5 แนวทาง นำเงินลงทุนทำธุรกิจ ไปใช้ให้ถูกประเภท
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 แนวทาง นำเงินลงทุนทำธุรกิจ ไปใช้ให้ถูกประเภท

icon-access-time Posted On 04 มิถุนายน 2558
By Krungsri Guru
หลายคนอยากมีธุรกิจส่วนตัว แต่การทำธุรกิจส่วนตัวนั้นเราต่างต้องการเงินลงทุนมาหมุนธุรกิจกันทั้งนั้น ซึ่งเงินทุนดังกล่าวหากเราไม่ได้เป็นคนที่ร่ำรวยมาแต่เก่าก่อน หนทางในการเข้าถึงเงินทุนก็คือการกู้ยืม หรือขอสินเชื่อธุรกิจจากธนาคาร และเมื่อเราได้เงินกู้มาแล้วก็ต้องวางแผนการนำเงินกู้ไปทำให้งอกเงย และใช้ประโยชน์จากเงินลงทุนทำธุรกิจของเราให้มากที่สุดครับ และแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจ SME รุ่งนั้น เมื่อกู้เงินแล้วนำไปใช้ให้ถูกประเภทอย่างไร

แนวทางที่ 1

“การควบคุมหนี้สินต่อทุนสำรองไม่ให้สูงจนเกินไป”

ก่อนที่ผู้ต้องการเงินลงทุนไปทำธุรกิจจะเดินทางไปขอสินเชื่อเราควรวางแผนการขอสินเชื่อไม่ให้เกินกำลังของธุรกิจเราเสียก่อนครับ หนึ่งในการวางแผนเชิงป้องกันก็คือ การควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของเรา หรือที่เรียกในภาษาการเงินว่า D/E Ratio อัตราส่วนนี้อธิบายง่ายๆ ก็คือ การนำเอาหนี้สิน หรือ D มาหารด้วยทุนหรือ E เมื่อนำมาหารแล้วไม่ควรเกิน 1 เท่า ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีทุนการดำเนินงานอยู่ 10 ล้านบาท เราก็ไม่ควรมีหนี้สินเกิน 10 ล้านบาทเช่นกัน โดยหนี้สินนี้ไม่นับรวมลูกหนี้การค้านะครับ

แนวทางที่ 2

“คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนก่อนลงทุนจริง”
ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Return of Investment หรือเรียกสั้นๆ ว่า ROI คือ การคำนวณดูว่าถ้าเราลงทุนไปเท่านี้จะได้เงินคืนกลับมาเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น เราลงทุนในกิจการร้านค้าปลีก 10 ล้านบาท แต่ผลกำไรต่อปีที่ได้รับกลับมาเท่ากับ 1 ล้านบาท หมายความว่าการลงทุนนี้มีผลตอบแทนกลับมาราวๆ 10% ต่อปี แต่การขอสินเชื่อธุรกิจนั้นมีดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี แบบนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะได้ผลตอบแทนกำไรมากกว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปนั่นเองครับ

แนวทางที่ 3

“วางแผนการจ่ายคืนเงินต้น”

ผู้ต้องการเงินลงทุนไปทำธุรกิจรู้ไหมว่า เมื่อเราได้เงินกู้มาแล้ว หากเราชำระคืนแต่ดอกเบี้ยเท่ากับเราไม่ได้ลดภาระเงินต้นที่เราได้ขอสินเชื่อไปเลย ถ้าเราจ่ายแต่ดอกเบี้ยในระยะสั้นอาจจะดี แต่ในระยะยาวแล้วเราจะเหนื่อยครับ เราควรวางแผนชำระคืนเงินต้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เราขอสินเชื่อธุรกิจมา 10 ล้านบาท และต้องชำระรายเดือน 1 หมื่นบาท ผู้ประกอบการควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สินเชื่อเพื่อขอแบ่งชำระคืนเงินต้นเป็นงวดๆ รวมเข้าไปกับค่างวดที่เราต้องจ่ายทุกเดือนด้วย ในระยะยาวหากเราจ่ายค่างวดเป็นเท่าหนึ่งของดอกเบี้ยจะทำให้เงินต้นของเราลดลงเร็วกว่าปกติ 10-20% ต่อปีเลยนะครับ

แนวทางที่ 4

“นำกำไรบางส่วนมาเป็นทุนสำรอง”

เมื่อผู้ต้องการเงินลงทุนไปต่อยอดธุรกิจสามารถดำเนินกิจการของตนเองจนทำกำไรได้แล้ว ทางที่ดีเราอยากจะแนะนำให้ผู้ประกอบการนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระเงินต้น และดอกเบี้ยจ่าย ส่วนที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกไปแล้ว ผู้ประกอบการควรแบ่งมาเก็บไว้เป็นทุนสำรอง โดยการเก็บทุนสำรองนี้ควรมีสภาพคล่องพอสมควร สามารถถอนออกมาได้ ข้อดีของการมีทุนสำรองก็คือ ยามฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็สามารถถอนออกมาได้ทันที หรือหากเราต้องการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น และเรามีทุนสำรองมากขึ้น บางครั้งเราสามารถใช้ทุนสำรองเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้อีกด้วยครับ ทำมาค้าขายมีกำไรแล้ว อย่าลืมแบ่งเงินมาเก็บสำรองเอาไว้บ้างนะครับ

แนวทางที่ 5

“วางแผนการลงทุนต่อเนื่อง (เงินต่อเงิน)”

เมื่อเราวางแผนทุกอย่างครอบคลุมความเสี่ยงทุกประการแล้ว สิ่งที่ผู้ต้องการเงินลงทุนไปทำธุรกิจต้องทำกันต่อเพื่อให้กิจการของตนเองเติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือ การวางแผนการลงทุนใหม่ๆ หรือนำเงินไปต่อเงิน เพราะหากเราทำกิจการดีมีกำไร แต่เราหยุดไว้เพียงแค่นั้น กาลเวลาผ่านไปอาจมีคู่แข่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และบางครั้งอาจจะมีสินค้าทดแทนสินค้าเก่าของเรา ถ้าเราไม่รู้จักพัฒนาต่อเนื่อง สินค้าของเราก็จะล้าสมัย และต้องสูญเสียลูกค้าในที่สุดครับ ทางที่ดีเราควรวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หากเรามีเงินเหลือสำรอง ควรแบ่งเงินทุนบางส่วนมาพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น หรือนำมาขยายกิจการด้านอื่นๆ ที่อยู่ในขอบข่ายความชำนาญของเจ้าของกิจการอย่างเรา เป็นการกระจายความเสี่ยง และไม่หยุดอยู่กับที่ให้คนอื่นแซงหน้าไปง่ายๆ นั่นเองครับ
 
"ถ้าเราไม่รู้จักพัฒนาต่อเนื่อง สินค้าของเราก็จะล้าสมัย และต้องสูญเสียลูกค้าในที่สุด"
หากผู้ต้องการเงินลงทุนไปทำธุรกิจทุกคนสามารถประยุกต์แนวทางทั้ง 5 ประการไปกับธุรกิจของตัวเองได้ เชื่อเหลือเกินครับว่ากิจการของท่านจะเจริญรุ่งเรือง ไม่ตกเทรนด์ง่ายๆ และสามารถนำเงินกู้มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอนที่สุดครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา