รวมวิธีใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ตามหลักพอเพียง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

รวมวิธีใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ตามหลักพอเพียง

icon-access-time Posted On 03 มิถุนายน 2563
By Krungsri The COACH

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว บางคนตกงาน บางคนเริ่มขาดรายได้ ในทางกลับกันรายจ่ายก็มาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดสาย ไม่เคยหยุดพักให้หายใจเลยสักนิด ดังนั้นเมื่อชีวิตยังดำเนินต่อ ก็ต้องมายิ้มสู้กันสักตั้ง ด้วยการนำหลัก “ความพอเพียง” มาปรับใช้กับการใช้จ่ายและช้อปปิ้งกันสักเล็กน้อย โดยเน้นไปที่คำว่า “พอประมาณ” คือใช้อย่างมีสติ รอบคอบ มีเหตุผล และชาญฉลาด ซึ่งจะมีวิธีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

เมื่อรายรับลดลง ก็ต้องเริ่มพอเพียงด้วยการลดรายจ่าย มีเท่าไหร่ ใช้เท่าที่มี ไม่ใช้เกินตัว ทุกครั้งที่จะซื้ออะไรต้องชั่งใจและวางแผนให้ดีก่อนว่าอะไรจำเป็นที่สุด ณ ขณะนั้น อาจจะนำปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตที่ประกอบไปด้วย
  • อาหาร
  • ที่อยู่อาศัย
  • เครื่องนุ่งห่ม
  • ยารักษาโรค
มาเป็นตัวตั้งในการลำดับความสำคัญก็ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายแต่ละวันตรงจุดมากที่สุด ข้อไหนไม่จำเป็นก็เว้นไปก่อนเลย เช่น ถ้าวันนี้ไม่สบาย ก็เน้นที่อาหารกับยารักษาโรค หรือถ้าวันนี้ต้องจ่ายค่า เช่าบ้าน ที่อยู่อาศัยอาจจะต้องมาก่อน เป็นต้น

ช้อปของที่ใช้ทดแทนหรือใช้ซ้ำได้

กระแส Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นเรื่องการ Reduce (ลดการใช้), Reuse (ใช้ซ้ำ), Recycles (การแปรรูป) กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ได้ช่วยแค่เรื่องรักษ์โลกเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาเงินในกระเป๋า ชะลอเวลาในการใช้จ่าย ให้เงินอยู่กับเราได้นานขึ้นด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งผักบางชนิดที่เราสามารถนำส่วนหัวและรากมาปลูกกินเพื่อรอกินซ้ำได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ เช่น ต้นหอม, ขึ้นฉ่าย, กระเทียม และแครอท เป็นต้น
นอกจากนี้การใช้ของที่สามารถทดแทนกันได้ ก็ช่วยให้ประหยัดเงินได้อีกแรงไม่แพ้กัน เช่น ใช้น้ำเชื่อมแทนน้ำตาล, ใช้เกลือแทนน้ำปลา โดยอาจจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือจะเป็นสินค้าประเภทเดียวกันก็ได้ แต่เลือกให้มีราคาถูกลง อย่างน้ำดื่ม A ราคา 20 บาท น้ำดื่ม B ราคา 15 บาท ถ้าปกติเลือกซื้อแต่น้ำดื่ม A วันนี้เราสามารถทดแทนด้วยการซื้อน้ำดื่ม B แทนได้ ซึ่งจะทำให้เราประหยัดเงินไป 5 บาททันที

ช้อปอย่างฉลาดต้องหาช่องทางประหยัด

แม้จะเน้นช้อปปิ้งเท่าที่จำเป็นแล้ว แต่ต้องหมั่นทำการบ้านบ่อย ๆ เพื่อลดเงินที่จะจ่ายออกไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการเปรียบเทียบราคา, การสมัครสมาชิกรับส่วนลดโปรโมชั่น หรือจะสมัคร บัตรเดบิตไว้ใช้แทนเงินสดก็ได้เหมือนกัน เพราะร้านค้าบางแห่งมีโปรโมชั่นสำหรับบัตรเดบิตโดยเฉพาะ แถมบัตรเดบิตยังจำกัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อีกด้วย ฝากเงินไว้เท่าไหร่ ก็ใช้ได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้เงินเกินตัวได้ ใครที่ยังไม่มีบัตรเดบิตก็ลองไปสมัครบัตรเดบิตของกรุงศรีกันได้นะ

มีซื้อก็ต้องมีขายหรือปล่อยเช่าบ้าง

แน่นอนเมื่อรายได้ขาดหาย จะช้อปอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ต้องมีการปล่อยของกันบ้าง เสียสละบางสิ่ง เพื่อบางสิ่ง อะไรที่ไม่ได้ใช้เป็นระยะเวลานาน หรือมีมากเกินความจำเป็น จะขาย หรือ ปล่อยเช่าก็ว่ากันไป เงินในกระเป๋าจะได้ไม่ลดลงอย่างเดียว แต่เพิ่มขึ้นบ้างจากของเหล่านี้ เช่น เอาเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้มาขายเป็นมือสอง, เอากล้องถ่ายภาพมาปล่อยเช่า เป็นต้น อย่างน้อยก็ดีกว่าเก็บไว้จนเสื่อมสภาพจนไม่เหลือแม้แต่ราคา หรือจะตั้งกฎเลยก็ได้ว่าถ้าจะช้อปเสื้อผ้าตัวใหม่ ก็ต้องปล่อยเสื้อผ้าตัวเก่าให้ได้ก่อน เพื่อที่เราจะได้นำเงินส่วนที่ขายมาช้อปของใหม่ และช่วยให้เงินในกระเป๋าเราไม่ลดลง

ของที่ไม่ได้ใช้แต่ขายไม่ได้ให้รู้จักแบ่งปัน

เมื่อของบางสิ่งขายได้ ก็ต้องมีอีกหลายสิ่งที่ขายไม่ได้ ถ้าเรารู้ตัวว่าไม่ได้ใช้ ก็แนะนำให้นำไปบริจาคอย่างน้อยของเหล่านั้นอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่น เหมือนที่เคยเป็นประโยชน์กับเราในอดีต ดังนั้นเมื่อรู้จักซื้อรู้จักขายแล้ว ก็ต้องรู้จักแบ่งปันกันด้วย โลกของเราจะได้น่าอยู่ขึ้น
และทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้คุณประหยัดในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ใครที่สามารถทำได้มากกว่านั้น ก็แนะนำให้ลองนำหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เน้นเรื่องการผลิตอะไรที่พอที่จะใช้เอง ลดการซื้อ ลดการช้อป ลดการหยิบยืม เน้นการพัฒนาพื้นที่หรือที่อยู่อาศัยให้อยู่บนพื้นฐานของการอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งใครสนใจก็ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันดูนะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: moneybuffalo.in.th/
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา