5 เคล็ดลับการเลือกดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัย
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 เคล็ดลับการเลือกดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัย

icon-access-time Posted On 28 สิงหาคม 2558
By Yui Get Rich
การลงทุนในที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด หรือการซื้อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น หากต้องใช้เงินตัวเองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากสำหรับยุคสมัยนี้ เพราะที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ลงทุนส่วนมากจึงนิยมการลงทุนหรือการซื้อที่อยู่อาศัยด้วยการกู้
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น คือ เงินกู้ระยะยาวที่ผู้กู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ และคอนโด เป็นต้น โดยผู้กู้นั้นจะต้องให้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในการจำนองแก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้สินเชื่อ ดังนั้นการกู้เพื่อการลงทุนหรือการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปรียบเทียบหรือเลือกอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยให้คุ้มค่าที่สุด
สำหรับ 5 เคล็ดลับการเลือกดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยนี้ จะเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น โดยคุณสามารถใช้หลักทั้ง 5 ข้อนี้ในการเปรียบเทียบแต่ละธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเลือกธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะชอบอัตราดอกเบี้ยแบบไหนและอัตราดอกเบี้ยแบบไหนมีเงื่อนไขที่เหมาะกับคุณเพื่อความคุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นสิ่งแรกที่จะต้องนำมาเปรียบเทียบ คือ คุณจะต้องรู้ว่าคุณจะกู้จำนวนเท่าใด จะกู้ระยะเวลานานเท่าใด จะกู้อัตราดอกเบี้ยเท่าใด จะต้องผ่อนชำระเงินงวดเท่าใด เงินงวดที่ผ่อนสัมพันธ์อย่างไรกับวงเงินกู้ ระยะเวลากู้ และอัตราดอกเบี้ย จะกู้เงินกับธนาคารไหนดี ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ
  • MLR (Minimum Loan Rate) : คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระที่แน่นอน อัตราดอกเบี้ย MLR ของแต่ละสถาบันการเงินจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการกำหนดของสถาบันการเงินนั้น ๆ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย MLR เป็นอัตราดอกเบี้ยประเภทลอยตัว ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจการเงินในขณะนั้นด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ 7.00-8.10% แต่ละธนาคารจะแตกต่างกันค่ะ
  • วงเงินให้กู้ : สถาบันการเงินหรือธนาคารส่วนใหญ่มักจะให้กู้หรือให้สินเชื่อไม่เกิน 90% ของราคาที่อยู่อาศัย ดังนั้นการวางเงินดาวน์ในการซื้อบ้านจะต้องวางอย่างต่ำ 10% ของราคาบ้าน เงินดาวน์ (Down Payment) คือ เงินมัดจำที่ชำระล่วงหน้าตอนที่ตกลงซื้อ โดยทั่วไปเงินดาวน์มักถูกกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาที่พักอาศัยตั้งแต่ 5-20% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหน่วยงานราชการบางที่ได้ทำข้อตกลงกับธนาคาร ผู้กู้ที่เป็นเจ้าพนักงานของหน่วยงานนั้น ๆ สามารถกู้ได้ถึง 100% เลยทีเดียว
  • ระยะเวลาการผ่อนชำระ (Loan Tenure) : คือ ระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้สำหรับสินเชื่อหรือการกู้ยืมเงินระยะยาว สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น จะให้ระยะเวลาการผ่อนชำระ (Loan Tenure) ที่นานกว่าสินเชื่ออื่น ๆ แต่จะมีระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ซึ่งระยะเวลาการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับอายุของผู้ขอกู้ในขณะนั้นด้วย หากผู้ขอกู้มีอายุมาก ก็จะได้ระยะเวลาการผ่อนชำระที่สั้น ถ้าผู้กู้มีอายุน้อยก็จะได้ระยะเวลาที่ยาว ซึ่งการได้ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ยาวนั้น มีผลต่อจำนวนเงินที่ผ่อนต่อเดือน ซึ่งจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการผ่อนชำระด้วยค่ะ
  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย : ในแต่ละปีว่าจะต้องเสียอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนชำระร้อยละเท่าใด ในแต่ละปีอาจไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้กู้ควรนำอัตราดอกเบี้ยของแต่ละปีมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อจะได้นำค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารมาเปรียบเทียบกัน เช่น ธนาคาร A ( อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 = 1.94%, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 = 6.22%, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 = 6.22% ดังนั้นค่าเฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปีเท่ากับ 4.79%) ส่วน ธนาคาร B ( อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 = 3.00%, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 = 4.75%, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 = 4.75% ดังนั้นค่าเฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปีเท่ากับ 4.16%) เมื่อทำการเปรียบเทียบเฉลี่ย 3 ปีจะทำให้เรารู้ว่าแต่ละธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเราเท่าไหร่ ซึ่งข้อนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจในการกู้เป็นอย่างมากค่ะ
  • การบริการ : สุดท้ายนี้หากในกรณีที่แต่ละธนาคารมี MLR, การให้วงเงินกู้, ระยะเวลาในการผ่อน หรืออัตราดอกเบี้ยที่เท่ากันจนไม่สามารถเลือกที่ใดที่หนึ่งได้ ข้อสุดท้ายที่จะเลือก คือ เลือกที่การให้บริการค่ะ ซึ่งแต่ละธนาคารย่อมแตกต่างกันแน่นอน สิ่งที่จะชนะใจลูกค้ามากที่สุดก็คือ ธนาคารใดมีรอยยิ้ม การต้อนรับ การให้คำอธิบาย การให้บริการที่ดีกว่าย่อมชนะใจลูกค้า ซึ่งข้อสุดท้ายนี้อาจเป็นข้อแรก ๆ ที่ลูกค้าบางรายพิจารณาเลยก็ว่าได้ค่ะ
 
หวังว่าจากเคล็ดลับการเลือกดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยทั้ง 5 ข้อนี้จะช่วยให้คุณสามารถนำเคล็ดลับทั้ง 5 ไปเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินในแต่ละที่ซึ่งจะช่วยให้การเลือกดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา