อยากซื้อประกันชีวิต แต่ไม่รู้จะทำทุนชีวิตเท่าไหร่ดี
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

อยากซื้อประกันชีวิต แต่ไม่รู้จะทำทุนชีวิตเท่าไหร่ดี

icon-access-time Posted On 13 มกราคม 2565
By Krungsri The COACH
หลายคนที่สนใจอยากทำประกันชีวิตให้กับตัวเองหรือให้กับคนที่เรารักอาจจะเคยประสบกับปัญหาว่า ไม่รู้จะทำทุนชีวิตเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอหรือเหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงไม่รู้จะคำนวณหาทุนชีวิตที่เหมาะสมอย่างไรดี เราเลยอยากนำเสนอไกด์ให้คนที่กำลังสนใจการซื้อประกันชีวิต
ก่อนอื่นต้องบอกว่าประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง เราสามารถปรับรูปแบบความคุ้มครองและค่าเบี้ยประกันให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคนได้ ดังนั้น ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแนะนำว่าอย่าทำประกันชีวิตตามคนอื่นหรือทำให้เหมือนกับคนอื่นนะ
เมื่อพูดถึงหลักการวางแผนการเงินด้านการประกันภัยที่นักวางแผนการเงินนิยมใช้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการคิดจากความต้องการทางการเงินพื้นฐานหรือความจำเป็นของแต่ละคน เพื่อให้คนข้างหลังมีมาตรฐานการใช้ชีวิตใกล้เคียงเท่าเดิม และเราจะได้ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมและคุ้มค่าด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเลือกทุนประกันชีวิตแบบอื่น ๆ เช่น คำนวณจากความสามารถในการหารายได้ คำนวณจากความต้องการรักษาเงินทุน เป็นต้น
แนวคิดการคำนวณทุนประกันจากความจำเป็น หรือ Needs Approach เป็นการคำนวณทุนประกันชีวิตจากความต้องการทางการเงินที่จําเป็นของครอบครัว ซึ่งหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ต้องแบกรับแทนเมื่อผู้มีรายได้หลักหรือผู้ทำประกันเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน ทั้งความจำเป็นด้านเงินสด และความจำเป็นด้านรายได้ เช่น เงินสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้าย เงินเพื่อคุ้มครองภาระหนี้สินคงค้าง เงินสำหรับเป็นรายได้ให้กับครอบครัวในช่วงปรับตัว ค่าเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ ค่าเล่าเรียนบุตร

ขั้นตอนการคำนวณหาทุนประกันชีวิต

ขั้นตอนการคำนวณหาทุนประกันชีวิต
 
  1. ประเมินภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินคงค้าง
    ขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการประเมินความต้องการขั้นพื้นฐานของครอบครัวก่อน ทั้งความต้องการเงินในส่วนของรายได้ที่ขาดไปในช่วงที่ครอบครัวกำลังปรับตัวจากการสูญเสีย เงินสำหรับอุปการะเลี้ยงดูคนในครอบครัวในอนาคต รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือภาระหนี้สินคงค้าง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น
  2. รวบรวมมูลค่าทรัพย์สินที่มีในปัจจุบัน
    ขั้นตอนนี้จะเป็นการรวบรวมมูลค่าสินทรัพย์ที่มีในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะตกทอดถึงทายาทหรือคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเงินสด สินทรัพย์ส่วนตัวที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย สินทรัพย์จากการลงทุนทั้งหมด เช่น หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ เป็นต้น และเงินชดเชยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับหลังจากเสียชีวิตแล้ว เช่น เงินประกันสังคม เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  3. คำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม
    ขั้นตอนสุดท้ายเป็นขั้นตอนการหาทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม โดยมีสมการคำนวณตามได้ง่าย ๆ คือ
    “ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินคงค้าง - มูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิ = จำนวนเงินที่ยังขาด” หรือเรียกง่าย ๆ คือ จำนวนเงินทุนประกันชีวิตที่เราควรทำนั่นเอง
ตัวอย่างการคำนวณ
ตัวอย่างการคำนวณ
จะเห็นได้ว่าแนวคิดการคำนวณทุนประกันชีวิตจากความจำเป็นสามารถครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับคนในครอบครัวได้ครบทุกด้าน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานด้านการเงินแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังมีทุนทรัพย์เหลืออยู่ก็อาจจะเพิ่มทุนประกันชีวิตเพื่อนำมาทำเป็น “กองทุนสำหรับครอบครัว” โดยให้ทายาทนำเงินก้อนนี้ไปบริหารการลงทุนให้เงินงอกเงย ก็จะสามารถเป็นอีกแหล่งรายได้ของครอบครัวได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อเราคำนวณได้ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว ก็ควรนำมาประเมินควบคู่กับความสามารถในการชำระเบี้ยต่อปีของเราด้วยนะ โดยเลือกวงเงินทุนประกันชีวิตให้พอดีกับฐานะตัวเอง เพื่อให้สามารถจ่ายเบี้ยคุ้มครองได้ตลอดจนครบระยะเวลาของสัญญาที่กำหนดไว้ ส่วนในอนาคตหากเรามีเงินทุนมากขึ้นก็อาจจะเพิ่มทุนประกันชีวิตก็ได้
อีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่ควรละเลย คือ การทบทวนกรมธรรม์ เพื่อคอยตรวจสอบดูว่าประกันชีวิตที่เราทำไปแล้วยังสามารถครอบคลุมความคุ้มครองที่เราต้องการอยู่ หรือไม่ ในอนาคตถ้ามีสถานการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนไป เราก็ควรจะคำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการของครอบครัวอยู่เสมอ
สุดท้ายนี้ ประกันชีวิตมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีจุดเด่นและวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นประกันชีวิตจึงเหมาะกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพียงแค่เราควรจะเลือกประกันชีวิตให้เหมาะสมกับความคุ้มครองที่ตัวเองต้องการ เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่าที่สุดกับค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป สำหรับใครที่สนใจอยากซื้อประกันชีวิต สามารถติดต่อซื้อได้ง่าย ๆ ที่ธนาคารกรุงศรี หรือศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรี https://www.krungsri.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา