วิธีบริหารเงินเก็บก่อนแต่งงาน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิธีบริหารเงินเก็บก่อนแต่งงาน

icon-access-time Posted On 18 กุมภาพันธ์ 2558
By Krungsri Guru
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีแผนจะสร้างครอบครัว วันนี้เรามีข้อคิดเรื่องการวางแผนการเงินก่อนแต่งงานมาฝากกันครับ
 
"การจัดงานแต่งงาน นอกเหนือจากการเลือกวันฤกษ์งามยามดีแล้ว การกำหนดวันมงคลอาจจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านการเงินด้วย"
เริ่มกันที่การวางแผนการเงินสำหรับการจัดงานแต่งงาน นอกเหนือจากการเลือกวันฤกษ์งามยามดีแล้ว การกำหนดวันมงคลอาจจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านการเงินสำหรับการจัดงานแต่งงานด้วยจริงไหมครับ จะดีกว่าไหมถ้าก่อนที่จะไปขอฤกษ์จากหลวงพ่อ เรามาตรวจสอบงบประมาณที่มี เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยประมาณ เพื่อจะบอกได้ว่า เรามีเงิน “พร้อม” ที่จะจัดงานแต่งงานเมื่อไหร่
แน่นอนว่างบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงานย่อมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะจัดงานในรูปแบบใด แต่โดยทั่วๆ ไปค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับงานแต่งงาน มีดังนี้
  • สินสอด แหวนแต่งงาน
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมก่อนวันงาน: การ์ดแต่งงานรวมถึงการจัดส่งไปรษณีย์ รูป Pre-wedding ของชำร่วย ทำอัลบั้ม ค่าอัดรูปติดหน้างาน ค่าจ้างทำ VDO presentation
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีงานหมั้น/ ยกน้ำชา: สถานที่จัดเลี้ยง อาหาร ของใช้ในพิธี ของรับไหว้ผู้ใหญ่ ค่าประตูเงินประตูทอง ซองถวายพระ ของชำร่วย ช่างภาพ ช่างวีดีโอ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ค่าชุดแต่งงาน บ่าว สาว และเครื่องประดับ
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดงานเลี้ยง: สถานที่จัดเลี้ยง อาหาร ดอกไม้จัดซุ้ม Backdrop ช่างภาพ ช่างวีดีโอ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ค่าชุดแต่งงาน บ่าว สาว และเครื่องประดับ ค่ารถ ค่าห้องพักสำหรับญาติ (กรณีแต่งงานต่างจังหวัด หรือ กรณีญาติมาจากต่างจังหวัด) organizer พิธีกร วงดนตรี ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับงานเลี้ยง เช่น ค่าเค้ก ค่าสมุดลงชื่ออวยพร
  • Honeymoon trip
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยสำรองไว้อีก 10%
เราอาจประหยัดค่าใช้จ่ายในหลายๆ รายการข้างต้นได้ เช่น เรียกเพื่อนมาช่วยถ่าย Pre-wedding, ทำ VDO Presentation เอง Print card แต่งงานเองและอื่นๆ ลองคำนวณงบประมาณคร่าวๆ สำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละหัวข้อข้างต้นในรูปแบบงานแต่งงานที่คุณคิดเอาไว้ จากนั้นไปเปิดสมุดบัญชีดูว่าเราจะแบ่งเงินเก็บมาใช้ได้แค่ไหน และยังขาดอีกจำนวนเท่าไหร่ สุดท้ายลองคำนวณจากความสามารถในการเก็บเงินแต่ละเดือน ณ ปัจจุบันนี้ เทียบกับส่วนที่ขาด เพื่อคาดการณ์ระยะเวลาที่เราจะมีเงินพร้อมที่จัดงานแต่งงาน
 
"การเปิดใจคุยกันในเรื่องการเงินเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะร่วมกันวางแผน ช่วยกันคิด ช่วยกันหา ช่วยกันเก็บ ย่อมดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหายุ่งยากก่อนแล้วค่อยมาคุยกันทีหลัง"
หลังจากเตรียมการวางแผนการเงินเรื่องงานแต่งงาน และเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินกันแล้ว ลองหาโอกาสคุยกับคนรักเรื่องของการวางแผนการเงินสำหรับการใช้ชีวิตคู่บ้าง แต่อาจจะต้องทำใจไว้สักนิดนะครับว่า สำหรับบางคู่ การคุยกันเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจจะสร้างความอึดอัดใจในการสนทนา อย่างไรก็ตาม การเปิดใจคุยกันในเรื่องการเงินเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะร่วมกันวางแผน ช่วยกันคิด ช่วยกันหา ช่วยกันเก็บ ย่อมดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหายุ่งยากก่อนแล้วค่อยมาคุยกันทีหลัง เพราะหลายๆ คู่อาจมีมุมมองทางด้านการเงินที่แตกต่างกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งชอบลงทุน แต่อีกฝ่ายไม่ชอบความเสี่ยง หากเกิดการขัดแย้งกันก็อย่าลืมว่า เรื่องของการลงทุนไม่มีใครผิดใครถูก เพียงแต่อยู่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันอย่างไรนะครับ โดยหัวข้อเกี่ยวกับการวางแผนการเงินที่อาจจะนำมาพูดคุยกัน ได้แก่

1. การวางแผนครอบครัว

เช่น แผนการซื้อบ้าน แผนการมีบุตร หรือแผนการเกษียณ เหล่านี้เพื่อให้เรามีเป้าหมายในการออม โดยอาจจะพูดคุยกันถึงระยะเวลาของแต่ละเป้าหมายคร่าวๆ ด้วย

2. ค่าใช้จ่ายในบ้านหลังแต่งงาน

ควรตกลงกันว่า จะแบ่งความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านอย่างไร เช่น รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่งในกรณีที่มีรายได้ทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะรับหน้าที่ก็สุดแล้วแต่ตกลงกัน บางคู่ อาจใช้บัญชีส่วนตัวแยกกัน บางคู่อาจใช้บัญชีร่วมกัน หรือบางคู่อาจเป็นแบบผสม คือมีทั้งบัญชีที่แยกไว้เป็นของตัวเอง และเปิดอีกหนึ่งบัญชีเพื่อใช้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนกลางในบ้าน

3. แผนการออมและการลงทุน

ข้อนี้ทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินส่วนตัวให้คู่ชีวิตได้รับรู้บ้าง เช่น รายรับ รายจ่าย หรือหนี้สินที่มี เพื่อนำมาวางแผนร่วมกันสำหรับการออมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อซื้อบ้าน ออมเพื่อการศึกษาลูก ออมสำหรับเงินฉุกเฉิน ออมเพื่อการเกษียณ ออมเพื่อการท่องเที่ยว และจะใช้เครื่องมือใดในการออม เช่น เก็บเงินออมไว้ในบัญชีเงินฝาก หรือจะแบ่งเงินรายเดือนไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม การพูดคุยกันในหัวข้อนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงนิสัยการลงทุนของอนาคตคู่ชีวิตเราด้วย เพื่อที่จะได้ความเห็นร่วมกันว่า ครอบครัวของเราเหมาะกับการลงทุนแบบใด
สำหรับหัวข้อการเงินดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถเริ่มปรึกษากันได้ตั้งแต่ก่อนแต่งงานนะครับ บางคู่อาจจะเริ่มจากการมีบัญชีออมร่วมกัน หรือบางคู่อาจจะทำบัญชีรายรับ รายจ่ายสำหรับการเตรียมงานแต่งงาน หลังจากที่เริ่มวางแผน และออมเงินกันแล้วอย่าลืมที่จะชวนกันมาตรวจสอบบัญชีด้วยกันอย่างน้อยเดือนละครั้งนะครับว่า สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ถ้าไม่ควรจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
การวางแผนการเงินอาจะเป็นเรื่องที่ยากสักนิด แต่เพื่อประโยชน์ในระยะยาว การที่เราเปิดใจคุยกันและหาข้อตกลงร่วมกันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ เพราะนอกจากเราจะได้แผนที่การเงินสำหรับครอบครัวแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความเห็นกันซึ่งกันและกันก่อนการแต่งงานด้วยนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา