กลางปีแล้วสำรวจการใช้จ่ายเงินของเราอย่างไรดี
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กลางปีแล้วสำรวจการใช้จ่ายเงินของเราอย่างไรดี

icon-access-time Posted On 22 มิถุนายน 2559
By อภินิหารเงินออม
เวลามันก็เดินไปเรื่อย ๆ เหมือนเดิม แต่เรากลับรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วจัง นี่ก็เข้าสู่ช่วงกลางปีแล้ว ความรู้สึกเหมือนพึ่งผ่านช่วงต้นปีมาได้ไม่นาน หลายคนอาจจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตอนนี้ชีวิตเรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะเงินในกระเป๋าของเรามันยังอยู่สบายดีหรือไม่ นับว่าช่วงกลางปีเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะใช้เวลานั่งคิดทบทวนเงินในกระเป๋าของตัวเองกันนะคะ
 

3 ขั้นตอนสำรวจเงินในกระเป๋า 


ขั้นตอนที่ 1 รู้อนาคต

การตั้งเป้าหมายให้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นภายในสัปดาห์หรือระยะยาวอีกหลายสิบปีข้างหน้า จะทำให้รู้ว่า เราควรเดินไปในทิศทางไหน และรู้ว่า ขณะนี้ควรทำอะไรเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายนั้น แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอย่างไร ลองเริ่มง่าย ๆ ด้วยคำว่า “อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่” ในระยะสั้นก่อน หากทำสำเร็จ ก็จะเป็นกำลังใจที่จะก้าวขึ้นไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นต่อไปได้
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายระยะสั้น “ปีนี้เราจะมีเงินออมให้ได้ 50,000 บาท” เมื่อเรารู้เป้าหมายแล้ว วิธีการก็จะตามมาเอง ซึ่งการเก็บเงินในระยะสั้นนั้นเราอาจจะเลือกเป็นรูปแบบฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อไม่ให้เงินของเรามีความเสี่ยง เช่น
  • ออมเงินก้อน เมื่อโบนัสออกแล้ว ตัดไปออมทันที 50,000 บาท
  • ทยอยออมรายสัปดาห์ มี 52 สัปดาห์ เราจะออมสัปดาห์ละ 962 บาท
  • ทยอยออมรายวัน หากมี 365 วัน เราจะออมวันละ 137 บาท
เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว เราก็ต้องมานั่งทบทวนว่า ตอนนี้ยังเหมือนเดิมอยู่ไหม มีเพิ่มหรือลดลงอย่างไรบ้าง ซึ่งการทบทวนแผนทุก 6 เดือนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

ขั้นตอนที่ 2 รู้ปัจจุบันและหาแนวทางแก้ไข

เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายที่เป็นภาพใหญ่ในอนาคตของเราคืออะไร ต่อมาก็ดูภาพที่เล็กลงจากเรื่องจริงว่า ตอนนี้เรายืนอยู่ใกล้หรือห่างไกลจากเป้าหมาย โดยเก็บข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “บัญชีรายรับรายจ่าย” ที่เราจดไว้ตั้งแต่ต้นปี เพราะจะทำให้เรารู้ว่า...
  • การแบ่งสัดส่วนเงิน
เราจะเห็นภาพรวมของรายรับ เงินออมและรายจ่ายว่ามีอะไรบ้าง มีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่ จะทำให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้เงินได้ชัดเจนขึ้น เช่น หากทุกวันนี้ใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน ก็จะทำให้เรารู้จากบัญชีรายรับรายจ่ายว่าเงินของเราใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด แล้วจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินต่อไป
  • การลงทุน
เมื่อเรานำเงินออมไปต่อยอดด้วยการลงทุน ควรมานั่งทบทวนว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในปัจจุบันนั้นเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ สมมติว่า เราซื้อกองทุนรวมมาหลายปี พอมาเปรียบเทียบ กับกองทุนรวมอื่น ๆ ที่มีนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน แต่ของเรากลับได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ก็อาจจะต้องมานั่งทบทวนแล้วว่าควรสับเปลี่ยนหรือโยกเงินลงทุนหรือไม่ เพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
  • ตั้งเพดานหนี้สิน
“เราจะสร้างหนี้เท่าไหร่ก็ได้ แต่เราต้องควบคุมหนี้ให้ได้” ควรทดลองเป็นหนี้ปลอมก่อนสร้างหนี้จริง เพื่อหาสัดส่วนหนี้ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ด้วยการทดลองออมเงินรายเดือน เพื่อทดสอบว่า เราสามารถปรับกิจวัตรประจำวันให้เข้ากับเงินที่ลดลงได้หรือไม่ หากมั่นใจแล้วก็เริ่มผ่อนจริงได้เลย เช่น หลังจากทดลองเป็นหนี้ปลอม เรารู้สึกมั่นใจและผ่อนสบาย ๆ ที่หนี้สิน 30% ของรายได้ ถ้าเราต้องการผ่อนสินค้า A ก็ต้องมานั่งดูว่า เงินที่กำลังจะผ่อนต่อเดือนนี้ชนเพดานหนี้ที่ 30% แล้วรึยัง หากเกินแล้วก็อาจจะเลื่อนเวลาการผ่อนของนั้นออกไป

ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำทันที

ขั้นตอนที่ 1 และ 2 ก็ว่ายากแล้ว ขั้นตอนที่ 3 นี้ยากที่สุด เพราะหลายคนรู้อยู่เต็มอกว่าควรทำอย่างไร แต่ก็ประวิงเวลาการลงมือทำด้วยคำว่า “เดี๋ยว” เมื่อปล่อยให้เกิดปัญหาที่ 1 แล้วไม่แก้ไขจนกระทั่งเกิด ปัญหาที่ 2,3,4,... ตามมาเรื่อย ๆ ทำให้แก้ไขยากขึ้น หากไม่อยากให้มีเหตุการณ์ดินพอกหางหมูเกิดขึ้น ทางเดียวที่จะจบปัญหาลงได้ คือ การลงมือทำตามแนวทางการแก้ไขทันทีนะคะ
การทบทวนแผนการเงินทุกครึ่งปีนั้นจะทำให้รู้ว่า ตอนนี้เรากำลังยืนอยู่ ณ จุดไหนของแผน รู้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า เรามีรายรับ เงินออมและรายจ่ายเป็นอย่างไร หากมีอะไรผิดปกติไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ช้าลง ก็จะได้ใช้โอกาสนี้มานั่งปรับปรุงแผนให้เดินไปในทิศทางที่เราต้องการได้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา