คิดก่อนกู้ รู้ทันทุกเงื่อนไข
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

คิดก่อนกู้ รู้ทันทุกเงื่อนไข

icon-access-time Posted On 28 กันยายน 2558
By Yui Get Rich
ถ้าพูดถึงเรื่องการติดต่อธนาคาร การขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือการขออนุมัติวงเงินกู้เรื่องอื่น ๆ หลายคนคงไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับธนาคาร เพราะคงคิดเช่นเดียวกันว่า เป็นเรื่องน่าเบื่อ ยุ่งยาก เอกสารมากมาย แค่ฟังก็ปวดหัวแล้วจริงไหมคะ ดังนั้น เราลองมาเปลี่ยนวิธีคิดกันเสียใหม่ว่า การขอสินเชื่อไม่ยากอย่างที่คิด
สิ่งแรกและสิ่งสำคัญ ผู้ที่จะเข้าไปขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต้องเปลี่ยนความคิดเสียก่อน ต้องคิดใหม่เสียว่า เราคือลูกค้าธนาคารชั้นดีที่จะผ่อนจ่ายตรงตามเวลา ดอกเบี้ยที่เราจ่ายคือรายได้ของธนาคาร ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายอย่ากังวลค่ะ เมื่อปรับความคิดนี้ได้ คุณจะเดินเข้าไปขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นใจ
จากนั้นเราลองมาดูหลักและวิธีการคิดก่อนกู้เพื่อที่จะรู้ทันกฎระเบียบของธนาคารกันก่อนดีกว่าค่ะ

1. สำรวจตัวเอง

 
ว่าฐานะการเงินและความพร้อมในการต้องการกู้ของเรามีความพร้อมมากแค่ไหน มีหนี้ติดตัวมาหรือไม่ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้การกู้สินเชื่อ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา ธนาคารถึงจะมองว่าเรามีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ นอกจากสำรวจรายรับของตัวเองแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมสำรวจศักยภาพของที่ทำงานด้วยนะคะ บางท่านทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่มีสัญญากับสถาบันการเงินอยู่แล้ว คุณจะได้สิทธิพิเศษทันที แนะนำให้ใช้สถาบันการเงินที่มีสัญญากับที่ทำงาน ลองนำอัตราดอกเบี้ยที่ได้ไปเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่น ๆ สัก 2-3 แห่ง แล้วเลือกได้เลยค่ะ

2. สำรวจอัตราดอกเบี้ย

 
เพราะธนาคารจะมีเงื่อนไขให้อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันและวงเงินให้กู้แตกต่างกันค่ะ เช่น ถ้าสินทรัพย์ราคาต่ำ เป็นต้นว่า คอนโดราคาต่ำกว่า 300,000 บาท บางธนาคารจะไม่อนุมัติ ดังนั้น อันดับแรก เราต้องเช็คก่อนค่ะว่า วงเงินกู้ของเราที่ตั้งไว้กู้ผ่านเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่

3. สำรวจอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

 
ลองเลือกธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ต่ำที่สุด โดยทำการหาข้อมูลและทำตารางเปรียบเทียบ สิ่งที่ต้องเปรียบเทียบดังนี้คือ
  • วงเงินกู้ที่แต่ละธนาคารให้กู้ เช่น บางธนาคารให้กู้ 80-100%
  • เปรียบเทียบ MLR ของแต่ละธนาคาร
  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1
  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 2
  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 3
  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 4 ที่ให้เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ปีนั้นก็เพื่อใช้ในการคำนวณว่าตลอดอายุการผ่อนอย่างน้อย 3 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ เพราะบางคนหลงดูแต่โปรโมชั่นที่ล่อตาล่อใจในช่วง 1 - 2 ปีแรก ซึ่งอาจถูกหลอกตาด้วยตัวเลขที่เร้าใจได้ค่ะ ดังนั้นการนำอัตราดอกเบี้ยทั้ง 4 ปีมาคำนวณจะช่วยให้เราทราบอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แท้จริงและปลอดภัยสำหรับการเลือกสินเชื่อได้

4. เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย

 
โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่จัดโปรโมชั่นในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งโดยปกติค่าธรรมเนียมการยื่นกู้จะอยู่ที่ 0.10% - 0.25 %
ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนในกรณีที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด หมายถึง กรณีที่ผู้กู้ต้องการจะไถ่ถอนก่อนครบสัญญาที่กำหนดไว้ ค่าปรับนี้ธนาคารต่าง ๆ จะคิดไม่เท่ากันค่ะ โดยส่วนมากธนาคารจะหัก 2-3% ของวงเงินกู้ทั้งหมด เช่น กู้ 1,000,000บาท หากต้องการไถ่ถอนภายใน 3 ปี ผู้กู้จะเสียค่าปรับ 2% เป็นเงิน 20,000 บาท เป็นต้นค่ะ
ค่าประเมินทรัพย์ที่ต้องเปรียบเทียบ เพราะแต่ละธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันบ้างค่ะ เนื่องจากธนาคารทุกแห่งจะต้องจ้างบริษัทประเมินเพื่อดำเนินการในส่วนนี้ ดังนั้นราคาและธนาคารย่อมแตกต่างกันโดยจะอยู่ที่ 1,700 – 3,000 บาท นอกเสียจากเป็นการซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด มือหนึ่งจากโครงการ ธนาคารจะใช้ราคาซื้อขาย ณ ปัจจุบัน ถือเป็นราคาประเมินซึ่งจะไม่มีการเรียกเก็บจากลูกค้าค่ะ
หากดอกเบี้ยผิดนัด โดยปกติถ้าผู้กู้จ่ายเงินไม่ตรงเวลาหรือผิดนัด ธนาคารแต่ละแห่งจะมีการคิดดอกเบี้ยเพื่อปรับ ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะคิดไม่เท่ากันค่ะ ดังนั้นผู้กู้ควรศึกษาเรื่องนี้ไว้ด้วยจะดีค่ะ เพราะดอกเบี้ยค่าปรับหรือดอกเบี้ยผิดนัดนั้นค่อนข้างสูงโดยจะอยู่ประมาณ 10-15% สิ่งที่ดีผู้กู้ต้องรู้ทันและมีสติด้วยนะคะ หากเผลอลืมชำระค่างวดรับรองดอกเบี้ยบานแน่ค่ะ
ค่าประกันภัยที่อยู่อาศัย หลังจากได้รับอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารทุกแห่งมักจะให้ผู้กู้ทำประกันอัคคีภัย ซึ่งผู้กู้ต้องเสียค่าประกันอัคคีภัยกับบริษัทประกันด้วย นอกจากนี้ธนาคารมักเชิญชวนผู้กู้ทำประกันชีวิตด้วย หากกรณีผู้กู้เสียชีวิต บริษัทประกันจะชดใช้หนี้ทั้งหมดให้กับธนาคาร ซึ่งกรณีนี้ธนาคารไม่ได้บังคับ แต่ธนาคารส่วนใหญ่มักมีการจูงใจโดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงหากผู้กู้ทำประกันชีวิตอีกด้วย ซึ่งทั้งนี้ผู้กู้ควรรู้และตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวผู้กู้เองด้วย

5. เงื่อนไขและกฎเกณฑ์

 
แต่ละธนาคารมักมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันค่ะ ดังนั้นเราควรศึกษาและเปรียบเทียบก่อน เช่น บางธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่า ผู้กู้มีรายได้และมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ อายุ (ถ้าอายุมากระยะเวลาในการกู้ยืมจะสั้น ดังนั้นผู้กู้สามารถหาผู้กู้ร่วมเผื่อไว้ด้วยได้ค่ะ) อาชีพ รายรับทางบัญชี งบการเงิน
สำหรับเทคนิคง่าย ๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้กู้รู้ทันและเตรียมตัวที่จะศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเลือกสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น วิธีง่ายที่สุดที่จะหาข้อมูลคร่าว ๆ คือ เลือกห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่พอควร แล้วไปเที่ยวห้างนั้น จากนั้นก็เดินขอรายละเอียดจากธนาคารในห้างนั้นได้เลย ได้เที่ยวและยังได้ข้อมูลอีกด้วยค่ะ
อย่าลืมนะคะ เราต้องการเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด เงื่อนไขเหมาะสมกับเรามากที่สุด ขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินก็ต้องเลือกคุณสมบัติของผู้กู้ด้วยเช่นกันค่ะ ว่าเรามีคุณสมบัติที่ดีพอกับการเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้น ๆ หรือไม่ ดังนั้นแล้วหากเพื่อน ๆ มีการวางแผนที่จะขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในอนาคต รีบวางแผนแล้วเคลียร์หนี้สินที่มีอยู่ ใช้เงินอย่างมีระบบ เริ่มวางแผนการใช้จ่ายและการออมได้แล้วตั้งแต่วันนี้นะคะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา