วิธีจัดการภาษีเงินได้อย่างฉลาด
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิธีจัดการภาษีเงินได้อย่างฉลาด

icon-access-time Posted On 16 ธันวาคม 2557
By TaxBugnoms
เพื่อน ๆ รู้สึกกันไหมครับว่า เดี๋ยวนี้เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วจริงๆ เผลอแค่แป๊บเดียวก็สิ้นปีเสียแล้ว แหม่... เชื่อเหลือเกินว่าใครหลายคนยังรู้สึกเหมือนว่าเพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่นานนี้ ยังไงก็อย่าลืมทบทวนตัวเองกันด้วยนะครับว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นมีอะไรบ้าง และเราทำมันสำเร็จลุล่วงไปบ้างหรือยัง ถ้ายังก็ทำต่อไปละกันนะคร้าบ
อะแฮ่ม ๆ เมื่อพูดถึงคำว่า “เป้าหมาย” ทีไร ขอบอกเลยครับว่า เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเราทุกคน คือ “เป้าหมายทางการเงิน” ของตัวเอง โดยใช้ตัวช่วยทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออม การลงทุน การสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เราไปสู่จุดหมายทางการเงินที่เราต้องการ และตัวช่วยในการลดรายจ่ายที่ใครหลายคนอาจจะลืมนึกถึงไปก็คือเรื่องของ “ภาษี” นั่นเองครับ โดยเฉพาะ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่เราต้องจ่ายไป ๆ มา ๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเราสามารถวางแผนจัดการมันได้ด้วย! และช่วงนี้เองก็ถือเป็นช่วงที่ใครหลายคนกำลังเริ่มต้นจัดการเรื่องภาษีของตัวเอง วันนี้ @TAXBugnoms เลยมีเคล็ดลับวิธีการจัดการภาษีเงินได้อย่างฉลาดมาฝากกันถึง 5 วิธี เอาล่ะ.. เรามาดูกันเลยดีกว่าว่ามีวิธีอะไรบ้าง

1. เข้าใจเงินได้ให้ถูกประเภท

เริ่มต้นจากการเข้าใจก่อนว่ารายได้หรือเงินได้ของเรานั้นถือเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) และรวบรวมให้ครบถ้วนว่าเงินได้แต่ละประเภทนั้นมีจำนวนเท่าไรบ้าง โดยประเภทของเงินได้ทั้ง 8 ประเภทสามารถอธิบายสั้นๆได้ดังนี้ครับ
 
ประเภทของเงิน ลักษณะ
เงินได้ประเภทที่ 1 เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราวไป
เงินได้ประเภทที่ 3 เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
เงินได้ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
เงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภทแรก

2. วางแผนหักค่าใช้จ่ายให้สูงสุด กฎหมายภาษีนั้น

ได้กำหนดให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ แบบเหมา (คิดจากอัตราที่กฎหมายกำหนด) และแบบตามจำเป็นและสมควร (คิดตามค่าใช้จ่ายจริง) ซึ่งเงื่อนไขของการหักค่าใช้จ่ายนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ นั่นแปลว่า ถ้าเรามีเงินได้ประเภทไหน เราก็ต้องหักค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับเงินได้ประเภทนั้น ๆ และที่สำคัญต้องเลือกวิธีการหักค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดโดยไม่ผิดกฎหมายนั่นเองครับ

3. ประหยัดสุด ๆ ด้วยค่าลดหย่อน

หลังจากนั้นเราค่อยมาวางแผนกันต่อว่า เรามีค่าลดหย่อนอะไรที่ควรจะใช้เพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า @TAXBugnoms ขอแนะนำค่าลดหย่อนประเภทการออมและการลงทุน เช่น กองทุนรวม LTF, RMF ประกันชีวิต ประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในส่วนนี้เราต้องสำรวจตัวเองให้ชัดเจนว่า เรามีเป้าหมายทางการเงินแบบไหนและอย่างไรเพื่อเลือกค่าลดหย่อนให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองด้วยครับ เช่น บางคนเน้นเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณก็อาจจะให้น้ำหนักไปในส่วนของ RMF และประกันชีวิต มากกว่า LTF ที่เป็นการลงทุนระยะยาว

4. อย่าลืม Check List สิทธิประโยชน์ที่เหลือ

นอกจากค่าลดหย่อนปกติทั่วไปแล้ว บางครั้งกฎหมายยังให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย ซึ่งหลายคนมักจะหลงลืมไป เช่น กรณีเลี้ยงดูพ่อแม่สำหรับลูกกตัญญูสามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท หรือเบี้ยประกันสุขภาพจำนวน 15,000 บาทต่อปี รวมถึงสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี สามารถลดหย่อนเงินได้เพิ่มเติม จำนวน 190,000 บาท หรือแม้แต่สิทธิประโยชน์พิเศษเรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กฎหมายเพิ่งประกาศให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 15,000 บาท ตรงส่วนนี้เราต้องศึกษาและหาข้อมูลให้ดี เพราะจะได้เลือกใช้เพื่อประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันครับ

5. อย่าประมาทเรื่องการจัดการเอกสาร

สำหรับเรื่องสุดท้ายนี้ เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะพลาดโดยที่ไม่รู้ตัว นั่นคือเรื่องของการจัดการเอกสาร เพราะในเรื่องของกฎหมายอย่างภาษีนั้นต้องพูดจากันด้วย "หลักฐานจริง” เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เราจะพิสูจน์ตัวเองได้ ดังนั้นเรื่องการจัดการหลักฐานเอกสารทั้งหลาย เราต้องจัดการให้เรียบร้อยตั้งแต่ได้รับมา เก็บให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ใช่มาควานหากันตอนปลายปีหรือตอนยื่นภาษีเท่านั้น อันนี้ผมขอเน้นอีกครั้งเลยว่าสำคัญมาก ๆ ครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ จะได้รับข้อคิดจากบทความนี้ ไปปรับใช้ในการจัดการและบริหารเรื่องภาษีของตัวเอง และขอให้ทุกคนสามารถวางแผนภาษีเงินได้อย่างชาญฉลาด เพื่อประหยัดรายจ่ายและไปสู่เป้าหมายการเงินได้ทุกคนเลยคร้าบบ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา