จัดการเรื่องลดหย่อนภาษีก่อนเริ่มปีใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

จัดการเรื่องลดหย่อนภาษีก่อนเริ่มปีใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด

icon-access-time Posted On 29 ธันวาคม 2560
By สืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์
อยากลดหย่อนภาษี แต่คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากจนบางคนก็ยอมทำใจปล่อยผ่าน ทำให้พลาดการขอลดหย่อนเต็มรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น แต่ที่จริงแล้วยังมีขั้นตอนและวิธีการที่คุณเองก็สามารถจัดการได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง มาเรียนรู้ที่จะลงมือผ่านบทความนี้ อย่าลืมว่า เงินที่ได้กลับมายังสามารถไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตของคุณได้ไม่มากก็น้อยแน่นอน
ช่วงนี้ หลายคนคงกำลังลุ้นตัวเลขโบนัสกันอยู่ แต่เดี๋ยวก่อนนะ ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องโบนัสเลย ปลายปียังไม่ใช่ฤดูกาลของการยื่นเสียภาษี จึงทำให้หลงลืมกันไป แต่รู้มั้ย ช่วงปลายปีนี่แหละเป็นช่วงโอกาสทองของการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีเลยล่ะ
ทำไมต้องวางแผนลดหย่อนภาษี คำตอบคือถ้าต้องการได้เงินคืนจากเงินส่วนที่จ่ายภาษี ก็ต้องวางแผนลดหย่อนภาษี แต่หากไม่ต้องการภาษีคืน ก็ไม่ต้องสนใจเรื่องนี้เลยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย และเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลย
แล้วการวางแผนลดหย่อนนี้ทำได้เฉพาะช่วงปลายปีเท่านั้นเหรอ จริง ๆ คือ ทำได้ตลอดทั้งปีแหละ แต่ปลายปีมักจะมีโอกาสดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น มีนโยบายจากรัฐบาลเรื่องการลดหย่อนภาษีออกมา การซื้อกรมธรรม์ช่วงปลายปีจะทำให้เลือกจ่ายกรมธรรม์ภายในปีนั้น หรือยกยอดไปจ่ายปีหน้าก็ได้ นอกจากนี้ ช่วงปลายปีบริษัทประกันมักจะมีกรมธรรม์ดี ๆ ที่ชักจูงให้คนมาซื้อ เช่น เป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองสูง จ่ายสั้นคุ้มครองยาว
เมื่อรู้แล้วว่าปลายปีเป็นช่วงที่ดีที่สุดต่อการวางแผนลดหย่อนภาษี มาดูกันว่า ภาษีปี 2560 ที่จะยื่นเสียภาษีในปี 2561 นี้ จะจัดการเรื่องลดหย่อนภาษีอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด

1. แต่งงานแล้วได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่ม

รัฐมองว่าการมีครอบครัวถือว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ความสำคัญตรงนี้จึงเปิดสิทธิให้กับคนที่แต่งงานและจดเบียนสมรสแล้ว สามารถลดหย่อนคู่สมรสและบุตรได้ แต่หากแต่งงานแล้วไม่อยากจดทะเบียนสมรสจะได้สิทธิแค่ลดหย่อนบุตรเท่านั้น โดยกรณีที่ผู้มีรายได้เป็นฝ่ายชายจะต้องไปขอหนังสือรับรองบุตรเสียก่อน จึงจะถือว่ามีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและใช้สิทธินี้ได้ ส่วนฝ่ายหญิงถือว่าเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือใด ๆ
ดังนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าแต่งงานแล้วจะได้สิทธิการลดหย่อนเลย ปลายปีหันมาสำรวจสักหน่อยว่าได้จดทะเบียนสมรสหรือมีหนังสือรับรองบุตรแล้วหรือยัง เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มที่

2. สิทธิลดหย่อนเมื่อพ่อแม่แก่ชรา

การดูแลพ่อแม่เป็นภาระหน้าที่ของลูกอยู่แล้ว รัฐมองเห็นภาระตรงนี้จึงให้สิทธิลดหย่อนบิดามารดา โดยต้องเข้าเกณฑ์ที่ว่าบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03) สำหรับใช้ยื่นเสียภาษี หนังสือหนึ่งฉบับใช้ลดหย่อนต่อหนึ่งคน ดังนั้น หากใช้สิทธิลดหย่อนทั้งพ่อและแม่ก็ต้องมีหนังสือสองฉบับ
ช่วงเวลาปลายปีเป็นช่วงที่คนทำงานในเมืองใหญ่ได้กลับไปเยี่ยมครอบครัว การใช้เวลาช่วงนี้เพื่อเตรียมพร้อมเรื่องหนังสือรับรองฯ ก็จะช่วยให้สามารถยื่นภาษีต้นปีได้ทันที
เดินทางท่องเที่ยวก็ลดหย่อนภาษีได้

3. เดินทางท่องเที่ยวก็ลดหย่อนภาษีได้

ปลายปีเป็นช่วงของเวลาดี ๆ เมื่อถึงเวลาปลายปี หลายคนมักจะนึกถึงบรรยากาศเย็น ๆ อยากพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อมีวันหยุดยาวจึงวางแผนไปท่องเที่ยว ก็ถือโอกาสนี้วางแผนลดหย่อนภาษีไปด้วยเลย
การท่องเที่ยวที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้น โดยต้องใช้ใบกำกับภาษีฉบับเต็ม ดังนั้น เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวอย่าลืมขอใบกำกับภาษีฉบับเต็มมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันนะ

4. ลดหย่อนภาษีด้วยสารพัดประกัน

ประกันชีวิต สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
ประกันเงินออม หากต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการทำประกันเงินออมสักฉบับ ลองคิดว่าการออมโดยทำประกันเพื่อให้ได้ลดหย่อนภาษี กับการออมเองโดยฝากธนาคาร ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมอย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน แต่หากต้องการจะซื้อประกันเงินออมเพื่อประกันความเสี่ยงโดยมองถึงคนข้างหลัง และได้รับผลพลอยได้เป็นเงินออมและเงินลดหย่อนภาษีก็ถือว่าเป็นการทำประกันที่คุ้มค่า แต่ถ้ามองว่าทำประกันเพื่อการออมอย่างเดียว มันก็จะมีวิธีออมแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าประกันเงินออม แถมไม่เสี่ยงเงินออมหายเมื่อส่งค่างวดผิดเวลา
ประกันบำนาญ เป็นประกันที่ทำเพื่อการออมเงินระยะยาว เป้าหมายคือเก็บเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ จุดเสี่ยงของประกันแบบนี้คือต้องจ่ายค่างวดเท่า ๆ กันทุกปี จนถึงอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นภาระ หากขาดจ่ายหรือขายคืน มูลค่าจะเหลือนิดเดียว เรียกได้ว่าขาดทุน ดังนั้น หากต้องการใช้ประกันบำนาญมาเป็นตัวลดหย่อนภาษี จะต้องพิจารณาถึงจุดอ่อนตามที่กล่าวมาด้วย

5. ลดหย่อนภาษีด้วยหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF หรือ RMF

LTF (Long Term Equity Fund) หรือ กองทุนรวมระยะยาว สามารถใช้ยอดเงินลงทุนที่จะนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน และไม่เกิน 500,000 บาท ปีไหนลงทุนก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีของปีนั้น ส่วน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 500,000 บาท (รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน) โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี นอกจากนั้นยังต้องถือไว้เกินกว่า 5 ปี และมีอายุเกิน 55 ปี ถึงจะสามารถขายได้
การลงทุนใน LTF และ RMF เหมาะสำหรับคนที่มีฐานภาษีสูงตั้งแต่ 15% ขึ้นไป ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนใน LTF และ RMF ผู้มีรายได้จำเป็นต้องรู้ฐานภาษีเสียก่อน โดยคำนวณจากรายได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน (เงินเดือน+โบนัส+เงินปันผล+รายได้อื่น ๆ) - หักค่าใช้จ่าย - หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ
และเมื่อได้รายได้สุทธิมาแล้ว ให้มาเปรียบเทียบว่าอยู่ในเกณฑ์ถูกหักภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ (ดูตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประกาศของแต่ละปี) แค่นี้ก็จะรู้ว่าเหมาะสมที่จะลงทุน LTF และ RMF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีหรือไม่

6. ลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคเงิน

วิธีนี้เป็นวิธีลดหย่อนภาษีที่ชอบเป็นการส่วนตัว โดยหากเป็นการบริจาคให้สถานศึกษาหรือกีฬาจะสามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (ก่อนหักเงินบริจาค) เช่น บริจาค 5,000 บาท จะได้ลดหย่อนถึง 10,000 บาท คุ้มจริง ๆ ทั้งได้บุญและได้ลดหย่อนด้วย โดยสามารถตรวจสอบสถานที่สถานศึกษาได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ส่วนการบริจาคอื่น ๆ มีสิทธิหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา / กีฬา ได้แก่ การบริจาคให้สถานพยาบาล บริจาคให้วัด หรือมูลนิธิ ยกตัวอย่างคือ บริจาค 1,000 บาท ก็ได้ลดหย่อนภาษี 1,000 บาท
ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี การบริจาคก็เป็นอีกทางเลือกที่ได้ทั้งลดหย่อนภาษีและให้ความสุขทางด้านจิตใจได้อีกด้วย
ที่จริงแล้วการวางแผนลดหย่อนภาษีในบางเรื่องก็ทำระหว่างปีได้ อย่างการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ต้องใช้ใบกำกับภาษีฉบับเต็ม หากระหว่างปีมีการเดินทางและซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว ก็ควรขอใบกำกับภาษีมาเก็บไว้ การจะมารีบเร่งเที่ยว กิน ช้อป ปลายปี อาจจะต้องเสียเวลารอคิวขอใบกำกับภาษีอีก ลองอ่านเพิ่มเติมกันได้อีกที่บทความ 3 แนวคิดลดหย่อนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
สำหรับคนที่มุ่งมั่นจะลดหย่อนภาษีมากเกินไป ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าให้ดี การนำเงินมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษี จนไม่เหลือสภาพคล่อง ไม่มีเงินเหลือไว้กินไว้เที่ยวเลย ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองและครอบครัวได้ ดังนั้น ลดหย่อนภาษีแต่พอดี เพราะเงินที่จ่ายภาษีไปก็ไม่ได้สูญเปล่า แต่เป็นงบประมาณที่นำไปใช้พัฒนาประเทศของเราต่อไป
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา