อยากลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วเงินไม่สะดุด
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

อยากลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วเงินไม่สะดุด

icon-access-time Posted On 27 มีนาคม 2561
By Maibat
ท่ามกลางกระแสสังคมยุคใหม่กระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนอยากลาออกจากงานประจำหันมาเปิดธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น เพราะเห็นแบบอย่างความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาภายในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน เขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นอัจฉริยะที่เก่งมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นคนธรรมดาที่มองเห็นโอกาสทำธุรกิจช่วยแก้ไขปัญหา (Pain Point) ให้กับคนอื่นได้ จึงสามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าทำงานประจำ เป็นไอดอลให้กับมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่อยากลาออก เพื่อไปเผชิญการแข่งขันในโลกธุรกิจด้วยตนเอง
การลาออกจากมนุษย์เงินเดือนแล้วเงินไม่สะดุด
คอร์สสัมมนาด้านธุรกิจก็มักฉายภาพอาชีพมนุษย์เงินเดือนนั้นล้าสมัย เป็นลูกจ้างคนอื่น ได้เงินเดือนน้อย ไม่มีอิสระด้านเวลา และมักเชียร์ให้ออกมาทำธุรกิจเป็นนายตัวเอง หาเงินจากรายได้ที่หยุดทำงานก็ยังคงได้เงิน (Passive Income) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี และกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนอยากลาออกมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ ธุรกิจเปิดใหม่กว่า 90% ล้มเหลว มีเพียงส่วนน้อยที่รอด ที่สำคัญการสร้าง Passive Income นั้นยากกว่า Active Income มาก อย่างเช่น ลงทุนคอนโดปล่อยเช่า ต้องมีเงินทุนมีความรู้ และพร้อมรับความเสี่ยงสารพัดจากการหาคนเช่าไม่ได้ คนเช่าทำห้องพัง ดอกเบี้ยเงินกู้แพงขึ้นจนไม่คุ้มค่าลงทุน ฯลฯ ดังนั้น หากเราอยากลาออก เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนามจริง
อย่างไรก็ตาม บางคนไม่ได้อยากลาออกเพื่อไปทำกิจการส่วนตัว แต่ด้วยเหตุผลทางครอบครัว อย่างเช่นการลาออกมาเลี้ยงลูก ซึ่งเปรียบดั่งแก้วตาดวงใจ ยอมสละรายได้จากงานประจำและยอมจ่ายเงินก้อนโตให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดี ๆ หวังว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีไปได้ไกลกว่าที่พ่อแม่เคยทำ ซึ่งการลาออกทั้ง 2 เหตุผลล้วนเป็นเรื่องดี แต่ก็มีความเสี่ยงเงินขาดมือหรืออาจถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินจนไม่สามารถชำระเงินได้ เรียกว่าผิดแผน เครียด ชีวิตพัง ผมจึงอยากแนะนำว่าให้เตรียมตัวกับเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. อาชีพเสริม (Second Job)

ใครอยากลาออก อย่าเพิ่งลาออกในทันที แต่ให้ใช้ช่วงเวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ลองทำอาชีพเสริมที่อาจกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคต อย่างการขายของออนไลน์ ลงทุนคอนโด ทำคลิปท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งผมถือว่าการทำอาชีพเสริมเป็นการปูทางไปสู่ธุรกิจส่วนตัวได้อย่างมั่นคง เพราะถ้าลองทำแล้วไม่ใช่ ก็มีเวลาลองใหม่จนเจออาชีพที่สร้างตัวได้อย่างแท้จริง

2. เงินสำรอง (Reserve Money)

ความมั่นคงและปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ เวลาขึ้นเครื่องลงเรือยังต้องมีเสื้อชูชีพ ฉะนั้น ใครอยากลาออกก็ต้องมั่นใจว่าตนเองมีความมั่นคงทางการเงินมากพอ โดยต้องมีเงินสำรองไว้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือนแยกออกจากเงินสำรองที่เป็นทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งมากน้อยต่างกันตามประเภทธุรกิจ ดังนั้น ถ้าเลือกได้ควรเลือกธุรกิจที่ใช้ทุนน้อยก่อนเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

3. หนี้สิน (Debt)

การทำงานประจำเปรียบเหมือนชีวิตในเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่การทำธุรกิจเปรียบเหมือนเดินบุกป่าฝ่าดงต่าง ๆ นานาจนกว่าจะเจอสมบัติ ดังนั้นใครที่อยากลาออกต้องเตรียมตัวเข้าป่า ฟิตร่างกายให้พร้อมที่สุด เช่นเดียวกับการลาออกจากงานประจำต้องเคลียร์หนี้สินออกไปก่อนให้มากที่สุด โดยหนี้สินทั้งหมดไม่ควรเกินทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ แต่หากยังทำไม่ได้ แนะนำให้เก็บความคิดที่อยากลาออกเอาไว้ก่อนจะดีกว่า

4. บัตรเครดิต (Credit Card)

แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าคนที่มีเครดิตเท่านั้นถึงจะทำได้ โดยผู้สมัครบัตรเครดิตต้องมีรายได้มั่นคงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนและมีประวัติการชำระเงินที่ดี หลังจากที่ได้รับการอนุมัติให้กลายเป็นผู้ถือบัตรแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีการตรวจสอบรายได้อีก ดังนั้นก่อนลาออกควรสมัครบัตรเครดิตไว้หลายใบเอาที่มีสิทธิประโยชน์คุ้มค่าและค่าธรรมเนียมรายปีขอยกเว้นได้โดยง่าย เพื่อใช้รูดไปก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง แถมยังจ่ายถูกกว่าชำระด้วยเงินสด โดยต้องไม่ลืมว่าพอใบแจ้งหนี้มา ก็ไปชำระตรงเวลาแบบเต็มจำนวนด้วย

5. บัตรเดบิต (Debit Card)

ทุกวันนี้เราใช้บัตรเดบิตเพื่อกดเงินแทนบัตรเอทีเอ็ม แต่มีบัตรเดบิตประเภทหนึ่งที่ควรถือไว้ เพราะเพิ่มความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนเวลาเข้าโรงพยาบาล โดยเสียค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเล็กน้อยแค่หลักร้อย หากต้องการความคุ้มครองทั้งประกันอุบัติเหตุและค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (PA & OPD) ก็มีให้เลือก โดยเสียค่าธรรมเนียมรายปีหลักพัน ซึ่งผมคิดว่าคุ้มเพราะเดี๋ยวนี้ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ยอมเสียค่าบัตรดีกว่าต้องไปเสียเงินเองทั้งหมด

6. ประกันสังคม (Social Security)

สิ่งสำคัญเมื่อตัดสินใจลาออก คือ จะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงานเพื่อรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 4,500 บาท และยังมีสิทธิคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต
หลายคนที่อยากลาออกไม่รู้ว่าเงินประกันสังคมที่จ่ายไปทุกเดือนส่วนหนึ่งนำไปสะสมเป็นเงินออมชราภาพให้เราสามารถเข้าไปเช็กยอดเงินได้ที่เว็บหรือแอพของประกันสังคมจำนวนเงินเยอะอยู่นะครับ โดยขอคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ส่วนจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินเข้าประกันสังคม ดังนั้นหลังจากลาออกภายใน 6 เดือนควรยื่นสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมต่อแบบผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 เพื่อมีสิทธิประโยชน์คุ้มครองรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ และรักษาสิทธิเงินออมชราภาพ
การลาออกจากมนุษย์เงินเดือนแล้วเงินไม่สะดุด

7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินก้อนในวัยเกษียณ แต่การลาออกทำให้ต้องออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนวัยอันควรและต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้อีกด้วย ข่าวดีปัญหานี้มีทางออกแล้วโดยในปี 2558 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ ให้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF ได้ทำให้สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้หลากหลาย และสะสมเงินไว้จนถึงเกษียณ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
ชีวิตไม่ใช่เรื่องล้อเล่นไม่ควรปล่อยให้เงินสะดุด ใครอยากลาออก แต่ยังไม่มีความมั่นคงทางการเงิน ก็อย่าเพิ่งใจร้อน แม้ว่าจะออกจากงานได้ช้าลง แต่ก็มั่นใจได้ว่าฐานะการเงินปลอดภัย สิ่งที่ผมหยิบยกมา 7 อย่างเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้ และควรศึกษาค้นหาเพิ่มเติมกันนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา