับการเปรียบเทียบหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • P/BV (Price-to-Book Value)ต่ำ P/BV คือ ราคาหุ้นหารด้วยมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น หุ้นที่มี P/BV น้อยกว่า 1 หมายความว่า ราคาหุ้นในขณะนั้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ดังนั้น P/BV ยิ่งต่ำ แปลว่า ราคาหุ้นยิ่งถูก
  • ROE (Return on Equity)สูง ROE ใช้ดูความแข็งแกร่งของบริษัท คำนวณจากกำไรสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นเป็นตัวเลขที่บอกถึงความสามารถในการทำกำไรของเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น เราอาจดูค่า ROE ย้อนหลังไปสัก 5-10 ปีเพื่อดูอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทว่าโตอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
  • DE (Debt-to-Equity)ต่ำ ค่า DE คือ อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งแสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของกิจการ ว่าเป็นเงินกู้ยืมต่อเงินลงทุนในสัดส่วนเท่าใด การกู้ยืมย่อมทำให้บริษัทมีภาระในการชำระดอกเบี้ย ดังนั้น ค่า DE ที่ต่ำกว่า หมายถึง ภาระดอกเบี้ยที่น้อยกว่า
  • Dividend Yieldหรือเงินปันผล หากใครชอบเงินปันผล ให้เลือกหุ้นที่มี Dividend Yield สูง ๆ

3. บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

โดยมากจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น ถ้าคิดถึงผลิตภัณฑ์นี้ คนส่วนมากจะนึกถึงยี่ห้ออะไรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม บริษัทที่สามารถครองใจผู้บริโภคได้อาจไม่ใช่บริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมก็เป็นได้

4. ความสามารถของผู้บริหาร และธรรมาภิบาลของบริษัท

แน่นอนว่า การเติบโตของบริษัทย่อมขึ้นอยู่กับการบริหารของผู้นำ อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะทำความรู้จักกับผู้บริหารโดยตรง แต่เราสามารถอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อพิจารณาดูแนวคิด หรืออาจได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับพนักงานในบริษัทก็ได้ครับ

5. บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตหรืออยู่ใน Mega Trend

เช่น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุน่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มโรงพยาบาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานย่อมมีผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายลดภาษี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นต้น
เราอาจจะเริ่มคัดเลือกหุ้นจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เรามีความเข้าใจ เช่น หากคุณทำงานอยู่ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำให้เข้าใจ Demand/Supply และรู้แนวโน้มของธุรกิจว่า เป็นขาขึ้นหรือขาลง รวมทั้งรู้ว่า บริษัทใดเป็นเบอร์หนึ่ง หรือสองของอุตสาหกรรม ก็จะช่วยให้เรามั่นใจ และสามารถคัดกรองหุ้นดีในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกหุ้นดี ๆ โดยสังเกตจากสัญญาณรอบ ๆ ตัว เช่น บริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมค้าปลีกมีการขยายสาขา ทั้งยังมีลูกค้าใช้บริการอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นสัญญาณที่ดีของรายได้ที่จะสูงขึ้น
 
ความสามารถในการเลือกหุ้น ขึ้นอยู่กับข้อมูล และความเข้าใจของเราที่มีต่อบริษัท อย่าเชื่อว่าหุ้นดีเพียงเพราะมีคนบอกมา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา