Tips ขอปรับเงินเดือนกับหัวหน้า เข้าหาแบบไหนถึงจะดี
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

Tips ขอปรับเงินเดือนกับหัวหน้า เข้าหาแบบไหนถึงจะดี

icon-access-time Posted On 22 กันยายน 2559
By Krungsri Academy
เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตาม เงินเดือนก็เช่นกัน จะมนุษย์เงินเดือนที่ตรากตรำทำงานมายาวนานหรือแม้แต่เด็กจบใหม่ก็มักมีเรื่องตะหงิดใจเกี่ยวกับ “เงินเดือน” กันทั้งนั้น อย่างคนเพิ่งเริ่มทำงานก็คิดเยอะทีเดียวกว่าจะเรียกเงินเดือนถูก แล้วจะประสาอะไรกับเวลาที่ทำงานมาสักพักแล้วปริมาณเงินเดือนไม่เป็นที่พอใจ จะทนก้มหน้าก้มตากัดฟันทำงานต่อไปก็คาใจ เพราะภาระที่เผชิญอยู่ก็รัดตัว ถึงเวลากล้าที่จะก้าวไปหาหัวหน้าแล้วล่ะ
แต่ก่อนที่จะเดิมดุ่ม ๆ เข้าไปขอขึ้นเงินเดือนดื้อ ๆ เราก็ควรวางแผน เตรียมตัวให้ดีก่อน จะได้ไม่แป๊กตั้งแต่หน้าประตู โดยแบ่งเป็นทิปส์ปฏิบัติ 3 สเต็ป ดังนี้

 

1. เข้าไปหาหัวหน้าเมื่อไหร่ดี? ตั้งคำถามและหาคำตอบของตัวเองไว้ก่อน โดยใช้ปัจจัยเหล่านี้


 
  • เมื่อเงินเดือนไม่น่าพอใจ เดิมเมื่อแรกเริ่มทำงานนั้นมีฐานเงินเดือนอย่างไร ลองคำนวณจากวุฒิการศึกษา ตำแหน่ง ความสามารถ และประสบการณ์ ทั้งหมดนี้ประกอบกันน่าพอใจหรือไม่
  • เมื่อทำงานมานานระยะหนึ่งแล้ว หากอยู่มาเกิน 1 ปีแล้ว ฐานเงินเดือนเท่าเดิม ดูไม่มีแววขยับ
  • เมื่อมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ดูว่าผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจขนาดไหน ได้รับคำติชมจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานอย่างไร เพราะผลงานคือหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด
  • เมื่อผ่านโปรฯ หรือเลื่อนตำแหน่ง ข้อตกลงหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อผ่านโปรฯ แล้ว จะได้เพิ่มเงินเดือนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลาย ๆ ที่ก็ไม่ได้มีตรงนี้ให้ หรือเมื่อเลื่อนตำแหน่งงานสูงขึ้น แต่เงินเดือนไม่ขึ้นหรือน้อยมากไม่เหมาะกับความทุ่มเทของเรา

 

2. ถึงเวลาเจรจากับหัวหน้า เมื่อทำการบ้านมาระดับหนึ่งแล้ว ได้เวลาหาโอกาสเข้าหาหัวหน้า โดยอาจเริ่มต้นจาก


 
  • ประเมินตนเองจากคำถาม 4 ข้อด้านบน เพื่อหาคำตอบว่าเราควรจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ และเมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสม ที่สำคัญก็อย่าลืมพกพาผลงานหรือเหตุผลดี ๆ เข้าไปด้วย
  • ดูจังหวะและโอกาส ลองทำการบ้าน หาโอกาสไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา สถานที่หรือบรรยากาศต่าง ๆ ที่เอื้อกับการขอเงินเดือนขึ้น เช่น ช่วงเวลาที่หัวหน้าอารมณ์ดี ไม่ตึงเครียด และสถานการณ์ผลประกอบการของบริษัท
  • แต่งตัวดีและวางตัวเหมาะสม เพราะการแต่งตัวหรือสวมใส่ไอเทม รวมทั้งการวางตัวที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและคุณค่าในสิ่งที่เราพยายามนำเสนอได้
  • สุภาพและพูดจาค่อยเป็นค่อยไป มีเหตุผลเมื่อได้โอกาสเข้าหาเจ้านายแล้ว ก็ควรดูบรรยากาศและเริ่มเกริ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจหยิบนำคำถามถึงผลงานดีของเราที่ผ่านมา พยายามเชื่อมโยงถึงช่วงเวลาที่ทำงาน ความทุ่มเท และใส่ความเป็นเหตุเป็นผลเข้าไป เพื่อบอกหัวหน้าเป็นนัยว่า ขอขยับปรับเงินเดือน
  • อย่ามั่นใจจนเกินพอดี ถึงแม้ผลงานของคุณจะดีเลิศขนาดไหนก็ตาม หากมั่นหน้ารุกเร้าจนเกินพอดีก็อาจทำให้การพูดคุยครั้งนี้ดูน่าหมั่นไส้ เพราะทัศนคติต่าง ๆ นานา จนหัวหน้าอาจจะเซย์โนให้กับการเจรจาครั้งนี้ก็เป็นได้
  • ไม่เจาะจงตัวเลข เมื่อหัวหน้าเปิดโอกาสแล้ว ก็ไม่ควรโพล่งบอกเจาะจงตัวเลขไปเลย โดยอาจบอกว่า ขอให้เพิ่มขึ้นตามผลงานของเรา หรือเป็นไปตามความเห็นของหัวหน้าและฝ่าย HR จะดีที่สุด
  • อย่าบังคับหรือก้าวร้าวกับหัวหน้า เมื่อการเจรจามาถึงจุดหนึ่งที่เราอาจจะพอมองออกว่า ผลจะออกมาในด้านลบ ก็ควรใจเย็น ไม่บังคับหรือก้าวร้าว ถึงแม้ครั้งนี้เงินเดือนยังไม่ขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าจะไม่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาในภายในหลัง (ลองเข้าไปดูทิปส์ยิบย่อยได้ที่นี่)

 

3. หลังจากการเจรจาต่อรอง ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นเช่นไร ลองปฏิบัติตามนี้


 
  • เมื่อคำตอบออกมาเป็น “YES” หากเราได้รับข่าวดีว่าหัวหน้าเห็นดีเห็นงามกับผลงานและการขอขึ้นเงินเดือนของเราแล้ว ก็ไม่ควรดีใจออกนอกหน้า เกทับเพื่อน หรือบอกเรื่องเงินเดือนให้ใครรู้ แต่สิ่งที่ควรทำ คือ อาจจะถามหัวหน้าอย่างสุภาพคร่าว ๆ ว่า เงินเดือนอัตราใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนไหน ไตรมาสใด รวมทั้งควรแสดงความทุ่มเท พร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ที่มากขึ้น และตั้งเป้าหมายในพัฒนาการของตนเองด้วย ตลอดจนทำงานอย่างขยันขันแข็งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานว่า เราได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และคุ้มค่าเงินเดือนที่ได้รับมา
  • เมื่อคำตอบออกมาเป็น “NO” ถ้าได้รับคำตอบปฏิเสธ หรือบ่ายเบี่ยงจากหัวหน้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ควรสงบสติอารมณ์แล้วยังแสดงท่าทีเคารพการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา แล้วนำเหตุการณ์ในวันนี้มาตรึกตรองดูให้ดีว่า ที่ผ่านมายังบกพร่องตรงไหน แล้วลองพัฒนาและพิสูจน์ตนเองให้หัวหน้าได้เห็น
ในโลกการทำงานนั้น เรื่องเงินเดือนเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราควรพิจารณาไปพร้อม ๆ กับหน้าที่ภาระงานให้ดี เมื่อจุดหนึ่งที่เราสามารถพัฒนาตนเองและสร้างผลงานได้ถึงจุดที่น่าพอใจแล้ว การเจรจาขอปรับเงินเดือนไม่ใช่เรื่องน่าอายน่าเกรงใจอีกต่อไป แต่การเข้าไปเจรจาพูดคุยกับหัวหน้างาน ผู้บริหาร หรือฝ่ายบุคคล อย่างเป็นขั้นตอน มีเหตุผล มีผลงานเป็นหลักฐาน มีมารยาท การที่เงินเดือนจะปรับขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา