แนวทางการบริหารเงินลงทุนสำหรับปี 2015
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

แนวทางการบริหารเงินลงทุนสำหรับปี 2015

icon-access-time Posted On 16 มีนาคม 2558
By iSalaryman
จำกันได้ไหมว่าปลายปี 2014 เคยบอกตัวเองว่าปีหน้าเราจะวางแผนทางการเงินให้ดี เราจะเริ่มตั้งใจเก็บเงิน ตั้งใจนำไปลงทุน เพื่อสร้างผลกำไรงอกเงยในอนาคต ตอนนี้ปี 2015 แล้วนะเริ่มต้นจริงจังแล้วหรือยัง บางคนบอกว่าพอจะเริ่มต้นก็ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี ที่ผ่านมาออมเงินด้วยการฝากประจำกับธนาคาร ก็ถือว่าดีแล้ว เดี๋ยวนี้มีช่องทางหลากหลายที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าฝากประจำ แต่ต้องเข้าใจตรงกันนะว่าต้องการผลตอบแทนที่สูง ก็มาพร้อมความเสี่ยงสูงด้วย เรามาดูกันว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะบริหารเงินลงทุนเบื้องต้นอย่างไร และเราจะลงทุนอะไรได้บ้าง

1. เงินสด

เอาไปฝากธนาคารไว้ แยกออกมาจากรายจ่ายประจำวัน เพื่อจะมีสภาพคล่องหน่อยเผื่อไว้สำหรับใช้จ่ายฉุกเฉินได้ ถ้าไม่ได้ใช้ก็ออมไว้กินดอกเบี้ยไปก่อน สามารถใช้โยกปรับพอร์ตในการลงทุน ในกรณีที่ลงทุนด้านอื่นเสี่ยงเกิน ก็มาพักไว้ที่นี่ได้

2. ตราสารหนี้

ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ คงจะรู้จักกันที่เขาจะมีโฆษณาเปิดขายหุ้นกู้ ของหุ้นตัวนั้น ตัวนี้ แล้วบอกว่าจะให้ผลตอบแทนเท่าไหร่

3. ตราสารทุน

ได้แก่ หุ้น ซึ่งตัวเราเองต้องทำหน้าที่ซื้อขายเองในตลาดหุ้นโดยผ่านโบรกเกอร์ หรือถ้าเราไม่ถนัด อยากให้คนอื่นบริหารให้ก็จะเป็นรูปแบบกองทุน ซึ่งมีหลายกองทุนมาก แต่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนซื้อกันเป็นประจำอยู่แล้วนั่นก็คือ LTF

4. สินทรัพย์อื่นๆ

เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ในส่วนนี้ถ้าเราไม่มั่นใจที่จะลงทุนแบบตรงๆ ก็สามารถซื้อผ่านกองทุนได้ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ ก็ต้องศึกษาให้ดีๆ ด้วยนะครับ มีความเสี่ยง
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าในพอร์ตการลงทุนเราจะลงทุนอะไรได้บ้างเบื้องต้น ผมขอยกตัวอย่างการจัดการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโมเดลนี้ ผมอ้างอิงจาก http://www.tsi-thailand.org/
  • คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แบ่งออกเป็น
  • เงินสด 20-40%
  • ตราสารหนี้ 30-50%
  • ตราสารทุน 20-40%
  • คนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แบ่งออกเป็น
  • เงินสด 10-30%
  • ตราสารหนี้ 20-40%
  • ตราสารทุน 40-60%
  • คนที่รับความเสี่ยงได้สูง แบ่งออกเป็น
  • เงินสด 5-15%
  • ตราสารหนี้ 10-30%
  • ตราสารทุน 60-80%
พอมาถึงตรงนี้ก็คงพอมองเห็นภาพการจัดการที่ชัดเจนขึ้น นำเสนอเป็นไอเดีย คุณไม่จำเป็นต้องวางเงินลงทุนให้เป๊ะๆ ตามที่อธิบายก็ได้ เพราะว่าแต่ละคนชอบลงทุนแตกต่างกัน เราสามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเราได้ เช่น
  • ไม่ถนัดเล่นหุ้นเอง ก็ซื้อกองทุนเกี่ยวกับหุ้นก็ได้
  • ชอบและสนใจอสังหาริมทรัพย์ มีความรู้ในการซื้อขาย ก็ปรับพอร์ตใส่เข้าไปว่าเราจะลงทุนด้านนี้กี่เปอร์เซ็นต์
  • หรือจะออมในรูปแบบประกันชีวิต ก็ลองปรับพอร์ตดูครับว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมด
นำมาปรับเข้ากับสไตล์การลงทุนของเรา ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และต้องระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นว่าอยู่ในระดับไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
สำหรับตัวผมเอง พอร์ตการลงทุนจะอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง คือจะแบ่งเงินลงทุนในหุ้นมากกว่า 60% และแนวทางการลงทุนของผม จะเป็นการเก็งกำไรในหุ้น ซึ่งไม่ใช่การซื้อๆ ขายๆ จบในวัน แต่อาจจะถือข้ามวัน หรือข้ามสัปดาห์ก็ได้ ดังนั้นมันจะมีความยืดหยุ่น หากมองตลาดผันผวน ก็ถือเงินสดรอดูสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ก็แบ่งเงินไปซื้อกองทุนต่างๆ ด้วยในรูปแบบ LTF แบบว่ากระจายความเสี่ยงออกไป จะไม่ลงทุนอย่างใดอย่างนึง 100%
ในปี 2015 เราอาจฟังนักวิเคราะห์ พูดถึงปัจจัยต่างๆ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน การเมือง และตัวแปรอีกมากมาย ถ้าฟังแล้วเข้าใจก็ดีเลยทีเดียว และเตรียมตัวรับมือเอาไว้ ปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ถ้าฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เป็นไรเรามือใหม่หัดลงทุน ก็ให้เน้นถือยาว มันจะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หรืออาจให้มืออาชีพดูแลให้ นั่นก็คือเน้นไปซื้อกองทุนในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ ก็จะช่วยได้ดีทีเดียว แต่เราก็อย่าทอดทิ้งพอร์ตการลงทุนของเรา ควรติดตามข่าวสาร หาความรู้และทำความเข้าใจด้วย เพราะมันคือเงินของเรา เราควรใส่ใจบริหารจัดการให้ดี เพื่อเป้าหมายที่วางไว้ เริ่มทำตั้งแต่ปีนี้กันเลยนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา