เก็บครบทุกความฟิน สไตล์ติ่งเกาหลี
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เก็บครบทุกความฟิน สไตล์ติ่งเกาหลี

icon-access-time Posted On 01 สิงหาคม 2562
By Krungsri The COACH

KPop บุกไทยกันทุกเดือน สาวกติ่งเกาหลีจะเอาชีวิตรอดอย่างไรดี เมื่อโดนถล่มทั้งคอนเสิร์ตไทย แล้วยังต้องตามติดถึงขอบเวทีเมืองนอก ไหนจะต้องอุดหนุนอัลบั้มใหม่ ตามเก็บอัลบั้มเก่า สอยโฟโต้บุ๊ค สะสมดีวีดีคอนเสิร์ต ไหนจะต้องซื้อ Card Official อีกละ นี่ยังไม่รวมของแฟนเมด อีกนะ โอ๊ย! มองเห็นรายจ่ายเต็มไปหมด มาดูกันดีกว่าเราต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ กับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วควรเก็บเงินอย่างไรเพื่อให้ได้สมใจติ่งกันครับ

ติ่งจ๋าฟังให้ดี เงินต้องพร้อมเพื่อของเหล่านี้

ไม่ว่าคุณจะเป็นติ่งเลือดเก่า (ผู้คลั่งไคล้โอปป้า) หรือติ่งเลือดใหม่ (สาย Blink หรือ ARMY) ติ่งเลือดบริสุทธิ์ (สาวกวงเดียวในดวงใจ) หรือติ่งเลือดผสม (รัก GOT7 แต่แอบเสียดาย BTS) ไม่ว่าคุณจะเป็นติ่งแบบไหน สิ่งที่คุณต้องมีเหมือนกันคือ ต้องมีเงิน ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องร่ำรวยถึงจะเป็นติ่งได้แต่คุณต้องมีเงิน ไม่ยากครับ แค่รู้จักเตรียมเก็บเงินและวางแผนให้ดี ๆ คุณก็พร้อมจะสนับสนุนวงโปรดได้แล้ว ว่าแต่มีอะไรบ้างที่คุณต้องเตรียมเงินไว้
1.แฟนมีตติ้ง
ความฝันสูงสุดของติ่ง คือการถูกจดจำได้จากศิลปิน ซึ่งวิธีที่จะได้ใกล้ชิดศิลปินที่สุดคงไม่พ้นแฟนมีตติ้ง (Fan Meeting) ประเทศไทยก็มีการจัดแฟนมีตติ้งอยู่หลายศิลปิน ราคาบัตรเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000 บาท และอาจสูงถึง 10,000 บาท อย่าง Tiffany Young Asia Fan Meeting Tour in Bangkok 2018 บัตร VVIP ราคาปกติ 10,000 บาท สิ่งที่คุณได้รับจากการซื้อบัตร VVIP คือ ได้นั่งแถวหน้าสุดติดเวที ได้ถ่ายรูปกรุ๊ปกับ Tiffany รับโปสเตอร์พร้อมลายเซ็นต์ไปด้วย
ทริคช่วยติ่งประหยัดเงิน : Fan meeting ส่วนใหญ่จะมีบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ ที่เราอาจได้ตั๋วฟรี อีกหนึ่งช่องทางที่เราจะได้ตั๋ว fan meeting คือ เข้าไปติดตามกิจกรรมที่จัด บน Twitter หรือ Facebook ของสปอนเซอร์ด้วย
2.คอนเสิร์ตในประเทศ
ถัดจากแฟนมีตติ้งก็คงหนีไม่พ้นไปเกาะขอบเวทีดูคอนเสิร์ต เพราะมันคือหนทางที่ติ่งจะได้ซัพพอร์ตศิลปินที่ตนรักได้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่แล้วทางต้นสังกัดจะประกาศทัวร์คอนเสิร์ตล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ให้เราพอมีเวลาเก็บเงิน ยกตัวอย่างราคาบัตร BlackPink เริ่มต้นที่ 1,900 บาท จนถึงบัตร VIP ที่่ราคา 7,500 บาท แต่วิบากกรรมกลับไม่ได้อยู่ที่ราคาตั๋วคอนเสิร์ตครับ แต่กลับอยู่ที่การกดบัตรยังไงให้ได้ เพราะมันเปรียบเสมือนสงครามกลางเมืองในการแย่งชิงตั๋วคอนเสิร์ตกันเลยทีเดียว
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนกดบัตรคือ แฟนด้อมไม่ได้มีแค่ในประเทศเราเท่านั้น เพราะพวกเขาคือศิลปินระดับโลก คุณจะต้องต่อสู้กับแฟนด้อมจากหลายประเทศ ยังไม่รวมบัตรสปอนเซอร์ บัตรสื่อ และพวกที่ชอบกดบัตรไปอัพราคาอีก ฉะนั้นก่อนจะกดต้องทำการบ้าน เริ่มจากศึกษาผังคอนเสิร์ตแต่ละโซนจะมีสิทธิพิเศษและราคาแตกต่างกันไป บางคอน กดได้ทั้งเคาน์เตอร์และทั้งเว็บไซต์ บางทีมีกดบัตรพรีเซลด้วยนะ จากนั้นมาประเมินความเสี่ยงต่อ บัตรราคาแพงสุดกับถูกสุดมักเป็นที่ต้องการสุด คุณจะตัดคู่แข่งออกไปได้มากถ้าเลือกโซนกลาง ๆ เมื่อได้ที่มั่นแล้วว่าจะเอาโซนนี้ จากนั้นรวบรวมสมุนกระจายความเสี่ยง แบ่ง 1 ทีมไปต่อแถวเคาน์เตอร์ และอีกทีมไปกดในเว็บไซต์ เมื่อปักหลักแบ่งทีมเรียบร้อยแล้วจากนั้นก็คงต้องอาศัยบทสวดเข้าช่วยแล้วละ ว่าจะสำเร็จไหม
หากเหล่าสมุนแพ้พ่ายและบทสวดใช้ไม่ได้ผล แต่คนมันติ่งยังไงก็ต้องได้ไปดู อาจถึงคราวที่คุณต้องควานหาตั๋วรีเซลส์กันแล้ว ถึงจะรักแค่ไหน เราก็อยากให้คุณใช้สติก่อนค่อยซื้อ ตั๋วรีเซลส์หรือหลายคนคุ้นกับชื่อ "ตั๋วผี" นั่นละครับ ตั๋วรีเซลส์บางใบปั่นราคาไปถึง 5 เท่า จากราคา 6,000 บาท อัพไปถึง 30,000 บาทเลยก็มี แล้วไม่ต้องแปลกใจที่ติ่งต่างก็สมัครใจซื้อ!
ทริคช่วยติ่งประหยัดเงิน : คอนเสิร์ตที่จัดในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะมีบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับศิลปิน การซื้อสินค้าตามเงื่อนไขที่บริษัทสปอนเซอร์กำหนดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดค่าตั๋วได้ ซึ่งบางครั้งอาจลดได้สูงถึง 10% ก็มี รวมถึงบางบัตรเครดิตก็จะมีส่วนลดในการซื้อบัตรเข้างานด้วย
3.ซาแซงตามติดทุกอีเว้นท์
หากคุณเป็นยิ่งกว่าติ่ง ถึงขั้นซาแซงแฟนที่ชอบตามติดชีวิตส่วนตัวของศิลปินตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเขาจะไปไหนหรือทำอะไร ก็จะตามติดไปด้วยเสมอ เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น คุณไปตามรับและตามส่งศิลปินถึงสนามบิน นั่งรถตามไปเฝ้าที่โรงแรม แค่ได้เห็นหน้าก็สุขใจแล้ว แต่ทราบไหมว่า ริจะเป็นซาแซงนอกจากต้องอึดแล้วก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลยนะ
ค่าเดินทางไปตามรับตามส่งถึงสนามบินยังไม่เท่าไหร่หากเราพักอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ติ่งบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดต้องเสียทั้งค่ารถ ทั้งค่าที่พักเพื่อมากรุงเทพฯ เพื่อให้ได้ใกล้ชิดมากที่สุด แล้วก็จะตามเป็นติ่งไปทุกที่ศิลปินไป วิธีที่จะตามศิลปินได้ง่ายก็คือเช่ารถตู้นั่นเอง
ทริคช่วยติ่งประหยัดเงิน : หาแนวร่วมติ่งด้วยกันช่วยกันแชร์ เช่น ค่ารถตู้เช่าเหมาทั้งคัน เกณฑ์ติ่งด้วยกันมาให้ได้เยอะสุด รถตู้คันหนึ่งบรรทุกคนได้ถึง 10 คน ซึ่งค่าเหมารถตู้คันหนึ่งเริ่มต้นที่วันละ 1,000 บาท หาร 10 คนก็ตกแค่คนละ 100 บาท ทริคนี้ใช้ได้กับค่าเช่าโรงแรมที่พักด้วย หรือถ้าหากรู้จักเพื่อนแฟนคลับที่อยู่ในกรุงเทพก็อาจจะขอค้างด้วยก็ได้
4.เกาะขอบเวทีดู (คอน) ที่ต่างแดน
เพิ่มสเต็ปของความเป็นติ่งตัวจริงด้วยการบินตามติดไปดูคอนเสิร์ตศิลปินที่คุณรักถึงต่างประเทศ ถือเป็นความฟินอีกรูปแบบหนึ่ง ราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ศิลปินแสดงที่ต่างประเทศก็มีราคาลดหลั่นกันไป ตามความนิยมของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของราคาตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาท จนถึงหลายหมื่นบาท (บัตรราคาปกติ) ยกตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ต Kpop ที่จะมีแสดงที่ในต่างประเทศเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ Exo จัดที่เกาหลีใต้ บัตรราคาประมาณ 8,000 บาท Monsta X จัดที่อังกฤษ บัตรราคา 2,000 บาท BTS จัดแสดงที่เกาหลีใต้ บัตรราคาประมาณ 10,000-35,000 บาท แต่ถ้าจัดแสดงที่ญี่ปุ่น เมืองโอซาก้า บัตรราคาสูงถึง 23,000 บาทเลยทีเดียว พอทราบราคาตั๋วแล้ว กดจองสำเร็จ แต่ยังไม่ได้เสร็จเพียงแค่นั้นนะครับ ลำดับต่อไปคือ คุณก็ต้องทำการจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก และเตรียมค่าใช้จ่าย ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ
ไปดูคอนเสิร์ต BTS & Twice & Super Junior D&E - Lotte Duty Free Family Concert 2019 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 คุณควรแพลนดังนี้
 
เดินทางระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2562
ค่าบัตรคอนเสิร์ต 10,000 บาท (บัตรราคาต่ำสุด จองตั๋วได้ที่ viagogo.com)
ค่าตั๋วเครื่องบิน 10,000 บาท (แอร์เอเชีย ตรวจสอบเที่ยวบิน SkyScanner)
ค่าที่พัก 500 บาท / คืน รวม 2,000 บาท (ที่พักราคาเริ่มต้น ตรวจสอบได้ที่ Airbnb)
ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 27,000 บาท
ทริคช่วยติ่งประหยัดเงิน : พยายามหาตั๋วโปรของสายการบินจะช่วยประหยัดเงินได้มากทีเดียว ลองดูที่เว็บ Tidpro.com และถ้าไปคนเดียวการเลือกพัก hostel ก็จะมีราคาถูกกว่าห้องพักทั่วไปด้วย แต่ถ้าไปกับเพื่อนติ่งเป็นกลุ่มแชร์ห้องพักกันและทำอาหารทานเองในพัก ก็จะยิ่งประหยัดได้มากขึ้นอีก
5.ออฟฟิเชียลกู๊ดส์และแฟนเมด (Official Goods and Fan Made)
สิ่งที่ขาดไม่ได้ของการเป็นติ่ง นั่นก็คือ ของออฟฟิเชียลกู๊ดส์ และแฟนเมดเพื่อซัพพอร์ตศิลปินที่คุณรักนั่นเอง ติ่งบางคนตามเก็บทุกอย่าง แต่บางคนอาจเลือกตามเก็บเฉพาะออฟฟิเชียลกู๊ดส์ก็มี
แฟนเมด (Fan Made) จะเป็นสินค้าที่แฟนศิลปินทำออกมาขายให้กับแฟน ๆ ด้วยกันโดยส่วนใหญ่รายได้ที่ได้จะนำไปสนับสนุนศิลปินอีกทีหนึ่ง ด้วยการเอาเงินที่ได้ไปซื้อออฟฟิเชียลกู๊ดส์ หรือไปซื้อบัตรคอนเสิร์ต เช่น สติกเกอร์ลอกแปะ โปสการ์ด พวงกุญแจ เข็มกลัด โฟโต้การ์ด พัด และอีกมากมาย ราคาเริ่มต้นตั้ง 50 บาท ไปจนถึงหลายพันบาท ของแฟนเมดหาซื้อได้จากหน้าคอนเสิร์ต และใน Twitter ถ้าจะให้ดีควรเลือกซื้อเฉพาะที่เราชอบจริง ๆ หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ปากกา กระเป๋า หมอน พวงกุญแจ เป็นต้น ติ่งบางคนก็หัดทำของแฟนเมดไว้ใช้เองก็มีนะ
ขณะที่ ออฟฟิชเชี่ยลกู๊ดส์ (Official Goods) หรือแฟนกู๊ดส์ (Fan Goods) คือสินค้าหรือของพรีเมี่ยมที่ผลิตออกมาจากต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็น อัลบั้มเพลง รวมอัลบั้มภาพ แท่งไฟ (Light Stick) ที่แฟน ๆ ใช้โบกในคอนเสิร์ตเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละศิลปิน เป็นต้น ถ้าจะให้ฟินจริง ๆ และมีให้เลือกเยอะ ก็แนะนำให้ไปซื้อที่ถิ่นของศิลปินที่เกาหลีกัน ยกตัวอย่างราคาสินค้าก็อย่างเช่น EXO-CBX Official Goods - Selfie Book ราคา 670 บาท หรือจะเป็น GOT7 1st Concert "Fly in Seoul" Final Blu-Ray ราคา 1,890 บาท พิกัดร้านที่รวบรวมของทั้งแฟนกู๊ดส์และแฟนเมดไว้มากมาย ก็อย่างเช่น ร้าน Buru's Deeurak (ร้านลุง Myeong-dong) อยู่ย่านเมียงดง มีทั้งอัลบั้มเก่าใหม่ ที่หายาก อีกร้านคือ Music Korea (Myeong-dong) พิกัดเมียงดง ถัดมาคือร้าน SMTOWN at Coex artium สวรรค์ของติ่ง รวมไว้ทุกอย่างของค่าย SM อยู่สถานี Samseong อีกหนึ่งแห่งคือ YG Place (Lotte Young Plaza) Blink ทั้งหลายต้องแวะมาที่นี่ อยู่ที่ห้าง Lotte Young Plaza ย่านเมียงดง
ทริคช่วยติ่งประหยัดเงิน : เลือกซื้อเฉพาะของที่เราชอบจริง ๆ หรืออย่างกรณีที่เราซื้อการ์ดออฟฟิเชียลมาทั้งเซ็ต ก็สามารถเอามาขายในกลุ่มแฟนด้อมได้ แล้วเลือกเก็บไว้เฉพาะตัวเมนที่เราชอบไว้

ติ่งสายบริหารทั้งเงินและเวลาทุกอย่างลงตัวเป๊ะ

ด้วยความที่ passion ของความเป็นติ่งมันช่างแรงกล้า พวกเขาจึงมีพลังในการดำเนินชีวิตสูง แม้จะเป็นนักเรียนระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัย แต่ติ่งส่วนใหญ่กลับเป็นเด็กเรียนดี บริหารเวลาเป็นและเก็บเงินได้ พวกเขาทำได้ด้วยวิธีการบริหารเงินแบบนี้
ตัวอย่าง แฟนคลับติ่งเกาหลีรายหนึ่ง เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ได้รับเงินไปโรงเรียนรายวัน ๆ ละ 100 บาท แบ่งเก็บเงิน โดยเป็นค่าใช้จ่าย 50 บาท เงินสำหรับติ่ง 50 บาท โดยที่เมื่อได้รับเงินจากผู้ปกครอง โดยจะหักครึ่งหนึ่งเพื่อเก็บลงกล่องสำหรับติ่งเลย และไม่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หากได้เงินพิเศษจากผู้ปกครอง ก็จะแบ่งครึ่งอีกเช่นกัน เช่น สอบได้คะแนนอันดับ 1 ของห้อง ได้เงินพิเศษจากผู้ปกครอง 1,000 บาท แบ่งเก็บใส่อีกหนึ่งกระปุก เป็นกระปุกเงินเก็บสำหรับภายภาคหน้า 500 และอีก 500 ใส่กระปุกติ่ง เมื่อเก็บอย่างมีวินัย ภายใน 3 เดือน ก็มีเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตแล้ว 50 บาท x 90 วัน = 4,500 บาทถ้ารู้ค่าใช้จ่ายแบบนี้แล้ว เราก็จะได้เตรียมเงินได้พร้อมเมื่อจะตามไปเป็นติ่งครั้งต่อไป
ติ่งตัวจริงเขาต้องเก่งบริหารด้วยนะ ทั้งบริหารเวลาและบริหารเงิน ติ่งส่วนใหญ่กลายเป็นคนที่เก็บเงินเก่งโดยไม่รู้ตัว ขณะที่อีกหลายคนได้ไอดอลของพวกเขานี่ละที่เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ชอบตามไปดูคอนเสิร์ตต่างประเทศบ่อย ๆ กลายเป็นคนรักการเดินทาง เลยเลือกเป็นแอร์โฮสเตส ขณะที่ติ่งอีกหลายคนได้อินสไปร์ให้กับตัวเอง เลือกเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้ มุ่งมั่นฝึกฝนและเรียนภาษาเกาหลี จนแตกฉาน และได้ทำอาชีพที่ใกล้ชิดศิลปินสุด ๆ อย่าง ล่าม ก็มี ส่วนติ่งที่ยังอยู่ในวัยเรียนการทำของแฟนเมดไปขายหน้าคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งหรืออีเว้นท์ต่าง ๆ ก็เป็นหนทางหารายได้เสริมที่น่าทำ คุณยังสามารถใช้การเป็นติ่งสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเก็บเงิน จากที่เคยเก็บเงินเก่งมากเพื่อไปเป็นติ่งตามคอนเสิร์ต จึงเกิดไอเดียให้เงินเก็บงอกเงยเพิ่มขึ้น ด้วยการนำไปลงทุนในกองทุน แบบนี้ก็มีเหมือนกัน ลดความเหนื่อยในการเก็บเงินได้ด้วย
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นติ่งแบบไหน คุณก็ควรจะเป็นติ่งที่มีสติ เก็บและใช้เงินอย่างมีสติ เลือกซื้อของและเลือกดูคอนเสิร์ตตามที่กำลังทรัพย์เราจะไหวจริง ๆ ไม่ต้องไปรบกวนเงินในกระเป๋าคุณพ่อคุณแม่ หรือต้องถึงขั้นไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาดูคอนเสิร์ตกันเลยนะครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: shorturl.at/uEKO2, sistacafe.com/, blackpinkupdate.com/
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา