เป็นนักศึกษาอยากลงทุน ต้องเริ่มออมเงินอย่างไร?
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เป็นนักศึกษาอยากลงทุน ต้องเริ่มออมเงินอย่างไร?

icon-access-time Posted On 26 มกราคม 2558
By Nani

จริงหรอว่าถ้าไม่ออมเงิน ไม่ลงทุน แล้วเราจะลำบากยากจนตอนบั้นปลายของชีวิต?” ถ้าเรื่องเงินเรื่องลงทุนมันสำคัญขนาดที่จะต้องมาวางแผนกันตั้งแต่อายุยังน้อยจริงๆ แล้วทำไมคนรอบตัวรุ่นพ่อแม่/ปู่ย่าที่เค้าก็ไม่เห็นต้องลงทุนวางแผนการเงินอะไรเลย ถึงไม่เห็นมีใครมีปัญหา อดอยากเลยหล่ะ?

ใครหล่ะที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้ลงทุน? จริงๆ แล้วพวกเค้าลงทุนมาทั้งชีวิตในสินทรัพย์อย่างหนึ่ง พวกเขาใส่เงินลงทุนไปกับสินทรัพย์ชิ้นนี้ทุกวันๆ จนในระยะยาวแล้วสินทรัพย์นี้ก็สามารถสร้าง Passive Income ให้เค้าทุกเดือนได้ในที่สุด พอจะนึกออกไหมคะ?
สินทรัพย์ที่ว่านั้นก็คือ ‘ลูก’! ใช่เลยค่ะ พวกเรานี่แหละ!
ที่เราไม่ค่อยเห็นคนรอบตัวที่อายุมากๆ แล้วมีปัญหาเรื่องเงิน เพราะจริงๆ แล้วพวกเค้าก็ลงทุนกันมายาวนานอย่างไม่รู้ตัว! แต่ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ แต่งงานน้อยลง หย่าร้างมากขึ้น และเดี๋ยวนี้การแข่งขันสูง พูดตรงๆ คนรุ่นลูกสมัยนี้ เงินเดือนเริ่มต้นเอาให้พอเลี้ยงตัวเองได้ก่อนก็เก่งแล้ว ใช้กันยังไม่ค่อยจะพอเลย จะไปแบกภาระครอบครัวยังไง นานิเห็นคนจบใหม่เพิ่งเริ่มงานบางคนยังเงินไม่พอต้องรบกวนพ่อแม่อยู่เลย
 
"ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ แต่งงานน้อยลง หย่าร้างมากขึ้น และเดี๋ยวนี้การแข่งขันสูง พูดตรงๆ คนรุ่นลูกสมัยนี้ เงินเดือนเริ่มต้นเอาให้พอเลี้ยงตัวเองได้ก่อนก็เก่งแล้ว"
คิดดูแล้วกันค่ะ ถ้าสมัยนี้ยังแข่งกันแบบนี้ ไม่ต้องไปคิดถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเราเลย ว่าจะแข่งขันกันขนาดไหน วางแผนการเงินและลงทุนด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ เพราะในระยะยาวแล้ว มีแนวโน้มว่าเราไม่ใช่แค่อาจจะต้องพึ่งตัวเองอย่างเดียว อาจจะต้องช่วยค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานด้วย! โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน
แบบนี้แล้ว พอจะเห็นแล้วใช่ไหมคะว่าการวางแผนการเงินตั้งแต่ยังละอ่อนนั้นสำคัญแค่ไหน และการออมก็เป็นบันไดขั้นแรกในการวางแผนการเงินเลยหล่ะ
แต่ก็นะ บอกตรงๆ นานิมองว่าการออมหน่ะ มันสำหรับคนรุ่นก่อนตอนที่ดอกเบี้ยเงินฝากมันสูง 7-8% แต่ Generation นี้แล้วออมอย่างเดียว มันไม่อินเทรนและมันก็ไม่เวิร์คแล้ว คนที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ต้อง ‘หาเงินได้ เก็บเงินอยู่ และบริหารเงินเป็น’ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ บทนี้นานิจะเขียนเรื่องเทคนิคการออมก่อนละกัน ตอนหน้าค่อยมาว่ากันเรื่องหาเงินเพิ่ม
หลายคนรวมถึงนานิเคยมีความเข้าใจว่าเงินออมก็คือ?.... เงินออมไง จริงๆ แล้วเงินที่เราเก็บออมนั้นควรจะแยกกระปุกให้ชัดเจน เพราะเงินออม ≠ เงินลงทุน ถ้าออมคือเราเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ดังนั้น ควรจะฝากไว้ในธนาคารที่สามารถถอนได้ทันที แบบนี้คือออม ถ้าเงินลงทุน ลองนึกดู เราซื้อหุ้นไป 10 บาท แต่เกิดมีเรื่องต้องใช้เงินขึ้นมาตอนหุ้นมันร่วงมาราคา 8 บาท ทำยังไงหล่ะทีนี้?! ดังนั้นเราควรแยกให้ออกตั้งแต่ต้น ส่วนไหนเป็นเงินเย็น คือแช่ไว้ได้นานๆ ก็เอาไปลงทุน ส่วนไหนที่เก็บไว้เผื่อฉุกเฉิน ก็แบ่งไว้เป็นเงินออมค่ะ
สำหรับนานิ เงินที่เหลือเก็บจากค่าใช้จ่ายทั่วไปแล้ว ก็จะแบ่งออกตามนี้
 
ลงทุน 75%
ให้รางวัลตัวเอง 0-5%
เงินออม 10%
ให้พ่อ-แม่ 5-10%
บริจาค 0-5%
จะว่าไป การออมพูดไปมันก็เหมือนเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็รู้ค่ะ แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้ หลายคนบ่นโทษว่าเงินเฟ้อ ของแพงเร็วกว่าที่เงินเดือนขึ้น โดยลืมคิดว่า ถึงเงินจะเฟ้อ แต่ถ้าเราไม่ฟุ้งเฟ้อ เราก็จะยังสามารถออมได้ไม่มากก็น้อย (สำหรับวัยเรียนและวัยเพิ่งเริ่มทำงาน ลองเริ่มจากการลดขนมจุกจิก กาแฟแพงๆ และชานมไข่มุก ก่อนเลยค่ะ! พวกนี้กัดกินเงินออมของเราเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าลดได้นี่น้ำหนักกระเป๋าตังค์เพิ่ม แถมน้ำหนักตัวลด กำไรสองต่อจริงๆ)
หลายคนผลัดวันประกันพรุ่ง บอกว่าเดี๋ยวเริ่มทำงานแล้วจะออม พอทำงานก็แบบ อยากขอเวลาใช้ชีวิตให้เต็มที่หน่อยเถอะ เดี๋ยวสามสิบแล้วจะออม แต่พอสามสิบก็แต่งงานมีลูก ค่าใช้จ่ายเยอะแยะ ไหนจะผ่อนบ้าน ส่งลูกเรียน งั้นเดี๋ยวลูกโตค่อยออม กว่าลูกจะโตนี่เราก็ใกล้จะเกษียณเต็มทีแล้ว มันจะไปพอยังไง?! หลายคนคิดแต่ว่าอายุงานเยอะ เงินเดือนก็เยอะ ค่อยไปออมตอนห้าสิบกว่า แป๊ปเดียว เดี๋ยวก็เก็บได้เยอะเอง แต่นานิจะบอกว่า
  • นิสัยคนแก้ยาก ถ้าทั้งชีวิตไม่เคยออมแล้วล่ะก็ จะหวังไปออมตอนแก่คงยาก
  • สมการคำนวณความมั่งคั่งของเราไม่ได้มีแค่ว่าเก็บเดือนละเท่าไหร่ แต่มันมีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวด้วย ยิ่งเวลาการออม/ลงทุนยาวนานมากเท่าไหร่ ความมั่งคั่งในตอนท้ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วยตามกฎแห่งดอกเบี้ยทบต้น
 
"นิสัยคนแก้ยาก ถ้าทั้งชีวิตไม่เคยออมแล้วล่ะก็ จะหวังไปออมตอนแก่คงยาก"
ถ้าคุณมีเงินออม 1 แสนบาทตอนอายุ 25 แล้วลงทุนแบบเสี่ยงน้อยๆ หน่อย ได้กำไรปีละ 5% พออายุ 60 เงินหนึ่งแสนนั้นจะโตเป็น 5.5 แสน แต่ถ้าคุณเพิ่งมาเก็บได้ 1 แสนตอนอายุ 50 หล่ะก็ (อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะคะ นานิรู้จักหลายคนเลยที่ห้าสิบแล้วยังไม่มีเงินเก็บ) พออายุ 60 เงินแสนนั้น มันเพิ่งจะกลายเป็นแสนหกเอง อันนี้แค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วอย่าหยุดเก็บเท่านี้เดี๋ยวก็มั่งคั่งอย่างไม่รู้ตัวแล้วในตอนเกษียณค่ะ

เราไม่จำเป็นจะต้องกัดฟัน หาๆๆๆ เก็บๆๆๆ จนลืมใช้ชีวิต แต่ก็อย่าเที่ยวและใช้ชีวิตเต็มที่จนกระเป๋าตังค์ฉีกละกันค่ะ เวลาที่ดีที่สุดเราควรจะเริ่มหัดออมและวางแผนการเงินเนี่ย คือตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ก่อนเรียนจบยิ่งดี แต่ถ้าใครที่อายุมากหน่อย เรียนจบไปแล้ว ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะเวลาที่ดีที่สุดรองลงมาก็คือ วันนี้! อ่านบทความนี้แล้วอย่าลืมกลับไปเริ่มวางแผนการออมกันนะคะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา