ออมเงินอย่างไรให้ถึงเป้า
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ออมเงินอย่างไรให้ถึงเป้า

icon-access-time Posted On 25 สิงหาคม 2563
By Krungsri the COACH
หากถามถึง “เงินออม” ที่แต่ละคนมีในตอนนี้ หลาย ๆ คนคงตอบกลับมาทันทีว่า สมัยนี้เงินทองนั้นหายากกว่าแต่ก่อนมาก แถมค่าของเงินก็ลดลงเยอะ ใช้ได้ไม่เท่าไหร่ก็หมดแล้ว จะเหลือที่ไหนไปออม พร้อมทั้งสารพัดข้ออ้างที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการเจียดเงินเพียงเล็กน้อยเก็บไว้ในทุก ๆ เดือน เมื่อเวลาผ่านไป เงินที่เราเก็บไว้นั้นจะมีจำนวนมากขึ้น จนเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย รวมถึงนำไปเป็นเงินทุนเพื่อทำความฝันของเราให้เป็นจริงในอนาคตได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นเงินออมของเรานั้นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เราสามารถเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้ ไม่ว่าจะเป็น
=> เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นเงินก้อน เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าประกันภัยรถยนต์ ค่าส่วนกลางคอนโดมีเนียม ค่าส่วนกลางหมู่บ้าน
=> ออมเงินเพื่อใช้ในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ หรือใช้หาความบันเทิงและให้รางวัลแก่ชีวิต เช่น เงินใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ดูหนัง ชมคอนเสิร์ต สังสรรค์กับเพื่อน
=> มีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ยามเจ็บป่วย ช่วงว่างงาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซ่อมบ้าน ซ่อมรถ
=> ออมเงินไว้ใช้ในอนาคตยามเกษียณ
นอกจากนี้เงินออมนั้นจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีกหลายเท่า เมื่อเราต้องเผชิญกับช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนไทยอีกหลาย ๆ คน ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการออมเงิน และมีเงินเก็บออมไว้น้อยมากหรือแม้แต่แทบจะไม่มีเลย แต่อย่างน้อยวิกฤติในครั้งนี้คงทำให้ใครอีกหลายคนเริ่มที่จะมองเห็นความสำคัญของการออมขึ้นมาบ้าง และกำลังมองหาวิธีการเก็บเงินหลังจากผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับขั้นตอนการเก็บเงินให้ถึงเป้าหมายกันครับ โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นแรก เริ่มจากคำนวณเป้าหมายของการออมเงินก่อน

ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของการออมเงินเท่านั้นที่ต้องมีเป้าหมาย แม้แต่การท่องเที่ยวก็ยังต้องมีจุดหมายปลายทางเช่นกัน เพราะการมีเป้าหมาย ทำให้เรารู้ว่าปัจจุบันตัวเรานั้นอยู่ตรงจุดไหนแล้ว? ยังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย หรือกำลังหลงทางหรือไม่? เข้าใกล้เป้าหมายแล้วหรือยัง? โดยเราสามารถนำหลักการ SMART มาช่วยในการตั้งเป้าหมายที่ดีให้กับเราได้ โดยเป้าหมายที่ดีนั้นต้องมีความชัดเจน (Specific) วัดผลได้ (Measurable) สามารถเป็นจริงได้ (Achievable) สอดคล้องกับความเป็นจริง (Realistic) และมีการกำหนดกรอบเวลา (Timely) ซึ่งจะช่วยให้การตั้งเป้าหมายของเรานั้นชัดเจนขึ้น และกระตุ้นให้เราอยากไปให้ถึงเป้าหมายนั้นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องการเก็บเงิน 1 ล้านบาท ภายใน 10 ปี เราจะสามารถคำนวณหาวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เช่น ต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประมาณกี่ % ต่อปี ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถใช้ Financial Calculator เพื่อช่วยคำนวณตัวเลขตรงนี้ได้ครับ
ขั้นที่สอง ทำความรู้จักกับสินทรัพย์ในการลงทุน
เมื่อเรารู้เป้าหมายที่เราต้องการแล้ว การที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นก็มีหลากหลายวิธี เปรียบเสมือนการเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ที่สามารถไปด้วยเครื่องบินก็ได้ รถยนต์ก็ได้ รถไฟก็ได้ การเก็บออมก็เช่นเดียวกัน เราจึงต้องทำความรู้จักกับสินทรัพย์ที่จะพาเราไปสู่เป้าหมาย เช่น หากเราใช้เงินฝากประจำที่ดอกเบี้ยไม่สูงมากนักก็อาจจะต้องใช้เวลานานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่หากใช้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นก็อาจจะไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเช่นกัน ที่สำคัญต้องยึดเป้าหมายของเราตามหลัก SMART เป็นหลัก ว่าเป็นเป้าหมายแบบไหน ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะสินทรัพย์ทางการเงินแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับเป้าหมายแตกต่างกัน เช่น เงินฝากประจำ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นสำหรับเป้าหมายระยะกลาง – ยาว 3 - 7 ปีขึ้นไป ก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่าง หุ้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินทรัพย์อื่น ๆ เนื่องจากสินทรัพย์เหล่านี้มีความผันผวนสูง หากลงทุนในระยะสั้นนั้นมีโอกาสขาดทุนได้สูง ทำให้อาจจะไม่เหมาะสมมากนัก ตามตัวอย่างในตารางด้านล่าง
ระยะเวลา สินทรัพย์ ตัวอย่าง
ระยะสั้น (1-3 ปี) เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนรวมตราสารหนี้
ระยะกลาง (3-7 ปี) กองทุนรวมผสม
ระยะยาว (7 ปีขึ้นไป) กองทุนรวมตราสารทุน
  • กองทุนรวมตราสารทุน KFGBRAND-A
กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก
  • กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก PRINCIPAL IPROPEN-A
หมายเหตุ: *อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขเป็นไปตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ขั้นที่สาม เลือกวิธีการเก็บออม

ขั้นตอนต่อมาหลังจากที่ทราบเป้าหมาย รู้จักผลิตภัณฑ์ และเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายได้แล้ว ก็ต้องเลือกวิธีการเก็บออมให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ หรือมีการระบุจำนวนเงินออมในแต่ละครั้งด้วยนั่นเอง เช่น เก็บเงินเดือนละครั้ง จำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน หรือจะเป็นการเก็บเงินทุกวันก็ได้ และหนึ่งในวิธีการเก็บออมที่ง่ายที่สุดที่อยากแนะนำให้ทุกคนลองนำไปปรับใช้ ก็คือ การลงทุนแบบ DCA (dollar-cost averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยเราจะกำหนดการลงทุนเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นเท่าไร จะขึ้นหรือจะลงก็ไม่สนใจ การลงทุนแบบนี้จะเป็นระบบที่ตัดเอาอารมณ์ความรู้สึกออกไป เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยเราให้เก็บเงินได้แล้ว ยังช่วยสร้างวินัยในการออมที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะพาเราให้ไปถึงเป้าหมายได้อีกด้วยครับ

ขั้นที่สี่ ติดตามแผนการออมของเราอยู่เสมอ

เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็เพราะการวางแผนการเงินนั้น ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำแค่ครั้งเดียวก็จบโดยไม่ต้องทำอะไรต่อ เนื่องจากแม้ว่าเราจะวางแผนไว้ได้อย่างดีเยี่ยมแค่ไหน หรือลงมือทำไปแล้วบ้างก็ตาม แผนนั้นก็ยังมีโอกาสผิดพลาด จากเรื่องที่เราไม่คาดคิด หรือจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งจากปัจจัยภายใน (ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง) และปัจจัยภายนอก (ปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ เงื่อนไขกฎระเบียบต่าง ๆ) เช่น
เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตที่มีผลกระทบกับรายได้หรือรายจ่าย
หากเป็นด้านรายได้ ก็อย่างเช่น การตกงาน การถูกเลิกจ้าง ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ส่วนด้านรายจ่ายก็อาจจะเกิดรายจ่ายพิเศษขึ้น เช่น การมีบุตรโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือที่บ้านหรือคนอื่น ๆ ในครอบครัว เพราะเกิดเจ็บป่วย หรือทุกข์ร้อนเรื่องเงิน หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่ทำให้มีรายจ่ายที่สูงขึ้น ทำให้เราอาจจะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่แรกได้
เกิดการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนจากการลงทุน
หากพูดถึงกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ไม่ใช่แค่ในระยะสั้น ๆ ที่ทำให้ผลตอบแทนลดลง หรือสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นเติบโตจนมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการเติบโตเริ่มโตช้าลง อาจส่งผลทำให้ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวของตลาดหุ้นลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้สินทรัพย์ที่เราเคยเลือกใช้ อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพียงพอในการบรรลุเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนใหม่
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะสามารถลงมือทำตามแผนที่วางไว้ได้โดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไร เพราะมักจะมีเรื่องที่เราคาดไม่ถึงมากระทบกับแผนของเราได้เสมอ เราจึงต้องมีการทบทวนแผน เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เป็นระยะ อย่างน้อยก็ปีละ 1-2 ครั้ง หรือหากเป็นเรื่องฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบรุนแรง ก็อาจต้องมีการปรับปรุงแผนอย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจถึงขั้นต้องรื้อแผนเดิม แล้ววางแผนกันใหม่ทั้งหมดก็เป็นได้
สุดท้ายแล้วหวังว่าทุกคนจะเริ่มเห็นความสำคัญของการออมเงินมากขึ้น เพราะนอกจากประโยชน์ที่กล่าวไว้ข้างต้น การออมเงินที่ถูกวิธีจะช่วยให้ทุกคนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นอย่ามัวแต่กลัวหรือกังวลว่าเราไม่มีวันทำได้ และไม่ยอมลงมือทำเสียที เพราะในทุก ๆ เรื่อง รวมถึงการออมเงินนั้น ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้น ขอให้ทุกคนมีความสุขในการออมเงินครับ
วางแผนการเงินให้พร้อมสำหรับการลงทุน
คำเตือน:
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • KFGBRAND-A, PRINCIPAL IPROPEN-A อาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ทั้งนี้ โดยปกติ KFGRBAND จะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
  • KFGBRAND-A เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่กองทุนลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
  • PRINCIPAL IPROPEN-A ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จึงอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
  • สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่สาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.กรุงศรี และ บลจ.พรินซิเพิล เท่านั้น
แจก E-Book รวมสูงเก็บเงิน พร้อมวิธีบริหารเงิน ฟรี
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา