เลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณ
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณ

icon-access-time Posted On 01 กันยายน 2566
By Krungsri The COACH
หากพูดตามหลักสามเหลี่ยมการเงิน หรือ Financial Pyramid ที่นักวางแผนการเงินนิยมนำมาใช้ “ประกัน” ถูกจัดอยู่ในกลุ่มการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งเป็นฐานรากของสามเหลี่ยมที่สำคัญที่สุด ด้วยเหตุนี้ การเลือกประกันชีวิตให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรจัดการเป็นสิ่งแรก ๆ ในการวางแผนการเงิน
เพราะชีวิตคนเรามีความเสี่ยงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันตอนไหน ไม่ว่าจะเป็น การจากไปของคนในครอบครัว การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ และในการเกิดเหตุแต่ละครั้ง คุณจะไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไร อาจจะต้องจ่ายเยอะจนกระทบกับเงินก้อนอื่นในกระเป๋าก็ได้ ดังนั้น การจัดการความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ การโอนความเสี่ยงของชีวิตให้บริษัทประกันช่วยรับผิดชอบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่คุณควรเลือกประกันชีวิตกับประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวเอง

ประโยชน์อีกอย่างของการลงทุนกับประกันชีวิตที่คนไม่ค่อยรู้ คือความสามารถที่จะส่งต่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้แบบไม่เสียภาษี เพราะประกันชีวิตคือการนำเงินสดก้อนนึงส่งมอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามสัดส่วนที่ผู้เอาประกันภัยระบุไว้เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญา ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันที่มีไว้ให้คนข้างหลัง

เมื่อได้รู้ถึงความสำคัญของประกันแล้ว งั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของประกันชีวิตกัน จะได้เลือกแผนประกันที่เหมาะสมกับตัวเองได้

ประกันชีวิตมีกี่แบบ แต่ละแบบเหมาะกับใคร?

หากไม่รู้จะเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ให้เริ่มทำความเข้าใจกับประเภทประกันตามหลักการแบ่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เสียก่อน โดยปกติจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ แบบประกันชีวิตพื้นฐาน และแบบประกันชีวิตพิเศษ ให้คุณสามารถเลือกประกันแบบที่เหมาะสมกับตัวเองได้ดังนี้
ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน มีกี่แบบ เลือกอย่างไร

ประกันชีวิตพื้นฐาน มี 4 แบบ คือ

1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ Term Insurance
สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าจะเลือกประกันชีวิตอะไรดีที่สุด ประกันแบบชั่วระยะเวลาอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาจำกัด เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แผนประกันแบบนี้อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับคนที่รอรับเงินทุนประกันชีวิต เนื่องจากบริษัทประกันฯ จะทำการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด แต่ถ้าอยู่จนครบระยะเวลาก็จะไม่ได้รับเงินทุนคืน

เหมาะสำหรับใคร?
  • คนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง
  • คนที่มีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันชีวิตในราคาต่ำ แต่ต้องการความคุ้มครองสูง
  • คนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้น ๆ

2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole Life
ประกันชีวิตตลอดชีพเป็นแผนที่เน้นความคุ้มครองชีวิตแบบระยะยาว เช่น ให้ความคุ้มครองจนอายุถึง 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี โดยเราจ่ายเบี้ยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี จ่ายเบี้ย 20 ปีแรก เป็นต้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนประกันชีวิตที่ให้ความมั่นคง เพราะแผนประกันนี้จะตอบแทนทุนประกันให้ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกันถ้าเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับทุนประกันแทน

เหมาะสำหรับใคร?
  • คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน ไว้เป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง
  • คนที่ต้องการทำเป็นมรดกส่งต่อให้แก่ลูกหลาน

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ Endowment
เป็นแผนการลงทุนประกันชีวิต สำหรับคนที่ต้องการเน้นออมเงินเพื่อไว้ใช้ในอนาคต ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ตอบโจทย์สำหรับคนที่ต้องการเก็บออมพร้อมสร้างผลตอบแทนจากประกัน เพราะคุณจะได้เงินคืนพร้อมกับอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าเบี้ยจริงที่จ่าย ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จะแน่นอนตามที่บริษัทตกลงไว้ในสัญญา นอกจากนี้ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่นอีกด้วย

เหมาะสำหรับใคร?
  • คนที่ต้องการลงทุน แต่รับความเสี่ยงได้น้อย
  • คนที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต
  • คนที่ต้องการความคุ้มครองควบคู่กับการออมเงิน

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Annuity
ประกันชีวิตที่บริษัทประกันฯ จะจ่ายเงินให้แก่คุณเมื่อเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป หากว่าคุณเลือกประกันชีวิตแบบนี้ก็จะต้องจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุที่กำหนด แล้วหลังจากนั้นก็จะได้รับเงินไปเรื่อย ๆ จนครบตามระยะอายุที่เลือกไว้ ถึงแม้ผลตอบแทนจะได้ไม่สูงเท่าประกันแบบสะสมทรัพย์ แต่จะได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนกับประกันชีวิตแบบอื่น เช่น ถ้าคุณเสียชีวิตในช่วงก่อนเกษียณ ผู้รับประโยชน์ก็จะได้รับเงินตามทุนประกันที่เลือกไว้ แต่ถ้าคุณเสียชีวิตหลังเกษียณก็จะได้ทั้งเงินบำนาญ และผลประโยชน์ตามทุนประกันชีวิต

เหมาะสำหรับใคร?
  • คนที่ต้องการวางแผนเกษียณ
  • คนที่อยากมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณ

ที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะเลือกประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีพ หรือแบบสะสมทรัพย์ ก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้ และต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท
ประกันชีวิตแบบพิเศษ มีกี่แบบเลือกอย่างไร

ประกันชีวิตพิเศษ มี 2 แบบ คือ

1. ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Investment Linked Life Insurance
ประกันชีวิตควบการลงทุน คือประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตเหมือนแบบประกันทั่วไป แต่พิเศษตรงที่ได้ผลตอบแทนจากการเลือกลงทุนเองด้วย โดยเบี้ยประกันชีวิตจะแบ่งจ่ายเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนความคุ้มครองชีวิต ส่วนค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และส่วนเงินลงทุน ที่สามารถกำหนดสัดส่วนของเบี้ยกับความคุ้มครองเองได้ และสามารถปรับสัดส่วนได้ตลอดเวลา โดยในปัจจุบันมีประกันชีวิตควบการลงทุน 2 แบบ คือ ประกันชีวิตแบบ Unit Linked และประกันชีวิตแบบ Universal Life
  • จุดเด่นของการเลือกประกันชีวิตควบการลงทุนแบบ Unit Linked คือ แผนประกันที่ให้คุณสามารถเลือกกองทุนได้เองภายใต้กองทุนที่บริษัทกำหนด ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่น แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงจากการขาดทุนของกองทุนที่เลือกเอง
  • จุดเด่นของการเลือกประกันชีวิตควบการลงทุนแบบ Universal Life คือ ได้ความแน่นอนของผลตอบแทน พร้อมการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้บริหารการลงทุนให้ แต่ในปัจจุบันเรามักจะเห็นประกันชีวิตนี้น้อยลง เพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าประกันชีวิตแบบ Unit Linked

แม้ประกัน 2 แบบนี้เป็นประกันควบการลงทุนเหมือนกัน แต่การใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจะแตกต่างกัน เพราะแบบ Unit Linked จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในส่วนของเบี้ยที่เกี่ยวกับประกันชีวิตเท่านั้น (ไม่รวมส่วนเงินลงทุน) ไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าเลือกประกันชีวิตแบบ Universal Life สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เหมาะสำหรับใคร?
  • คนที่เข้าใจในด้านการลงทุน สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
  • คนที่มีเป้าหมายทำประกันเพื่อเน้นการออมเงิน แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่น

2. ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ
สำหรับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี (ตัวเลขอายุอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามแบบประกันของแต่ละบริษัท) สามารถเลือกประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุได้ โดยจะคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้ ยังเป็นประกันที่เราไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

หากว่าเราเลือกประกันแบบผู้สูงอายุก็นำมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน โดยมีเงื่อนไขว่าเราจะต้องเลือกประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เหมาะสำหรับใคร?
  • ผู้สูงอายุที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตและอยากสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลาน แต่มีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตแบบทั่วไปได้
  • ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว แต่อยากทำประกันชีวิต

มนุษย์เงินเดือนกับการเลือกประกันชีวิต ควรจ่ายรายเดือนเท่าไหร่

การคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับประกันชีวิตในพื้นฐานค่าใช้จ่ายและรายได้ของมนุษย์เงินเดือน สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ โดยยึดตัวเลข 10-15% ของเงินเดือนทั้งปี เพื่อมาคำนวณให้เหมาะสมและไม่เป็นภาระทางการเงินจนมากเกินไป เช่น เงินเดือน 30,000 บาท คิดเป็นปีละ 360,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตที่ควรจ่าย จะต้องอยู่ราคาไม่เกิน 36,000-54,000 บาท เป็นต้น

หลังจากที่เราพอทราบกันไปแล้วว่าประกันชีวิตมีกี่แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะทำประกันชีวิตของอะไรดีที่สุด ที่เหมาะกับตัวเอง เราอาจจะลองใช้ช่วงวัย หรือการใช้ชีวิตประจำวันมาเป็นปัจจัยในการเลือกประกันชีวิต
เลือกประกันชีวิตให้เหมาะกับช่วงวัย
ยกตัวอย่างเช่น
  • วัยเด็กถึงวัยเรียน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันควบการลงทุน เพื่อเก็บออมเงินไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูก หรืออาจจะเป็นต้นทุนไว้ให้ทำธุรกิจ นอกจากนี้ วัยเด็กยังเป็นวัยที่ซุกซนและสุขภาพยังไม่แข็งแรงเท่าวัยผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพิจารณาซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพควบคู่ให้แก่ลูกก็ได้เช่นกัน
  • วัยทำงาน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันควบการลงทุน เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่ยังไม่มีภาระติดตัวมากนัก ก็อาจจะเริ่มจากเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต หรือสำหรับคนที่กำลังวางแผนเกษียณ ประกันบำนาญก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
  • หัวหน้าครอบครัว ควรจะเลือกประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว หากเกิดเหตุจากไปก่อนวัยอันควร คนข้างหลังก็ได้เงินจากหลักประกันที่ทำไว้ โดยทุนประกันชีวิตที่ทำอาจจะให้ครอบคลุมถึงภาระค่าใช้จ่ายหลักที่หัวหน้าครอบครัวเป็นคนรับผิดชอบ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เป็นต้น
สำหรับคนที่สนใจซื้อประกัน แต่ไม่รู้จะเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ทางธนาคารกรุงศรีมีประกันหลายแบบให้เลือกซื้อ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของแบบประกัน ได้ที่ https://www.krungsri.com สามารถติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินธนาคารกรุงศรี ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ คลิก
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา