หนี้ติดไซเรน! รวมพฤติกรรมการใช้เงินแบบผิด ๆ ที่ต้องบอกลา
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

หนี้ติดไซเรน! รวมพฤติกรรมการใช้เงินแบบผิด ๆ ที่ต้องบอกลา

icon-access-time Posted On 25 ตุลาคม 2562
By Krungsri the COACH
คุณเคยสงสัยไหม? พยายามเก็บเงินเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ แถมยังมีหนี้เพิ่มเข้ามาอีก จนเกิดคำถามว่า เราทำอะไรผิดพลาดหรือเปล่า? มีอะไรช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเครียด ความยุ่งยากนี้ได้บ้าง วันนี้เราจะมาบอกสาเหตุของการเป็นหนี้ที่มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ ลองสำรวจตัวเองกันดูครับว่ามีพฤติกรรมใดบ้าง และเรามีวิธีแก้สิ่งเหล่านี้แบบที่คุณก็สามารถทำตามได้ง่าย ๆ มาฝากกันครับ
หนี้ติดไซเรน! รวมพฤติกรรมการใช้เงินแบบผิด ๆ ที่ต้องบอกลา

‘ออมหรอ พรุ่งนี้แล้วกัน’ สร้างประโยคแบบนี้ทุกวันเมื่อจะออมเงิน

หากคุณเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนการเริ่มต้นออมเงินไปเรื่อย ๆ สร้างเงื่อนไขกับตัวเองตลอดเวลาจนไม่ได้ทำสักที การไปถึงเป้าหมายการออมก็เป็นเรื่องยาก แต่เราก็สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ ทางที่ดีเมื่อคุณได้เงินมาแล้ว ก็ควรแบ่งเก็บเป็นเงินออมก่อน แล้วค่อยนำไปใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ เพราะถ้าคุณนำเงินไปใช้ก่อนเก็บออม รับรองว่าไม่เหลือเก็บแน่นอน เพราะปัจจุบันสิ่งของล่อตาล่อใจมีเยอะ จนทำให้เราเผลอใช้เงินเกินตัว อย่าลืมว่า ‘รายได้ - เงินออม = รายจ่าย’
และเริ่มสร้างวินัยการออมให้ตัวเอง โดยต้องเริ่มตั้งแต่ “ตอนนี้” เปลี่ยนตัวเองใหม่ เช่น สร้าง Task การออมของตัวเองเป็นสัปดาห์หรือรายเดือน อีกส่วนที่สำคัญคือ อย่ามองข้ามเรื่องการจดรายรับรายจ่าย เพราะจะทำให้รู้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และรายจ่ายไหนที่สามารถตัดทิ้งได้ หากควบคุมรายจ่ายเหล่านี้ได้ คุณก็จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นอีก
หนี้ติดไซเรน! รวมพฤติกรรมการใช้เงินแบบผิด ๆ ที่ต้องบอกลา

จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำวนไป

การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำวนไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน เป็นพฤติกรรมแบบหนึ่งที่เกิดจากการไม่วางแผนการใช้บัตรเครดิต หรือไม่ได้ตั้งงบประมาณในการใช้จ่ายผ่านบัตรในแต่ละเดือนไว้ อยากได้อะไรก็รูด จนลืมไปว่าเราไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายในเดือนนั้น ๆ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ขึ้น และหลายคนอาจยังไม่รู้อีกว่าที่เราจ่ายขั้นต่ำวนไปนั้น จะมีจำนวนดอกเบี้ยอยู่ในนั้นด้วย (ตามเงื่อนไขในแต่ละธนาคาร) ก็จะทำให้เราต้องชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น
ในทางที่ดี เราควรกำหนดงบประมาณที่จะใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือนว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ เช่น รูดบัตรเพื่อใช้จ่ายค่าจิปาถะในแต่ละเดือน ไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าเราจะสามารถชำระหนี้บัตรเครดิตได้อย่างแน่นอน และถ้ากำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ สามารถเริ่มต้นแก้ไขด้วยการแบ่งหนี้บัตรให้เป็นสัดส่วนโดยอาจวางแพลนจ่ายให้หมดใน 3-6 เดือน (ตามระยะที่ตนเองจ่ายไหว) หากมีเงินก้อนก็ควรรีบนำมาชำระหนี้ก้อนนี้ให้เร็วที่สุดโดยเงินนั้นต้องเป็นรายรับไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม

ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หยิบตรงนี้ ไปจ่ายตรงนั้น

‘เอาเงินค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือไปจ่ายหนี้อีกส่วน’ พฤติกรรมการใช้จ่ายแบบนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายทั้งเดือนรวมถึงในอนาคต เพราะจะทำให้การวางแผนการเงินรวนไปทั้งระบบจนทำให้เงินไม่พอใช้และอาจต้องทำให้ไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาใช้อีก ปัญหานี้ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องแยกรายจ่ายให้ชัดเจนและไม่ไปยุ่งกับเงินในส่วนนั้นเด็ดขาด! หรือถ้าเผลอไปใช้เพราะชินกับการรูดผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิตไปเรื่อย ๆ ก็ลองใช้วิธีง่าย ๆ เช่น นำเงินแต่ละส่วนเก็บใส่กล่องไว้ เมื่อถึงเวลาก็นำไปชำระตามปกติ ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทดลองทำได้
หนี้ติดไซเรน! รวมพฤติกรรมการใช้เงินแบบผิด ๆ ที่ต้องบอกลา

ไม่พลาดของ Sale เก็บทุกโปรโมชั่น นิสัยนี้ทำให้เงินออกจากกระเป๋าง่ายโดยไม่รู้ตัว

ช้อปเก่งทั้งออนไลน์ออฟไลน์ มีห้างทุกห้างเป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา ได้จ่ายเงินแล้วมีความสุข จริง ๆ แล้วการมีนิสัยหรือพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ปัญหามันอยู่ที่ เรามักจะใช้จ่ายเกินตัวตามที่กำลังทรัพย์เรามี จะไม่ผิดเลยถ้าเรามีกำหนดเพดานไว้แล้วใช้จ่ายในขอบเขตนั้นได้ แล้วถ้าเกิดเราใช้จ่ายทะลุเพดานบ่อย ๆ จนทำให้เรามีหนี้ตามติดตัวมา เราจะแก้ไขได้อย่างไร ก็อาจเริ่มต้นด้วยวิธีการ ลิสต์รายการของที่เราซื้อมาแล้วยังไม่ได้ใช้ ทางที่ดีระบุราคาของลงไปด้วยเพื่อดูว่าฟุ่มเฟือยไปแค่ไหน และเพื่อเป็นการช่วยเตือนตัวเองให้คิดทบทวนก่อนซื้อเยอะ ๆ ว่าจริง ๆ แล้วของที่จะซื้อมันจำเป็นกับเรามากน้อยแค่ไหน
ถ้าอยากปลดหนี้ ให้ได้หรือไม่อยากเจอหนี้ตามหลอกหลอนก็ต้องคุมพฤติกรรมเหล่านี้ให้อยู่หมัด อย่าทำให้สภาพการเงินของตัวเองไปสู่ภาวะฉุกเฉิน จนเรียกได้ว่า ‘หนี้ติดไซเรน’ เพราะสุขภาพการเงินก็ไม่ต่างอะไรกับสุขภาพกาย เราต้องหมั่นดูแลรักษา ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอและคุณสามารถเริ่มต้นหลบหลีกพฤติกรรมเหล่านี้ได้ตั้งแต่วันนี้ครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: entrepreneur.com, aommoney.com, moneyguru.co.th
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา