เปิดเทอมนี้! พ่อแม่อุ่นใจมีเงินเก็บแน่นอน
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เปิดเทอมนี้! พ่อแม่อุ่นใจมีเงินเก็บแน่นอน

icon-access-time Posted On 18 พฤษภาคม 2562
By Krungsri The COACH

ฤดูกาลเปิดเทอมมาถึงทีไร คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายมีอันต้องปวดเศียรเวียนเกล้าทุกครั้งไป ใช่ไหมครับ ถ้าคุณมีลูกที่อยู่ในวัยเรียนไม่ว่าจะเรียนชั้นอนุบาล ชั้นมัธยมศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม ความวุ่นวายไม่ต่างกันแน่นอน โดยจะมาในรูปของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือ ค่าไปโรงเรียน และอีกหลายค่าใช้จ่ายจิปาถะ เรียกว่าคุณพ่อคุณแม่มีอันต้องกุมขมับกันทีเดียว

แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย หากคุณมีการวางแผนบริหารจัดการเงินไว้ล่วงหน้า เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายน่าจะมีการจัดการวางแผนชีวิตให้ลูก ๆ ตั้งแต่เกิดจนเข้าโรงเรียนกันแล้วล่ะ แต่น่าจะเป็นแผนการแบบกว้าง ๆ เช่น ตั้งแต่ลูกเกิดต้องใช้เงินเท่าไหร่ ลูกเข้าโรงเรียนควรมีเงินเท่าไหร่ ลูกขึ้นชั้นมัธยมศึกษาต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละเทอมการศึกษา ในแต่ละเดือนกันเลย เราจะมาแนะวิธีการแบบลงลึกในรายละเอียดนี้กัน เพื่อให้คุณวางแผนการเงินได้รัดกุมขึ้น เพื่อไม่ให้ต้องหาเงินกันเหน็ดเหนื่อยในแต่ละเทอม

ทำบัญชีค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของลูก

ภาคการศึกษาของนักเรียนส่วนใหญ่จะมีด้วยกัน 2 เทอม ฉะนั้นคุณควรทำบัญชีแยกออกจากกัน เทอม 1 และเทอม 2 จากนั้นให้ทำบัญชีแยกค่าใช้จ่ายของลูก ๆ แต่ละคนออกจากกันด้วย เช่น ถ้าคุณมีลูก 3 คน ก็ให้แยกออกมา 3 บัญชี ถ้ามีลูกคนเดียวก็ทำบัญชีเพียงบัญชีเดียว เพราะแต่ละครอบครัวอาจมีลูกเรียนอยู่ในระดับชั้นต่างกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย
จากนั้นก็ทำรายการค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าเทอมหรือค่าหน่วยกิต ค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน ค่าสมุดหนังสือ ค่าอุปกรณ์เครื่องเขียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่ากิจกรรมของโรงเรียน ค่าทัศนศึกษา และอื่น ๆ ถ้าลูกแต่ละคนเรียนกันต่างระดับชั้น เช่น คนหนึ่งเรียนระดับมัธยมศึกษา อีกคนเรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยลูกที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยก็จะมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยมากกว่าในระดับมัธยมศึกษา ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องจัดสรรเงินให้ดี แต่ถ้าคุณมีลูก ๆ ที่อายุไล่เลี่ยกัน จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัวไปได้มากทีเดียว เช่น ค่าชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน อุปกรณ์เครื่องเขียน เด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของเงินด้วย แต่ไม่ใช่ว่าพอเป็นลูกคนรองแล้ว ไม่ต้องซื้ออะไรให้เขาใหม่นะครับ คุณควรพิจารณาเลือกซื้อให้เหมาะสม เช่น ชุดนักเรียนใช้ต่อจากของพี่ 2 ชุด ซื้อใหม่อีก 1 ชุด แบบนี้เป็นต้น

แยกค่าเรียนพิเศษ

อย่าคิดว่าค่าเรียนพิเศษไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะยุคนี้แทบไม่มีเด็ก ๆ คนไหนไม่เรียนพิเศษเลย บางคนเรียน 4-5 วิชาเลยก็มี จึงเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเลยที่คุณต้องกันเงินส่วนนี้เอาไว้ด้วย การเลือกเรียนพิเศษก็มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือหนึ่งเด็กเรียนอ่อนในวิชานั้น ๆ กับสองคือ อยากให้เขาได้เรียนวิชานี้เพิ่มเติมที่โรงเรียนไม่มีสอน ถ้าเป็นกรณีแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยติดตามผลการเรียนของลูก ๆ ให้ดีว่าเขาอ่อนวิชาใด แล้วจึงให้เขาเรียนพิเศษเพิ่มเติมในวิชานั้น แต่ถ้าเป็นในกรณีที่สอง เกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเรียนรู้เพิ่มหรือลูก ๆ เอง เขาชอบอยากจะเรียน ก็ได้เช่นกัน เช่น เรียนดนตรี เรียนตีกอล์ฟ เรียนวาดรูป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องจัดสรรเวลาให้ดี อย่าให้กระทบกับการเรียนในภาคปกติ
มีเทคนิคฝากให้คุณพ่อคุณแม่นิดหนึ่งคือ บางโรงเรียนสอนพิเศษ เขาเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ทดลองเรียนฟรีก่อนสมัครเรียน เพื่อจะดูว่าเราเหมาะกับวิชานั้น ๆ หรือไม่ ถ้าไปเรียนแล้วเด็กไม่ชอบ คุณก็ยังไม่ต้องเสียเงินไปฟรี ๆ ถ้าลูกเกิดไม่อยากเรียนขึ้นมา

ค่าเดินทางไปโรงเรียน /ค่าหอพัก ค่ารถโรงเรียน

ถ้าเขายังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้เอง เช่น เด็กอนุบาล หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาไปส่งลูกที่โรงเรียน คุณอาจต้องเลือกบริการรถโรงเรียน ซึ่งคุณต้องเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ด้วย หรือในกรณีที่ลูกคุณอยู่ระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากบ้านคุณมาก ๆ การเดินทางไป-กลับทุกวันอาจทำให้เขาเหนื่อยและล้าเกินไป จนผลการเรียนออกมาไม่ดี คุณอาจจะต้องเตรียมค่าหอพักเผื่อไว้ด้วย แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาจะไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ในส่วนนี้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาจะสามารถไป-กลับเองได้แล้ว คุณสามารถรวมค่าเดินทางไปกับค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือรายสัปดาห์เลยก็ได้

ค่าอาหาร / ค่าจิปาถะ

ค่าอาหารและค่าจิปาถะ เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมักจะจ่ายเป็นรายเดือนสำหรับเด็กโต และจ่ายเป็นรายสัปดาห์สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนวณให้ดีว่า แต่ละวันลูกต้องใช้เงินไปกับค่าอาหารเท่าไหร่ เพื่อให้เขาได้ทานอาหารครบ 3 เวลา นอกจากค่าอาหารแล้ว อาจต้องเผื่อค่าขนมทานเล่นให้เขาบ้างอาจให้พิเศษสัปดาห์ละครั้งในกรณีของเด็กเล็ก เพื่อให้เขารู้จักใช้เงิน ไม่ใช้เงินเกินตัว เด็ก ๆ อาจมีกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรม คุณก็ควรต้องคำนึงถึงเงินส่วนนี้ด้วย เงินในส่วนของค่าอาหารและค่าจิปาถะนี่ละ ที่เด็ก ๆ สามารถเหลือเก็บเป็นเงินออมของเขาได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังเขาให้รู้จักการใช้เงิน ไม่ให้มากจนเขาเหลิงและไม่ให้น้อยจนเขาไม่พอใช้จ่าย
เมื่อแจกแจงค่าใช้จ่ายออกมาได้ทั้งหมดแล้ว คุณก็ควรจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือเร่งด่วนที่ต้องจ่ายเงิน เช่น ค่าเทอมที่ต้องชำระก่อนเปิดเทอม เพื่อให้เห็นภาพ ลองดูตัวอย่างนี้
คุณมีลูกที่อยู่ในวัยอนุบาล 1 คน ควรทำบัญชีแยกเป็นรายการดังต่อไปนี้
เมื่อเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว จะได้ทราบว่าเทอมนี้ต้องเตรียมเงินเท่าไรสำหรับลูก จากนั้นให้เลือกลำดับความสำคัญที่ต้องจ่ายก่อน ค่าอื่น ๆ สามารถชำระที่หลังได้ เช่น ค่าชุดนักเรียน ค่าจิปาถะ เป็นต้น
จะเห็นว่า ถ้าคุณวางแผนอย่างรอบคอบคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ไม่ต้องมานั่งวิตกเมื่อลูกเปิดเทอมเลย แต่ไม่ใช่มัวแต่วางแผนบัญชีค่าใช้จ่ายลูก ๆ ควรวางแผนการเดินทางไปรับ-ส่งลูก ๆ ด้วย ถ้าคุณเป็นคุณพ่อคุณแม่แบบที่ไปส่งลูกไปโรงเรียนเอง ต้องเผื่อเวลาเตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน และเผื่อเวลารถติดด้วย เพราะฤดูกาลเปิดเทอมมาถึงทีไรนอกจากวิกฤตค่าใช้จ่าย ก็จะเป็นวิกฤตการเดินทางเพราะรถแสนจะติดนี่ละครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: money.kapook.com/view87084.html, thansettakij.com/content/280654, shorturl.at/kmBCQ,
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา