ความรู้เรื่องเงินที่ควรปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเด็ก
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ความรู้เรื่องเงินที่ควรปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเด็ก

icon-access-time Posted On 09 มิถุนายน 2558
By Krungsri Guru
ลูกๆ ควรได้รับการปลูกฝังนิสัยที่ดีตั้งแต่เด็กเพื่อจะได้เป็นพื้นฐานนิสัยสำหรับพวกเขาเมื่อโตขึ้น สิ่งเหล่านี้ เราสามารถเริ่มสอนลูกได้แม้แต่ในเด็กเล็ก ถึงแม้ว่ารูปแบบและเนื้อหาในการสอนอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้ได้ของเด็กแต่ละช่วงวัย วันนี้ เรามาดูกันว่า เราควรจะปลูกฝังเรื่องการเงินให้ลูกน้อยของเราในเรื่องใดบ้าง

ที่มาของเงิน


สอนลูกให้เข้าใจว่าเงินมีที่มาอย่างไร พ่อแม่หาเงินมาได้อย่างไร เราอาจจะพาลูกๆ ไปดูการทำงาน หรือเล่าให้ลูกฟังว่า งานของพ่อแม่คืออะไร งานของพ่อแม่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไร พ่อแม่อาจจะเพิ่มเติมเรื่องของการหารายได้ด้วยตัวเอง โดยการเสนองานพิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบประจำ เพื่อแลกกับเงินรางวัลค่าจ้าง เช่น ช่วยคุณพ่อล้างรถ หรือช่วยคุณแม่ทำขนมไปขาย

คุณค่าของเงิน และการออม


เมื่อลูกเข้าใจถึงที่มาของเงิน และความพยายามที่ต้องใช้ในการหาเงินแล้ว พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักว่าเงินมีคุณค่าอย่างไร เราสามารถนำเงินไปใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง และทำไมเราจึงต้องออมเงิน พ่อแม่สามารถสอนลูกให้ตั้งเป้าหมายในการออมเงิน เช่น การออมเงินเพื่อไว้ใช้ซื้อของที่อยากได้ สอนให้รู้จักการออมที่นานขึ้น เพื่อสิ่งของที่ใหญ่ขึ้น เช่น ถ้าลูกแบ่งเงินจากค่าขนมไว้วันละ 5 บาท ออมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ลูกจะใช้เงินจำนวนนี้ไปซื้อสมุดระบายสีได้ 1 เล่ม หรือหากลูกเก็บเงินไว้นานขึ้นไปเป็น 1 เดือน ลูกจะมีเงินไปซื้อลูกบอลได้ 1 ลูก
อย่าลืมสอนให้ลูกรู้จักดูแลข้าวของ และเก็บเงินในที่ปลอดภัย เราอาจเปิดบัญชีธนาคารให้ลูก เพื่อให้เป็นสมุดเงินออมจากเงินที่เก็บในกระปุก พร้อมทั้งอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการเปิดบัญชีธนาคารนั้นมีข้อดีทั้งในด้านความปลอดภัย และยังมีข้อดีจากการลงทุนที่ได้ผลกำไรเป็นดอกเบี้ยอีกด้วย

การบริหารเงิน


พ่อแม่อาจให้ค่าขนมลูกๆ เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือนเพื่อให้ลูกได้ฝึกจัดการค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่า พวกเขาจะแบ่งเงินไว้ใช้ต่อวันอย่างไรเพื่อให้มีเงินใช้จนถึงสิ้นเดือน เด็กๆ วัยประถมสามารถทำบัญชีรายรับ รายจ่ายได้ ช่วงแรกๆ พ่อแม่อาจเริ่มจากการพูดคุยกับลูก โดยให้ลูกกลับมาเล่าว่าวันนี้เรียนอะไรที่โรงเรียน ใช้เงินค่าขนมไปซื้ออะไรบ้าง เราสามารถถือโอกาสสอนลูกไปด้วยว่าสิ่งไหนควรซื้อ หรือไม่ควรซื้อ ขนมแบบไหนมีประโยชน์ แบบไหนไม่มีประโยชน์ นับเป็นโอกาสที่เราจะสังเกตความชอบ และความคิดของลูกไปด้วย

การใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสถานภาพทางการเงิน


ข้อนี้ พ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก เพราะพ่อแม่คือตัวอย่างของลูก ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตประจำวัน การเลือกร้านรับประทานอาหาร การซื้อของใช้ การใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลาการซื้อของเข้าบ้านนับเป็นโอกาสที่ดีในการสอนลูก ให้น้ำหนักกับความจำเป็นมากกว่าเพียงแค่ความรู้สึกอยากได้ พ่อแม่ควรอธิบายหลักการซื้อของที่มีคุณภาพ เช่น เล่าให้ลูกฟังว่าทำไมเราถึงเลือกซื้อของชิ้นนี้ แทนที่จะซื้อของอีกชิ้นหนึ่ง การตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้าก่อนซื้อทุกครั้ง อาหารสดควรซื้อแต่ในปริมาณที่พอดี การซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลทำให้ได้เราของที่ดี และราคาถูก การซื้อของเป็นแพ็กจะถูกกว่าการซื้อแยกเป็นชิ้นสำหรับสินค้าที่เราจำเป็นต้องใช้และเก็บไว้ได้นาน เช่น สบู่ ยาสีฟัน รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้เด็กๆ จะจำได้ เป็นการปลูกฝังนิสัยความรอบคอบ และความมีเหตุมีผล นอกเหนือจากการซื้อของเล็กๆ น้อยๆ แล้ว พ่อแม่อาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของครอบครัวบ้าง เช่น การตัดสินใจเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ เด็กๆ จะมีความรู้สึกภูมิใจว่า พวกเขาโตแล้ว และมีคนรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา นับเป็นการสร้างความมั่นใจของลูกได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่อาจหาโอกาสสอนให้ลูกรู้จักความหมายของทรัพย์สิน และหนี้สิน การซื้อของเงินสด กับการซื้อของเงินผ่อน อธิบายให้เห็นถึงข้อเสียของการซื้อของเงินผ่อน และการเป็นหนี้ นอกจากนี้แล้ว อย่าลืมที่จะสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันให้เพื่อนผู้ด้อยโอกาส พ่อแม่อาจชวนลูกๆ ไปบริจาคเสื้อผ้า ของเล่นให้กับมูลนิธิเด็ก เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงความโชคดีที่เกิดมาพร้อมกว่าเด็กๆ อีกหลายคน รวมถึงเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์ให้สังคมด้วย
 
การสอนที่ดีที่สุด คือ การทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เราอยากเห็นลูกของเราเติบโตไปด้วยความคิดด้านการใช้จ่ายเป็นอย่างไร เราก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกๆ ด้วยนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา