ลงทุนหุ้นไทยไม่ไร้เสน่ห์...ยังมีมุมน่าลงทุนที่ห้ามมองข้าม!
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ลงทุนหุ้นไทยไม่ไร้เสน่ห์...ยังมีมุมน่าลงทุนที่ห้ามมองข้าม!

icon-access-time Posted On 29 ตุลาคม 2564
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์
“ตลาดหุ้นไทยไร้เสน่ห์แล้ว...มีแต่ธุรกิจรุ่นเก่า เป็น Old Economy!”
“ตลาดหุ้นไทยสิ้นสุดยุคที่น่าสนใจแล้ว…ต่างชาติขายสุทธิหนัก ๆ แทบทุกปี!”
“ตลาดหุ้นไทยไม่น่าลงทุนแล้ว…ดัชนีป้วนเปี้ยนแถว 1600 มาตั้งแปดปีไม่ไปไหน!”

 
เหล่านี้คือประโยคยอดฮิต ที่เคยได้ยินนักลงทุนรายย่อยบ่นด้วยความหนักอกหนักใจ ทั้งตามงานสัมมนาและบนหน้าแฟนเพจมาตลอดช่วงสองสามปีมานี้ การลงทุนหุ้นไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายเรื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่โตช้า GDP เติบโตต่ำต่อเนื่อง ไร้นวัตกรรมใหม่ พร้อมกับโครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลง (Aging Society)
 
แต่ที่หนักที่สุดก็คือเรื่องวิกฤตโควิด19 ที่ทุบหนักเป็นพิเศษ กระทบประเทศไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบ Globalization เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (“SET”) ไหลดิ่งลงมาจาก 1600 กว่าจุดในช่วงต้นปี 63 ตกต่ำกว่า 1000 จุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 63 แต่ด้วยพัฒนาการต่าง ๆ มาตลอดปีครึ่งที่ผ่านมา ทั้งการค้นพบวัคซีน การระดมฉีด จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอการเพิ่มขึ้นรายวัน บวกกับสารพัดมาตรการการเงิน และการคลัง ด้วยนโยบายดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่ล้นระบบไปทั่วโลก ส่งผลให้ SET ปรับตัวฟื้น รีบาวน์กลับขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง กระทั่งถึง 1630 จุดในปัจจุบัน (ปลายเดือน ก.ย. 64) ในเชิงตลาดหุ้น ถือว่าเราได้ฟื้นกลับมาสู่จุดก่อนเกิดโควิด (Pre-Covid) เรียบร้อยแล้ว
หุ้นไทยไม่ได้ไร้เสน่ห์...ยังมีมุมน่าลงทุนที่ห้ามมองข้าม!

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงจำความเจ็บปวดในช่วงโควิดปี 63 ได้ ซึ่งอดที่จะเปรียบเทียบการลงทุนหุ้นไทยกับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศไม่ได้ เพราะความเป็นจริงที่เราพบ คือตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา (Dow Jones S&P500 และ NASDAQ) ยุโรป (EURO STOXX50) หรือตลาดเกิดใหม่แถวหน้าอย่าง ตลาดหุ้นจีน ไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่ตลาดหุ้นจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอย่าง ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นเวียดนาม ต่างก็ฟื้นตัวได้เร็วและแรงกว่าตลาดหุ้นไทย เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศที่กล่าวมา ไม่เพียงแต่ฟื้นกลับคืนไปสู่จุด Pre-Covid แล้วเท่านั้น หลายแห่งได้ปรับสูงขึ้นกระทั่งสร้างจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยไทยจำนวนมาก เริ่มมองหาโอกาสกระจายการลงทุน (บางส่วน) ไปสู่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ หรืออาจจะเป็นการเปิดพอร์ต Offshore เพื่อลงทุนหุ้นต่างประเทศเป็นรายตัว ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะในยุคนี้ นักลงทุนไม่ควรลงทุนหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศบ้าง ทั้งในแง่การสร้างโอกาสและการกระจายความเสี่ยง

แต่คำถามใหญ่ คือ ตลาดหุ้นไทยสิ้นสุดยุคที่น่าสนใจ ถึงขนาดที่ลงทุนไม่ได้ และเราควรต้องเลิกลงทุนหุ้นไทยไปหาหุ้นต่างประเทศทั้งหมดแล้ว ใช่หรือไม่?

ผมมีข้อมูลฝากท่านผู้สนใจ เพื่อชวนปรับมุมมอง พลิกมุมคิดให้เห็นปัญหาในมุมต่าง และนำไปใช้คิดวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจ
หุ้นไทยไม่ได้ไร้เสน่ห์...ยังมีมุมน่าลงทุนที่ห้ามมองข้าม!

1. โควิดไม่ใช่วิกฤตแรก...ตลาดหุ้นไทยกลับมาได้ทุกครั้ง หลังจากทุกวิกฤต


วิกฤตใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533... วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540… หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime crisis) ปี 2551 ตลาดหุ้นไทยก็เคยผ่านมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งก็จะทำให้หุ้นตกต่ำทั้งตลาดเป็นระยะเวลาหนึ่ง สั้นบ้างยาวบ้าง แตกต่างกันไปตามระดับความใหญ่ และความใกล้ของปัญหา แต่หลังจากผลกระทบจบลง โลกหลังวิกฤตนั้นมีอยู่จริงเสมอ ดัชนีตลาดหุ้น และราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะฟื้นขึ้นได้แรงกลับมาสู่จุดเดิม และเติบโตต่อไปได้ทุกครั้ง ด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง

ในทุกรอบที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤต ก็จะเกิดนักลงทุนหุ้นรุ่นใหม่ ที่ใช้ความกล้าหาญพร้อมความมั่นใจในการวิเคราะห์ กล้าเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำตอนวิกฤต และได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ มาบอกเล่าความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจให้นักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ ต่อไปอีกมากมาย การลงทุนในหุ้นไทยจึงยังมีความหวัง เพราะตลาดหุ้นไทยจึงไม่เคยตาย แค่ตกแรงชั่วคราวเท่านั้น และวิกฤตโควิด19 นี้ก็เช่นกัน

2. วิเคราะห์หุ้นไทย ต้องเน้นไปที่อนาคต


ผมยังเชื่อมั่นว่าหลังจากวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป การตัดสินใจว่าจะลงทุนหุ้นไทยตัวไหนนั้น จะอาศัยแต่ข้อมูลในอดีตเพื่อวิเคราะห์ได้ยากขึ้น เพราะอนาคตอาจจะเปลี่ยนไป จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเปลี่ยนจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ดังนั้นเราควรวิเคราะห์ไปข้างหน้าว่า
  • ธุรกิจของบริษัท ยังคงเป็นสินค้าและบริการที่จำเป็น แข่งขันได้ และไม่ถูกดิสรัปชั่น จริงหรือไม่?
  • สภาพการเงินของบริษัท แข็งแรงพอที่จะรองรับผลกระทบจากโควิดจนข้ามพ้นช่วงการระบาด รวมถึงมีสินทรัพย์ที่ยังมีประโยชน์ต่ออนาคตในการพลิกฟื้น และสร้างการเติบโตต่อไปได้หรือไม่?
  • ผู้บริหารของบริษัท มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถและกล้าหาญต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะสร้างความเข้มแข็งต่อกิจการ ทั้งผ่านการหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจ จัดโครงสร้างกิจการใหม่ สร้างสเกลให้เกิดความประหยัด ได้หรือไม่?

เมื่อมองด้วยเกณฑ์เหล่านี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีหุ้นรายตัวที่น่าลงทุนอยู่ไม่น้อย และสามารถเป็นความหวังในการออมในหุ้นระยะยาวได้ดี

3. ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เหมือนลงเล่นในฐานะเจ้าบ้าน


ในฐานะนักลงทุนไทย เมื่ออยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะตกใจขาย (Panic Sell) เรามีโอกาสที่จะหาข้อมูลในธุรกิจไทยได้มากกว่า จึงประเมินได้แม่นยำกว่า ว่าเราควรใช้ความกล้าหาญเข้าซื้อหุ้นตัวไหนได้ หรือหุ้นตัวไหนไม่ควรเข้าไปยุ่ง ไม่ว่าราคาจะถูกลงไปแค่ไหนก็ตาม จุดตัดสินใจคือข้อมูล

นักลงทุนไทยสายปัจจัยพื้นฐานที่ลงพื้นที่หาข้อมูลในกิจการไทยย่อมได้เปรียบ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นโรงพยาบาล ที่เคยย่ำแย่ในปี 63 เพราะโควิดทำให้ไม่มีลูกค้ากล้าเข้าใช้บริการเลย คนต่างชาติก็เข้ามาไม่ได้ แต่เรายังมั่นใจว่าจุดพลิกฟื้นนั้นมีอยู่ กระทั่งการระบาดระลอก 3 ช่วงเม.ย.ปี 64 ทำให้หลายโรงพยาบาลเอกชนมีลูกค้าแน่นเต็มความจุ ทั้งตรวจหาเชื้อโควิด และเข้าแอดมิททำการรักษา โดยที่ข้อมูลพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นนี้ ยังไม่ปรากฏในงบการเงินแต่อย่างใด นี่คือหนึ่งในโอกาสของการลงทุนหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากความใกล้ชิดข้อมูล แต่หากเป็นกิจการในต่างประเทศเราจะลงพื้นที่หาข้อมูลดี ๆ แบบนี้ได้อย่างไร

ด้วยข้อมูลที่ดีกว่า เราจึงกล้าลงทุนในหุ้นไทยที่จะเป็นโอกาสแห่งทศวรรษในจำนวนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การทุ่มซื้อโอกาสแบบนี้กับหุ้นต่างประเทศจะเสี่ยงกว่ามาก เพราะข้อมูลเราน้อยกว่าและมีโอกาสเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้

4. ตลาดหุ้นต่างประเทศก็มีความเสี่ยงเฉพาะตัวของเขา ตัวเราเหมือนเป็นทีมเยือน


ผมเชื่อในหลักการที่ว่า “กระจายเงินลงทุนในหุ้นหลายตัว เพื่อป้องกันความไม่แน่นอน” การกระจายไปลงทุนต่างประเทศ จึงมองในแง่การกระจายความเสี่ยงและการสร้างโอกาสระยะยาว มากกว่าการมองหาโอกาสแห่งทศวรรษในการ Buy Good Stock at Good Price ได้แบบหุ้นไทยรายตัว ดังนั้นการลงทุนต่างประเทศจึงเป็นลักษณะการซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศหรือลงทุนใน ETF ต่างประเทศ ที่มีการกระจายลงทุนในหุ้นหลาย ๆ ตัว เช่น ลงทุนเป็นดัชนีต่างประเทศ Index Fund หรือลงทุนตามธีม Thematic ETF เช่น ธีมเทคโนโลยี ธีมเฮลธ์แคร์ ธีมพลังงานสะอาด เป็นต้น

ผมมีความเห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้น เช่น S&P500 EUROSTOXX50 NASDAQ CSI300 ฯลฯ มีความสามารถสูง เป็นนักลงทุนที่มีทั้งข้อมูล และเครื่องมือเยอะกว่า ซึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนสถาบัน รายใหญ่ รายย่อย การจะทำผลตอบแทนเอาชนะค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นต่างประเทศทำได้ไม่ง่ายเลย นักลงทุนรายบุคคลส่วนใหญ่ในต่างประเทศจึงนิยมลงทุนผ่านกองทุนรวมกันมาก ในสหรัฐอเมริกาจึงมีกองทุนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเม็ดเงินมหาศาลหลายแห่ง เช่น Vanguard Fidelity Blackrock ARK เป็นต้น มีทั้งทีมงานวิเคราะห์มืออาชีพ มีข้อมูลหนักและหน้าตักแน่น

5. ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราซื้อหุ้นเป็นรายตัว ไม่ได้ซื้อทั้งดัชนี... โอกาสจึงยังมีอยู่


แม้ว่า SET Index อาจจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับสูง 12% ต่อปีได้แบบในช่วงก่อนปี 2012 และจะเติบโตอย่างช้า ๆ ในอีกหลายปี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การเทรดหุ้นไทยจะไม่น่าสนใจ เพราะปัจจัยเชิงคุณภาพของหุ้นไทยนั้น แม้หลายตัวจะด้อยลงจากการเติบโตในอนาคตที่ช้าลง แต่หุ้นไทยหลายตัวก็มีความพยายามในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น
  • เริ่มขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เช่น โรงไฟฟ้าหลายแห่งขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศ ธุรกิจอาหารลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ
  • เริ่มเข้าสู่ธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมเติบโตอยู่ใน S-Curve ใหม่ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เช่น ลงทุนในอุตสาหกรรม EV, พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีการเงิน
  • เริ่มหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจสร้างสเกล ผ่านการ M&A และซื้อกิจการในประเทศ เช่น ห้างค้าส่งใหญ่ซื้อกิจการห้างค้าปลีกใหญ่ ห้างใหญ่ซื้อห้างคอมมูนิตี้มอลล์ กลุ่มรถไฟฟ้าพาร์ทเนอร์กับกลุ่มธุรกิจค้าไอทีและบริหารหนี้ ธนาคารร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมทำบริษัท Digital Lending ฯลฯ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นแข็งแกร่งที่ทำธุรกิจกึ่งผูกขาดในตลาดคู่แข่งน้อยรายอยู่หลายตัว กิจการเหล่านี้มักอยู่ใน SET100 ต่อไปในอนาคตอาจจะขยายธุรกิจในแนวทางข้างต้น หรือหากเริ่มอิ่มตัวโตช้าแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะมีเงินสดเหลือมาก และจะจ่ายปันผลออกมาให้แก่นักลงทุนหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้

โดยสรุปคือ การลงทุนต่างประเทศก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีทุกด้านเมื่อเทียบกับหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยแม้จะมีจุดอ่อนเรื่องการเติบโตที่น้อยลง และอยู่ใน Old Economy แต่ยังมีแง่งามที่น่าลงทุน คือเป็นหนึ่งในตลาด EM (Emerging Market) ที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีในโลกหลังโควิด และมีธุรกิจหลายแห่งที่กำลังปรับตัวสู่อนาคต นอกจากนี้หุ้นไทยหลายตัวยังมีจุดแข็งเรื่องเงินปันผล จึงสามารถลงทุนในหุ้นไทยเพื่อสร้างเงินไหล (Passive Income) ผ่านพอร์ตหุ้นปันผลได้ การลงทุนในหุ้นไทยยังคงมีเสน่ห์ จึงอยากชวนปรับมุมคิด พลิกมุมมองให้เห็นในมุมต่าง แล้วข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา