ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย

icon-access-time Posted On 09 มิถุนายน 2563
By ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาด โดยได้เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 26 มีนาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนเป็นอย่างน้อย ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งมาตรการต่างๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย
วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว 3.2% และเศรษฐกิจอาเซียนจะลดลงราว 2.1-5.4% จากสถานการณ์ปกติ หากมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ 2 เดือน โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน จากการที่นักท่องเที่ยวคาดว่าจะลดลง 60% จากปีที่แล้ว การขาดตอนของห่วงโซ่การผลิตทั้งในและต่างประเทศ และผลของตัวทวีคูณ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจหดตัว 5.4% จากกรณีที่ไม่มีโรคระบาด
ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีในแต่ละประเทศ
วิจัยกรุงศรีจึงได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 0.8% เป็นหดตัวถึง 5.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1998 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าที่เคยประเมินไว้
การปรับคาดการณ์จีดีพีในครั้งนี้ประเมินจากสมมติฐานที่ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้เวลาการใช้มาตรการที่เข้มงวดขยายออกไป การส่งออกหดตัว และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทั้งนี้ ได้รวมผลของมาตรการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการป้องกันความปั่นป่วนของตลาดเงินไว้แล้ว อีกทั้งยังคำนึงถึงภาวะภัยแล้ง ความล่าช้าในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บวกกับความเชื่อมั่นที่ลดลง และผลกระทบของ พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว

มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ

ในช่วงการระบาดของไวรัส ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษายอดขายและกำไรไว้ได้ บางบริษัทอาจมีกำไรลดลงและเงินทุนลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีสภาพคล่องสูงจะผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ วิจัยกรุงศรีจึงใช้อัตราส่วนสภาพคล่อง (สินทรัพย์หมุนเวียนเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน) ในปัจจุบันมาประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทในระยะสั้น หากบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนจะสะท้อนว่า บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน ในขณะที่บริษัทที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนต่ำกว่าหนี้สินหมุนเวียนอาจจะมีปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากการหยุดชะงักของภาคธุรกิจ
เมื่อนำข้อมูลจีดีพีรายภาคธุรกิจมาประเมินร่วมกับกับข้อมูลรายบริษัทแล้วพบว่า การระบาดของไวรัสส่งผลให้จำนวนบริษัทที่ขาดสภาพคล่องหรือสภาพคล่องตึงตัวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหากใช้มาตรการล็อกดาวน์สองเดือน บริษัทที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจาก 102,076 บริษัทก่อนที่จะมีการระบาด ไปเป็น 192,046 บริษัท จากจำนวนบริษัทที่มีในประเทศไทยทั้งหมด 747,390 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว
จำนวนบริษัทที่ประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง
ในปีนี้ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโรงแรมจะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก คาดว่าจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะเพิ่มขึ้น 39% จากช่วงก่อนมีการระบาด ส่วนโรงแรมขนาดเล็กและสายการบินขนาดเล็ก จำนวนผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้น 35% และ 27% ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์จะมีโอกาสได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกันแต่เนื่องจากยังมีสภาพคล่องสูง จึงยังคงดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
หากประเมินผลกระทบแบ่งตามขนาดบริษัท บริษัทขนาดเล็กคือกลุ่มที่เปราะบางที่สุด โดยจำนวนบริษัทที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เพิ่มขึ้น 19.3% ขณะที่บริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดใหญ่ที่อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 13.0% และ 7.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร ดีลเลอร์รถยนต์ และโรงแรม มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผล กระทบจากการระบาดของไวรัสโควิค-19 และมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากกว่าบริษัทใหญ่ในธุรกิจอื่นๆ ส่วนบริษัทขนาดกลางที่มีความเปราะบางคือ ร้านอาหาร บริการทางการเงินอื่นๆ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
บริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการระบาดของ COVID-19
ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากแบ่งตามขนาดบริษัท
สำหรับจังหวัดที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จันทบุรี และชลบุรี เพราะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวที่สำคัญ ส่วนในกรุงเทพฯ จำนวนบริษัทที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 20.6% ซึ่งอาจส่งผลให้โอกาสที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบทวีคูณต่อเศรษฐกิจในพื้นที่จากการลดการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง
10 อันดับจังหวัด ที่มีจำนวนบริษํทขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นสูงที่สุด
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทในประเทศไทยต้องการเงินหมุนเวียนระยะสั้นสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของจีดีพี (ประเมินจากจำนวนเงินที่มีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ของบริษัททั่วประเทศภายใน 1 ปีข้างหน้า) โดยภาคค้าส่งและค้าปลีกจะต้องการเงินหมุนเวียนราว 4 แสนล้านบาท เพื่อชำระหนี้ในระยะสั้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโรงแรม ขนส่งทางอากาศ และร้านอาหารจะต้องการใช้เงินราว 3 – 5 หมื่นล้านบาทเพื่อความอยู่รอด โดยรวมแล้ว เกือบ 60% ของบริษัทที่ประสบปัญหาจะต้องใช้เงินมากกว่า 1 ล้านบาทต่อบริษัท เพื่อผ่านวิกฤตสภาพคล่องในครั้งนี้
จำนวนเงินหมุนเวียนที่ต้องการเพื่อรักษาสภาพคล่องแบ่งตามภาคธุรกิจและขนาดธุรกิจ
 

ที่มา:
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา