รู้จักภาษีคริปโต! จัดการยังไง? ให้หายห่วง
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

รู้จักภาษีคริปโต! จัดการยังไง? ให้หายห่วง

icon-access-time Posted On 01 กุมภาพันธ์ 2565
By Krungsri The COACH
ประเด็นร้อนแรงสำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี่ ในช่วงเวลานี้นอกจากกระแสของเหรียญที่มีการผันผวน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาษีคริปโตฯ หรือการที่เราต้องเสียภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ราว ๆ 15% ณ ที่จ่าย สงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าทำไมถึงต้องเป็นตัวเลขที่ 15% นั่นก็เพราะว่า คริปโตฯ นั้นถูกจัดอยู่ในหมวดการลงทุน โดยปกติแล้วมาตรฐานเงินได้จากหมวดนี้ต้องเสียภาษีขั้นพื้นฐาน 15% แบบเดียวกับดอกเบี้ยเงินฝาก หรือดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง ทางกรมสรรพากรเลยใช้เกณฑ์เดียวกันกับรายได้ที่นักลงทุนได้จากการลงทุนในคริปโตฯ ด้วยนั่นเอง
รู้จักภาษีคริปโต! จัดการยังไง? ให้หายห่วง

กลับมาที่ข้อสงสัยของนักลงทุน ก็ปกติหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลไม่ใช่ กลต. อย่างนั้นหรอ ทำไมหน่วยงานกรมสรรพากรต้องมาเกี่ยวข้องกับคริปโตฯ?

พูดกันให้ง่าย ๆ อย่างนี้สำหรับเรื่องของคริปโตฯ กับระหว่าง 2 หน่วยงานของภาครัฐ ในส่วนของ กลต. จะมีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจ ร่างกฎหมาย หรือการออกดิจิทัล โทเคน หากเราเพียงแค่ถือครองไม่ได้เกิดกระบวนการซื้อ-ขาย หรือมีเรื่องรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีปัญหาเกี่ยวกับเหรียญดิจิทัล เช่น โดนฉ้อโกง หรือถูกขโมยไปจากกระเป๋าเงินดิจิทัล ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้หน้าที่ของหน่วยงาน กลต.
แต่ถ้าวันไหนที่เราไม่อยากถือครองเหรียญดิจิทัล แล้วอยากทำการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสด ในเรื่องของการเสียภาษีจะเป็นกรมสรรพากรเข้ามาดูแล และการเสียภาษีจากคริปโตฯ จะแบ่งจาก 2 กรณีดังนี้
  1. รายได้จากส่วนแบ่งกำไร: หากว่าเรานำเหรียญดิจิทัลไปลงทุนอย่างเช่น Staking หรือใน Defi แล้วเราได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญดิจิทัล ภาษีคริปโตส่วนนี้จะคิดจากเหรียญดิจิทัลที่เราได้ส่วนแบ่งออกมา
  2. รายได้จากการขายเหรียญ: ข้อนี้ตรง ๆ เลย ถ้าเราขายเหรียญดิจิทัลไม่ว่าสกุลใดก็ตาม แล้วได้กำไรไม่ว่าเท่าไหร่ จำนวนเงินที่เราเพิ่งทำธุรกรรมซื้อ-ขาย จะถูกนำเสียภาษีนั่นเอง
รู้จักภาษีคริปโต! จัดการยังไง? ให้หายห่วง

แล้วภาษีคริปโตฯ ต้องเสียภาษีในรูปแบบใดบ้าง?

การที่เราได้กำไรจากการลงทุนคริปโตฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการคำนวณภาษีได้ และต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 15% ตัวเลขนี้เองที่ทำให้นักลงทุนหลายคนวิตกกังวลเกี่ยวกับการซื้อ-ขายคริปโตฯ ในบ้านเรา

ตัวอย่างการคิดภาษีคริปโตฯ แบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เราแลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญดิจิทัลได้กำไรมา 10,000 บาท เราต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน 15% = 10,000 x 15% = 1,500 บาท สรุปได้ว่าจากการซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัลในครั้งนี้เราจะเหลือกำไรคือ 10,000 – 1,500 = 8,500 บาท และการหักภาษี 15% ตรงนี้ ยังไม่ได้ถือว่าเป็น Final tax เพราะในรอบการยื่นภาษีในรอบปีภาษีใหม่เรายังต้องนำส่วนแบ่งกำไร หรือกำไรจากการขายเหรียญดิจิทัลมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย หากไม่นำมายื่นอาจมีความผิดในการหลบเลี่ยง หรือแสดงรายการยื่นภาษีไม่ครบ ก็อาจโดนบทลงโทษต่อไป
ตัวอย่างการคิดภาษีคริปโตฯ แบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pptvhd36.com

แล้วกรมสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีกำไรจากคริปโตฯ เท่าไหร่?

ถึงแม้ในทางกฎหมายเราจะบอกได้ว่าเราต้องคำนวณหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ เว็บเทรดในบ้านเรายังไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของกำไรได้โดยตรง หน้าที่เลยตกมาอยู่ที่นักลงทุนต้องมานั่งคำนวณการซื้อ-ขายในแต่ละครั้งว่าเราได้กำไร หรือขาดทุนด้วยตัวเอง และในตอนนี้ก็ยังไม่มีการบังคับเรียกเก็บภาษีจริง ๆ จากกรมสรรพากรบนเว็บเทรดในบ้านเรา แต่ป้องกันการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เพื่อความสบายใจเวลาทำธุรกรรมซื้อ-ขาย ให้เราเก็บหลักฐานทุกครั้ง ยื่นภาษีในเงินได้ในแต่ละปีอย่างครบถ้วน ก็หมดห่วงว่าจะผิดกฎหมาย
การเก็บภาษีคริปโตฯ ทำให้เทรนด์การลงทุนเปลี่ยนไปหรือไม่?

การเก็บภาษีคริปโตฯ ทำให้เทรนด์การลงทุนเปลี่ยนไปหรือไม่?

ไม่แปลกที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องของการเก็บภาษี แต่อาจไม่ส่งผลโดยรวมกับการลงทุนเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ หากจะขายเพื่อทำกำไร อาจต้องยอมรับเงื่อนไขของเว็บเทรดในบ้านเราอยู่แล้ว แต่การเก็บภาษีในครั้งนี้ก็ทำให้หลายคนเลือกที่จะมองหาเว็บเทรดในต่างประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษี แต่แลกมาด้วยความเสี่ยงของข้อมูล หรือทรัพย์สินที่ถ้าหากโดนขโมยข้อมูลไป ก็ไม่สามารถตามคืนมาได้ ต่างจากเว็บเทรดในบ้านเราที่มี กลต. คอยดูแลในส่วนนี้ให้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนว่าหากรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเงินของเราได้ การลงทุนในเว็บเทรดต่างประเทศอาจถูกใจมากกว่า แต่ต้องการความปลอดภัย ลงทุนแบบเสี่ยงน้อย แต่อาจต้องแลกมาด้วยการต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง
ทั้งหมดนี้ก็คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องภาษีคริปโตฯ ที่มีกระแสในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุน อาจต้องรอความชัดเจนทางด้านกฎหมายอีกครั้งหนึ่งจากกรมสรรพากร สำหรับแนวทางการเก็บภาษีคริปโตฯ ในบ้านเราเพื่อการลงทุนอย่างปลอดภัย และหมดความกังวลใจในเรื่องของการเสียภาษี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก itax.in.th
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา