บัณฑิตจบใหม่ ทำงานประจำ หรือเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองดี?
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

บัณฑิตจบใหม่ ทำงานประจำ หรือเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองดี?

icon-access-time Posted On 28 พฤษภาคม 2558
By Nani
หัวข้อนี้ตอบยาก เพราะต่างคน ต่างความเห็น ต่างความพร้อม แต่ถ้าถามนานิ นานิเชื่อพี่แสตมป์ อภิวัชร์ เค้าบอกว่า ‘ฉันเชื่อความรู้สึก มันสำคัญกว่าสิ่งใด’ และนานิก็คิดเหมือนพี่แสตมป์ค่ะ ชีวิตเรามันมีทางแยกเยอะแยะเต็มไปหมด ตั้งแต่ม.ปลายแล้วว่าจะเรียนสายอะไรดี จะเข้ามหาวิทยาลัยอะไร คณะอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ปรึกษาคนอื่นไปทั่วตั้งแต่พ่อแม่ เพื่อน และรุ่นพี่ แล้วเราก็จะได้ความเห็นแตกต่างกันเยอะมาก พ่อแม่อาจจะอยากให้เรียนสายวิทย์ รุ่นพี่บอกยาก เรียนไปทำไม เรียนศิลป์คำนวณก็ดีนะ เพื่อนอาจจะแห่กันไปเรียนศิลป์จีนแล้วอยากให้เราตามไปด้วย
 
"เก็บข้อดี ข้อเสียของแต่ละตัวเลือกมาวิเคราะห์ แล้วถามใจตัวเอง"
แต่เอาจริงๆ ค่ะ ไม่ว่าตอนนี้เราจะกำลังยืนอยู่ที่ทางแยกไหนในชีวิต เชื่อนานิเถอะว่าคำตอบที่ดีที่สุดนั้น "อยู่ภายใน อย่าให้คนอื่นตัดสินใจแทนเรา" ไม่ใช่ว่าไม่ให้ฟังความเห็นคนอื่นนะ แต่ให้ฟังแล้วเก็บข้อดี ข้อเสียของแต่ละตัวเลือกมาวิเคราะห์ แล้วถามใจตัวเอง เพราะคนที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับตัวเลือกนั้น ก็คือตัวเรา ถ้าจะทำเป็นตารางเทียบว่าอันไหนดีกว่ากันมันคงจะน่าเบื่อเกินไป เพราะในสถานการณ์จริง มันจะมีเสียงเถียงกันในหัวแบบนี้
นานิ 1:
ทำธุรกิจมันเสี่ยงนะ โอกาสจะสำเร็จมันน้อย งานประจำนั้นมั่นคง แล้วถ้าเราทำงานประจำไปด้วย ลงทุนไปด้วย โอกาสรวยก็มี จะไปเสี่ยงทำไม หรือถ้าอยากทำจริงๆ เอาไว้เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง แล้วค่อยลาออกไปทำธุรกิจก็ได้
นานิ 2:
คำว่าสำเร็จ/รวยคือเท่าไหร่? ถ้า 10 ล้าน 30 ล้าน ก็โอเค ทำงานประจำไปด้วย ลงทุนไปด้วย มีสิทธิ์ถึงได้ไม่ยาก แต่ถ้ารวยคือ 100 หรือ 1,000 ล้าน บอกตรงๆ โอกาสก็พอมี แต่น้อยพอๆ กับทำธุรกิจนั่นแหละ ถ้าตอนยังอายุน้อยๆ แบบนี้ ไม่กล้าเสี่ยง บอกว่า ‘อยากสร้างตัวก่อน มีซัก 10 ล้านก่อนแล้วค่อยออกมาทำธุรกิจส่วนตัว’ ถามว่า สมมติมี 10 ล้านตอนอายุ 30 ปี ป่านนั้นเงินเดือนก็คงหลักแสน แถมอาจจะกำลังเพิ่งสร้างครอบครัว คุณยังจะกล้าเสี่ยงไหม? (ถ้าอยากทำธุรกิจตอนนั้น ทางเดียวที่ไม่เสี่ยงเกินไปก็คือ ทำเป็น Sideline แล้วถ้ามันเวิร์คค่อยลาออกมาทำเต็มตัว แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะสามารถทำเป็น Sideline ได้)
นานิ 1:
แต่ถ้ายอมเสี่ยงตอนนี้แล้วมันไม่เวิร์คละวะ จะเอาอะไรกิน! แล้วอีกอย่าง แค่ตอนสมัครงานประจำหลังเรียนจบใหม่ๆ นี่ก็ยากอยู่แล้ว แล้วถ้าจบมาไม่ทำงาน ไปลองเปิดธุรกิจเองแล้วถ้าล้ม ไปสมัครงานที่ไหนใครจะรับ? 2-3ปีที่ผ่านไป ความรู้ที่จบตรีมามันก็ฝ่อไปหมดแล้ว จะบอกเค้าว่าหายไปทำอะไรมา? จะบอกว่าอ๋อคือ หนูหายไปเปิดบริษัทของตัวเองมาค่ะ แล้วเป็นไงคะน้อง? อ๋อก็ล้มไม่เป็นท่าสิคะพี่ คงจะฮาน่าดู
นานิ 2:
ป๊อดจัง ยังไม่ทันเริ่มทำก็คิดว่าจะเจ๊ง จะเจ๊งท่าเดียว แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันมีทางแก้อยู่ เราต้องมีแผนสำรองอยู่แล้ว และมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นเรา เราจะให้เวลาพิสูจน์ตัวเองซัก 2-3 ปี ถ้าไม่รุ่ง ไม่รอดจริงๆ ล่ะก็ เราอายุยังไม่ถึง 25 ดีเลย ไปเรียนต่อปริญญาโท แค่นี้เราก็กลับมาพร้อมเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนตอนจบตรีใหม่ๆ ละ โน พร๊อพเบล็มจ๊ะ
นานิ 1:
โอเคๆ งั้นทำธุรกิจก็ได้ ลองวัดกันสักตั้ง YOLO! (You Only Live Once)
นานิ 2:
เยี่ยม! แล้วจะทำธุรกิจอะไรดี
นานิ 1:
เดี๋ยวค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ก่อนสิ เพิ่งจะเรียนจบจะไปรู้ได้ไง
นานิ 2:
ก็นึกว่าไอเดียพร้อม ศึกษาการตลาดเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังไม่มีแม้แต่ไอเดีย ก็ทำงานประจำไปก่อนสิ นี่คิดว่าจะอยู่บ้านไปวันๆ จนกว่าจะหาไอเดียเจอหรือไง?! คนที่จะเริ่มธุรกิจหลังเรียนจบเลยโดยไม่ทำงานหน่ะ ควรจะมีอย่างน้อยก็ “ไอเดีย” ที่ทดสอบแล้วว่ามีสิทธิ์เวิร์ค เช่น ถ้ามีสินค้าหรือบริการ ก็ควรจะลองขายอย่างน้อยก็ในมหาลัยตัวเอง หรือออนไลน์ ถ้ามีลูกค้าเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มทำเองคนเดียวไม่ทัน นั่นแหละ มีแวว น่าจะลองลุยดู ไม่ใช่เอะอะก็จะทำธุรกิจทั้งที่ยังไม่มีไอเดีย หรือมีแล้วแต่ยังไม่เคยทดลองขายเลย เอาแต่มโนว่าสินค้าเราดี สินค้าเราเลิศ
เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คงพอจะเห็นภาพแล้วนะคะ ว่าวิธีถามตัวเองมันเป็นยังไง ถ้ายังไม่มีไอเดียอะไรเลย ทำงานไปก่อนก็น่าจะดีกว่า แต่ถ้ากล้าเสี่ยง และคิดว่ามีไอเดียดี ลองตลาดแล้ว ดูจะเวิร์ค ก็จะเหลือแค่คำถามสุดท้ายที่ต้องถามตัวเองก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ นั่นก็คือ “ไฟเราแรงแค่ไหน ใจเราสู้แค่ไหน?” เพราะการทำธุรกิจกว่าจะอยู่รอด ยังไม่ถึงกับประสบความสำเร็จถล่มทลาย เอาแค่อยู่รอด มีเงินพอใช้ มันยากนัก มันต้องผ่านอุปสรรคมากมาย เราจะยอมแพ้ไหมในวันที่มันยาก?
ไม่ว่าคำตอบของแต่ละคนจะเป็นยังไง นานิขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ และเมื่อเลือกทางของตัวเองแล้ว ถ้าไปได้สวยก็ยินดีด้วย แต่ถ้าไปได้ไม่สวย ก็อย่ามองกลับมาด้วยความเสียใจว่าเลือกทางผิด แต่ให้มองกลับมาด้วยความภูมิใจว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่ง เราก็กล้าที่จะเดินตามฝัน ทำตามที่ใจตัวเองเรียกร้อง มันดีกว่าการได้แต่หันหลังกลับมามองด้วยความเสียดาย ว่าทำไมตอนนั้นเราปล่อยให้คนอื่นมาตัดสินใจแทนเรา หรือทำไมตอนนั้นเราถึงไม่กล้าทำตามฝันของตัวเอง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา