5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลงทุนหุ้น
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลงทุนหุ้น

icon-access-time Posted On 25 ตุลาคม 2559
By Dr. Kid
คนที่เล่นหุ้นหรือกำลังจะเริ่มเล่นคงคุ้นเคยกับประโยค “การลงทุนมีความเสี่ยง” กันดี ซึ่งประโยคนี้ก็อาจทำให้หลาย ๆ คนไม่มั่นใจว่า เราเลือกรูปแบบการลงทุน ผ่านหุ้นดีหรือเปล่า จะได้มากกว่าเสียไหม เวลาติดดอย เราจะทำอย่างไรดี หลาย ๆ คนเลยมีความเชื่อผิด ๆ ที่อาจทำให้เล่นหุ้นได้ไม่เต็มที่นัก แล้วความเชื่อเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูและทำความเข้าใจกันครับ

1. เล่นหุ้นต้องมีเวลามาก ทำงานประจำเล่นไม่ได้หรอก


ถ้าจะทำอะไรให้ดีสุด ๆ สักอย่าง ผมเชื่อว่าต้องทำเต็มที่เต็มเวลา อาทิเช่น เป็นนักลงทุนอาชีพอย่าง Warren Buffett ที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อศึกษาข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ
แต่ถามว่าพวกเราส่วนใหญ่ต้องการเป็นนักลงทุนอาชีพ สร้างผลตอบแทน 20% ทบต้นทุกปีตลอดทั้งชีวิตหรือเปล่า? สำหรับผม คำตอบคือ“ไม่” ส่วนใหญ่เราต้องการผลตอบแทนเพื่อชนะเงินเฟ้อ เพื่อกระจายความเสี่ยง และแน่นอนถ้าได้ผลตอบแทนสูงมากกว่าเงินฝากหลาย ๆ เท่าก็สุดแสนจะภูมิใจ
วิธีหนึ่งที่ผมเลือกใช้ และมักจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ที่ทำงานประจำใช้กัน คือ การลงทุนในดัชนี้หุ้น หรือ TDEX ข้อดี คือ ไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์หุ้นกันรายตัว ดูตามดัชนีไปเลย ดัชนีสูงขึ้นก็กำไร เท่านี้เองง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ข้อเสียเดียวที่ผมนึกออก คือ อาจไม่ตื่นเต้นเท่ากับการลงทุนหุ้นตัวเล็ก ๆ วิ่งแรง ๆ เพราะมันคือดัชนีซึ่งเป็นตัวแทนของทั้งตลาดหุ้นนั่นเอง
การลงทุนแบบนี้ นอกจากจะง่ายแล้วยังเป็นเทคนิคที่ผมเรียกว่า Trend Follower คือ เมื่อไหร่ก็ตามเราสามารถคาดเดาเศรษฐกิจมหภาคได้ หรือเห็น Fund Flow จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องเหมือนในปีนี้ เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าดัชนีหุ้นบ้านเราขึ้นแน่ ๆ และตั้งแต่ต้นปี TDEX บวกไปแล้วประมาณ 15% เห็นไหมครับ ไม่ยาก

2. ซื้อหุ้นรายตัว ประเทศนี้ ต้องมีข่าววงใน


ตั้งแต่ลงทุนมาจนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังไม่เคยได้รู้ข่าววงใน และไม่เคยซื้อหุ้นตามโพยหรือตามห้องแชทที่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นใด ๆ เลย และยังทำกำไรอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ หันหลังกลับไปคุยกับเพื่อน ๆ เซียนหุ้นในห้องไลน์กรุ๊ปที่เวลามีข่าวก็เฮซื้อตามกันไป เพื่อนบอกเจ๊งทุกตัว ขายออกไม่ทันเจ้ามือ ตัวที่ไม่เจ๊ง คือ ตัวที่เลือกซื้อกับมือตัวเองเท่านั้น
สำหรับผม ข่าววงในหรือจะสู้ข้อมูลจริง ๆ ของกิจการนั้น ๆ แต่จะไปหาข้อมูลของกิจการนั้น ๆ ได้ที่ไหน ก็ที่เว็บตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนทั้งประเทศ ตั้งแต่สรุปข้อมูลบริษัทจดทะเบียน ผลประกอบการ และงบการเงิน ปัจจุบันนี่ยิ่งง่าย เพราะมีเครื่องมือต่าง ๆ มากมายที่ช่วยย่อย ช่วยกรองข้อมูล ไม่ต้องตีลังกาวิเคราะห์เหมือนเมื่อก่อน
อาทิเช่น jitta.com เว็บนี้ช่วยให้เราดูข้อมูลและเปรียบเทียบบริษัทจดทะเบียนได้แบบที่ผมเรียกว่าง่ายสุด ๆ ที่ผมชอบมาก คือ ส่วนของ Factsheet ที่แยกรายได้ กำไร/ขาดทุน กำไรต่อหุ้น เป็นรายไตรมาสและรายปี ทำให้เราเห็นผลประกอบการในอดีตเทียบกับปัจจุบันแล้วรู้เลยว่าสภาพกิจการเป็นอย่างไร ถ้าผมเห็นว่ารายได้ 5 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส กำไรและกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส จะรออะไรล่ะครับ เตรียมหาจังหวะเหมาะเข้าซื้อเลย
อีกเว็บที่น่าสนใจคือ setmonitor.com อันนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน เพราะสามารถเขียนสูตรและค้นหาหุ้นตามกฎที่เราตั้งขึ้นมาได้เองได้ เรียกว่านักลงทุนสถาบันต้องอิจฉา เพราะหลายฟังก์ชั่นเทียบเคียงกับ Bloomberg Terminal ที่ราคาเหยียบล้านต่อปี แต่อันนี้จ่ายหลักร้อยบาทต่อเดือน
หรือถ้าคนชอบใช้แอปฯ อีกตัวที่ผมชอบ คือ Market Anyware ที่หลายคนใช้อยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะส่วนใหญ่แถมมากับโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่เลย ตัวนี้ก็ช่วยให้เราลงทุนหุ้นรายตัวได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งเริ่มต้นและมือเก๋า ลองเข้าไปทดลองใช้กันนะครับ

3. หุ้นที่ดี ซื้อมาแล้ว ถือได้จนวันตาย


พ่อแม่พี่น้องครับ ผมก็เคยเชื่อว่าคำพูดนี้จริง แต่ถ้าเราไปดูสถิติย้อนหลัง เราจะพบว่ามีหุ้นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่เคยกลับขึ้นมาใกล้จุดสูงสุดเดิมของมัน แปลว่า อยู่ดอยมันหนาวมาก ถ้าไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง และตั้งใจว่าจะอยู่กับหุ้นตัวนั้นจนแก่เฒ่า ผมแนะนำว่า “Cut Loss” ก่อนจะถอนตัวไม่ขึ้น เป็นทางออกที่ดีที่สุด
ลองนึกดูนะครับ ถ้าหุ้นตัวหนึ่งราคาลดลง 20% นั่นแปลว่า ถ้าจะให้มันกลับไปที่เดิม ราคาจะต้องบวกขึ้นไปถึง 25% อูยยย... กว่าจะขึ้นมาได้ทีละ 1-2% ก็แสนยาก ด้วยเหตุผลแบบนี้แหละครับ ยิ่งติดดอยสูงโอกาสจะกลับขึ้นมาก็ยากจริง ๆ
การลงทุนในหุ้น ไม่สามารถใช้หลัก ลงทุนก่อน ลงทุนนาน จะรวยกว่า แต่การซื้อถูกขายแพง (กว่าที่ซื้อ) ในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่างหาก จะทำให้เราได้กำไร เอาไว้ไปลงทุนต่อ

4. ไม่ขาย ไม่ขาดทุน


ใช่ครับ ไม่ขาด ไม่ขาดทุนเป็นตัวเงิน แต่ผมไม่แนะนำ เพราะเราอาจขาดทุนกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากนำเอาเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์อื่นและให้ผลตอบแทนมากกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน
บางครั้งการตัดใจขายขาดทุนเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่ถ้าลองแล้วอาจเสพติดเหมือนผมนะครับ หลายครั้งที่ผมลองมองดูแล้วในระยะ 1-2 ปี หุ้นตัวนั้นดูไม่มีอนาคต เมื่อตัดใจขายได้ และเห็นโอกาสที่ดีกว่า กำไรที่ได้มาจากเงินที่ลดลงจากการขายขาดทุนกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ขาดทุนไป แถมไม่ต้องติดดอยนานด้วย

5. เล่นหุ้นแล้วเดี๋ยวนอนไม่หลับ เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า


ผมเคยได้ยินเพื่อนบอกว่า ไม่อยากเล่นหุ้น เพราะนอนไม่หลับ ผมก็ถามว่าทำไม เขาบอกว่า ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นวันพรุ่งนี้บ้าง กลัวขาดทุน กลัวขายไม่ทันเพราะติดประชุมทั้งวัน กลัวโน่นนี่นั่นสารพัด ผมก็บอกไปว่า ถ้ารับการขาดทุนไม่ได้เลย ก็ไม่ควรจะลงทุนตั้งแต่แรก แต่เรามีหลายวิธีที่จะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลง
เชื่อไหมครับว่า ผมไม่เคยนอนไม่หลับจากการเล่นหุ้นเลย เพราะผมมั่นใจว่าเราได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว มีความมั่นใจในกิจการที่เราเลือกเป็นอย่างดี บางกิจการที่เราเลือก เรารู้จักผู้บริหารเป็นการส่วนตัว ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า บริษัทดี ผู้บริหารมีคุณธรรม ต้องดีกว่าเราไปทำธุรกิจนั้น ๆ ด้วยตนเองเป็นแน่
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความเชื่อผิด ๆ แบบข้างต้นก็เชื่อได้เลยว่าคุณจะต้องเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งอย่างแน่นอน ส่วนใครที่ยังเชื่อแบบนี้อยู่ได้เวลาคิดใหม่แล้ว ขอให้สมหวังเรื่องการลงทุนทุกคนครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา