สินเชื่อที่แล้วยังผ่อนไม่หมด รอบนี้จะกู้ผ่านหรือไม่
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สินเชื่อที่แล้วยังผ่อนไม่หมด รอบนี้จะกู้ผ่านหรือไม่

icon-access-time Posted On 14 พฤศจิกายน 2557
By Krungsri Guru
สำหรับคนที่มองหาบ้านหลังใหม่อาจจะคิดหนักเพราะอาจยังมีภาระผ่อนบ้านเก่าอยู่ หรือมีภาระผ่อนทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อนๆที่มีภาระกับสินเชื่อบ้านเก่าที่ยังผ่อนไม่หมด ถ้าจะขอสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้านก็คงจะกลัวกู้ไม่ผ่านกันใช่ไหมครับ มีเคล็ดลับที่ไม่ลับถึงแม้เรามีหนี้อยู่ก็ยังขอสินเชื่อใหม่ได้
การที่จะกู้ขอสินเชื่อบ้านนั้นเราต้องรู้ว่าสถาบันการเงินมีเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่ออย่างไรบ้าง เพื่อที่จะอุดรูโหว่ที่ทำให้เราอาจกู้บ้านไม่ผ่านได้ครับ เหมือนสุภาษิตที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ จะมีเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อบ้าน ดังนี้ครับ

ดูที่ความสามารถในการชำระหนี้


สถาบันการเงินจะวิเคราะห์ผู้กู้ว่า จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ โดยจะพิจารณาจากรายได้ของผู้กู้ (และผู้กู้ร่วม) เป็นหลัก ซึ่งจะพิจารณาให้กู้ประมาณ 30-40 เท่าของรายได้ เช่น มีเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท จะกู้ได้ในวงเงินสูงประมาณ 900,000 – 1,200,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ให้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพ และความมั่นคงของรายได้ด้วย หากเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างบริษัทเอกชนที่มีกิจการมั่นคง (ดำเนินงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 10 คน) ก็อาจได้รับการอนุมัติเงินกู้สูงถึง 40 เท่าของเงินเดือน หรือค่าจ้าง

ตัวอย่างเช่น
มีเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท จะกู้ได้ในวงเงินสูงถึง 1,200,000 บาท

*นอกจากนั้นธนาคารยังพิจาณาเรื่อง สัดส่วนเงินงวดต่อรายได้สุทธิประกอบด้วย (monthly to net income ratio) คือต้องไม่เกิน 33%

เพราะฉะนั้นหากเรามีรายได้สุทธิต่อเดือน 30,000 บาท ธนาคารจะให้กู้ในอัตราที่เงินผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 33% ต่อรายได้สุทธิต่อเดือน คือเป็นเงินผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 9,900 บาท

เกณฑ์ตรงนี้ทำให้เราสามารถประเมินความสามารถตัวเองได้ว่าจะกู้สินเชื่อบ้านได้ในวงเงินประมาณเท่าไหร่ ถ้าคุณที่มีภาระผ่อนสินเชื่ออื่นๆ อยู่ให้นำภาระงวดผ่อนต่อเดือนไปหักลบกับรายได้ประจำต่อเดือนของเราก็จะได้รายได้สุทธิต่อเดือนไปคำนวณวงเงินกู้ที่สามารถขอสินเชื่อได้ ก็จะทำให้เราสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้อีก และผมมีเคล็ดลับบอกเพื่อนๆ ว่าถ้าเรามีหนี้ก้อนไหนที่สามารถโปะหนี้ให้หมดได้ให้รีบโปะหนี้ให้หมดครับ เพราะจะทำให้ภาระงวดผ่อนต่อเดือนเราลดลง ส่งผลให้รายได้สุทธิต่อเดือนเราเพิ่มขึ้น จึงทำให้เราสามารถกู้ในวงเงินที่มากขึ้นได้นะครับ

หลักประกันเงินกู้


ถ้าเพื่อนๆ มีหลักประกันเงินกู้ ทางสถาบันการเงินจะนำหลักประกันเงินกู้ มาวิเคราะห์ทรัพย์สินที่นำมาจำนองเป็นหลักประกันด้วย โดยจะมีการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ
  • ความเหมาะสมของหลักประกัน ได้แก่ บ้านหรือที่ดินจะต้องโอนกรรมสิทธ์ของผู้กู้ทุกคน (ยกเว้น ผู้กู้ที่เป็นคู่สมรส บิดามารดา บุตร และพี่น้อง) หากเป็นอาคารต้องสร้างเสร็จอย่างน้อย 90% (กรณีจัดสรร) กรณีขอกู้ซื้อที่ดินหรืออาคารจัดสรร ต้องมีสภาพคล่องในตลาดสูงสามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือกันได้ง่ายในตลาดด้วยครั
  • มูลค่าตลาดของหลักประกัน จะต้องมีมูลค่าสูงกว่าวงเงินกู้มากอยู่พอสมควร โดยมีสัดส่วนประมาณ 70-85% ของราคาซื้อขายหรือมูลค่าของหลักประกัน เหตุผลเพื่อว่าหากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารอาจจำเป็นต้องบังคับจำนอง เพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สิน กรณีหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมอาคาร จะให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมิน แต่ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาซื้อขาย โดยกรณีหลักประกันเป็นที่ดินเปล่า อาคารพาณิชย์ ห้องชุด จะให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมิน แต่ไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาซื้อขาย
และกรณีที่ยังไม่มีถนนเข้าถึงหลักประกัน หรือหลักประกันอยู่ในแนวเวนคืน หรือสาธารณูปโภคไฟฟ้า ห่างจากหลักประกันเกิน 100 เมตร ให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาประเมิน และผมมีเทคนิคมาบอกเพื่อนๆว่า ถ้าเรามีหลักประกันที่มีมูลค่าตลาดของหลักประกันที่สัดส่วนของมูลค่าเงินกู้ต่อหลักประกัน น้อยลงมากเท่าใดธนาคารก็มีความเสี่ยงน้อยลง เพื่อนๆก็จะมีโอกาสกู้ได้มากขึ้นครับ ซึ่งเพื่อนที่มีภาระสินเชื่อเก่าๆ ค้างอยู่ แต่มีพอมีสมบัติเก่าอื่นๆ อยู่บ้าง การนำทรัพย์สมบัติที่มีมาเป็นหลักประกัน ก็เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อได้ขึ้นอีกเยอะเลยนะครับ

คุณสมบัติอื่นของผู้กู้


นอกจากสถาบันการเงินจะวิเคราะห์ในเรื่องรายได้ และหลักประกันแล้ว สถาบันการเงินอาจพิจารณาคุณสมบัติอื่นของผู้กู้ด้วย เช่น อายุของผู้กู้ เมื่อรวมกับจำนวนปีที่ขอกู้แล้วจะต้องไม่เกิน 70 ปี ตัวอย่างเช่น ผู้กู้อายุ 30 ปี จะกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี และผู้กู้ร่วมนอกจากผู้ที่เป็นคู่สมรส บิดามารดา พี่น้อง หรือบุตรแล้ว จะมีผู้กู้ร่วมคนอื่นได้อีกไม่เกิน 1 คน ผู้กู้ร่วมที่มิใช่คู่สมรสและบุตร จะต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ที่จำนองด้วย ซึ่งการกู้ร่วมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เรามีความสามารถในการขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นครับ โดยถึงแม้เราจะมีภาระผ่อนสินเชื่ออื่นๆอยู่ แต่ถ้าเราหาผู้มากู้ร่วมที่ประวัติการขอสินเชื่อยังไม่เคยมีหนี้มาก่อนก็จะทำให้ธนาคารให้เครดิตเราดีขึ้นได้นะครับ
นอกจากนี้หากเพื่อนๆ มีหนี้บัตรเครดิตก็ให้เคลียร์หนี้ต่างๆ ให้หมดหรือให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาสินเชื่อ เพราะธนาคารจะดูประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้ด้วย ถึงแม้เพื่อนๆ มีภาระสินเชื่ออยู่ แต่ถ้ามีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ตรงตามงวดทุกครั้ง ไม่เคยเบี้ยวหนี้ ทางธนาคารก็จะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่าถ้าให้สินเชื่อเราแล้ว เราจะสามารถผ่อนชำระตรงตามงวดได้ และที่สำคัญเพื่อนๆ ควรจะเช็กเครดิตบูโรของตัวเองก่อน หากเคยเป็นผู้ที่ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรและกลับมาเป็นผู้ที่มีประวัติสินเชื่อดีแล้วก็ขอแก้ไขประวัติ รวมถึงหากไม่ทราบสถานะตัวเองในเครดิตบูโรก็ขอตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขได้นะครับ
สุดท้ายผมอยากจะขอยกพระพุทธศาสนสุภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสสั่งสอนเกี่ยวกับการก่อหนี้ไว้ว่า “อิณทานํ ทุกฺขํ โลเก การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก” ผมจึงอยากจะแนะนำเพื่อนๆ ว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรก่อหนี้หรือสร้างหนี้เพิ่ม แต่ถ้าจะก่อหนี้ขอสินเชื่อเพิ่มก็ควรจะเป็นหนี้เฉพาะที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ เพื่อที่จะไม่ได้มีความทุกข์ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้นะครับ
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา