วิธีเลือกลงทุนสไตล์นักลงทุนญี่ปุ่น
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิธีเลือกลงทุนสไตล์นักลงทุนญี่ปุ่น

icon-access-time Posted On 23 ธันวาคม 2558
By เกตุวดี Marumura
คนญี่ปุ่นจะมีวิธีเฉพาะในการสังเกตลักษณะคนหรือธุรกิจ พวกเขาจะเลือกมองในจุดเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยสังเกตกัน แต่สามารถสื่อลักษณะคน ๆ นั้นได้ เช่น หากเด็กที่มาสัมภาษณ์งาน กล่าวสวัสดีเสียงค่อย กรรมการสัมภาษณ์ก็พอจะฟันธงได้ว่า เด็กคนนี้ไม่น่ารับเข้าสมัครงาน เพราะขาดความกระตือรือร้น หรือหากห้องน้ำบริษัทไหนไม่สะอาด ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า บริษัทนี้คงบริการไม่ดี ไม่ใส่ใจลูกค้าแน่
ตัวดิฉันเอง พออยู่ญี่ปุ่นนาน ๆ ได้ทักษะนี้ติดตัวมาบ้าง วันหนึ่ง ดิฉันเผอิญแวะทานร้านอาหารตามสั่งธรรมดา ๆ แห่งหนึ่ง คุณป้าอายุประมาณ 60 มารับออเดอร์ ระหว่างรอ ดิฉันมองไปที่คนผัดอาหาร เห็นใช้เนื้อไก่พรีเมียมแบรนด์ดัง พออาหารมา ดิฉันสังเกตว่า ร้านนี้ใช้จานสีดำล้วน มีการจัดวางผักสลับสีอย่างสวยงาม อาหารรสชาติอร่อยมาก แถมมีน้ำแกงเสิร์ฟให้ด้วย ดิฉันรู้สึกว่า ร้านนี้ไม่ธรรมดา จึงลองถามคุณป้าว่า แกทำร้านอาหารเป็นงานอดิเรกเหรอ คุณป้าตอบว่า “ป้าเกษียณแล้ว แต่ก่อนเคยทำงานอยู่สถานทูตไทยในสหรัฐฯ มาก่อน เป็นฝ่ายดูแลผู้ลี้ภัยจากต่างประเทศจ้ะ” ลางสังหรณ์ดิฉันไม่ผิดจริง ๆ (อ่านเคล็ดลับลงทุนให้รวยและประหยัดภาษี ชีวิตดีมากเลย)
 
นักลงทุนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จหลายคนเช่นกัน นอกจากดูผลประกอบการและการวางกลยุทธ์แล้ว พวกเขามีวิธีเลือกลงทุนในบริษัทต่าง ๆ แบบเฉพาะตัวแบบเจาะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
 
1.

ประธานบริษัทเป็นคนฟังคนหรือเปล่า
หากประธานบริษัทนั้นเป็นคนขี้โม้ เอาแต่พูดเรื่องตัวเอง ไม่ค่อยฟังฝ่ายตรงข้ามเท่าไร นั่นแปลว่า เขาคงจะไม่ค่อยฟังความเห็นลูกน้องหรือพนักงานบริษัทเช่นกัน สักวันอาจมีโอกาสสะดุดได้ง่าย เพราะเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป
2.

ห้องประธานบริษัทหรูหราโอ่อ่าเกินไปหรือเปล่า
หากได้ไปเยือนบริษัท และมีโอกาสเข้าไปห้องทำงาน CEO จงสังเกตว่า ห้องนั้นตกแต่งหรูหราเกินพอดีหรือเปล่า เช่น มีภาพวาดจิตรกรชื่อดังประดับเรียงราย มีถุงกอล์ฟหรือถ้วยรางวัลจากการแข่งขันตีกอล์ฟวางโชว์หรา นั่นแปลว่า ประธานฯ อาจเห็นแต่ความสุขตนเอง ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อปรนเปรอความสุขตนเอง แทนที่จะนำไปพัฒนานวัตกรรมหรือการลงทุนในธุรกิจอื่น
3.

บริษัทใส่ใจทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือเปล่า
ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในที่นี้ หมายถึง การมุ่งมั่นตั้งใจสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนหรือสังคม นั่นแปลว่า บริษัทนั้นไม่ได้มุ่งแต่กำไรที่เป็นเม็ดเงิน แต่ยังคำนึงถึงการสร้างคุณค่าเพื่อคนอื่นด้วย หากบริษัทยินดีสร้างคุณค่าให้คนในสังคม ซึ่งอาจไม่ใช่ลูกค้าโดยตรง แสดงว่า หากเป็นกรณีลูกค้าที่ติดต่อซื้อขายกัน บริษัทนั้นต้องยิ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าแน่นอน
4.

พนักงานบริษัทส่วนใหญ่ ภูมิใจที่ได้ทำงานที่บริษัทนั้นหรือไม่
Arai Kazuhiro นักลงทุนญี่ปุ่นคนหนึ่งเปิดเผยว่า เวลาเขาจะเลือกลงทุนที่ไหน เขาจะไปบริษัทนั้น แต่ไม่ได้คุยกับผู้บริหารก่อน เขาจะเลือกคุยและซักถามพนักงานหนุ่มสาว บริษัทที่เขาจะลงทุน ต้องเป็นบริษัทที่พนักงานเด็ก ๆ รักและภูมิใจที่จะทำงานที่นั่น
หากบริษัทสร้างคุณค่าทางสังคม และใส่ใจพนักงาน เช่น จัดระบบสวัสดิการเพื่อพนักงานเป็นอย่างดี คำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงาน หรือมีวัฒนธรรมองค์กรที่คนรักกัน ร่วมมือร่วมใจกัน มุ่งพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่ดีเพื่อสังคม พนักงานก็จะมุ่งมั่นทำงานและสู้เพื่อบริษัท ไม่ว่าเกิดวิกฤติอย่างไร บริษัทเหล่านี้ก็จะอยู่รอดได้ (อ่านศัพท์เทคนิคน่ารู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่)
5.

ในเว็บบริษัท มีรูปประธานบริษัทไหม
บริษัทที่มีรูปประธานอยู่ในเว็บไซต์บริษัท แปลว่า บริษัทนั้น ประธานฯ มีความรับผิดชอบ กล้าสื่อสารกับคนภายนอก ในทางกลับกัน บริษัทที่ไม่มีภาพประธานฯ อาจแสดงว่า บริษัทนั้นไม่ใส่ใจในการสื่อสารกับลูกค้าหรือนักลงทุน
ด้วยจุดสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่รู้ดีว่า บริษัทที่น่าลงทุน คือ บริษัทที่ทำกำไรสูงและเติบโตได้อย่างมั่นคง สิ่งที่เป็นพื้นฐานของความสำเร็จเหล่านี้ ได้แก่ แนวคิดประธานบริษัทและผู้บริหาร พนักงานทุกคน วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่อ่านจากงบลงทุนแทบไม่ได้
 
หลักการสังเกตทั้ง 5 ประการข้างต้นนี้ จึงช่วยให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้ข้อมูลอันมีค่ามาใช้ในการพิจารณาการลงทุนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หลักการเหล่านี้ใช้กับเมืองไทยได้เช่นกัน นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และโปรไฟล์บริษัทแล้วลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปสังเกตบริษัทที่ท่านลงทุนอยู่ได้นะคะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา